การทำธุรกิจยุคแพลตฟอร์ม (ตอนที่ 3)

การทำธุรกิจยุคแพลตฟอร์ม (ตอนที่ 3)

25 มีนาคม 2564บทความ16,049

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • การทำธุรกิจยุคแพลตฟอร์ม (ตอนที่ 3) : การออกแบบ Platform business  ต้องมีโครงสร้างหลักอะไรบ้างที่มาช่วยสร้าง core transaction ให้เกิดขึ้น และเครื่องมือหรือ Functions หลักอะไรที่จะนำมาใช้ดึงดูดและรักษาให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างต่อเนื่องบนแพลตฟอร์ม รวมถึงตัวอย่างรูปแบบของ Platform Business ทั้ง 9 รูปแบบ เรียนรู้ร่วมกันได้จากบทความนื้



เวลาในการอ่าน 3 นาที









บทความชุด “การทำธุรกิจยุคแพลตฟอร์ม”



ตอนที 1 : ความหมายความสำคัญของ “แพลตฟอร์ม” ซึ่งมีบทบาทอย่างมากกับธุรกิจในปัจจุบัน



ตอนที่ 2 : แพลตฟอร์มของธุรกิจยุคใหม่ที่เป็น Digital Platform นั้น มีส่วนประกอบสำคัญอะไรบ้าง และสามารถแบ่งได้เป็นกี่ประเภท รวมถึงความแตกต่างระหว่าง Platform Business และ Traditional Business เป็นอย่างไร



ตอนที่ 3 : เจาะลึกเกี่ยวกับโครงสร้างและรูปแบบของ Platform Business



ตอนที่ 4 : Platform Business Model กับ Case Study ของ Microsoft ด้วยวิธีคิดแบบ “Platform Thinking”



ตอนที่ 5 : รู้จักกับผู้มีส่วนได้เสียในแพลตฟอร์ม และการสร้าง Network Effects



ตอนที่ 6 : วิธีการสร้าง Business Platform ให้ประสบความสำเร็จ



ในตอนนี้จะพามาเจาะลึกเกี่ยวกับโครงสร้างและรูปแบบของ Platform business



1. โครงสร้างของ Platform business



Platform business ที่ดีและช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจได้ จะต้องสามารถอำนวยความสะดวกให้เกิดธุรกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่หยุดและไม่สะดุด ขณะที่ธุรกิจแบบดั้งเดิมจะเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการป้อนเข้าสู่ Platform business เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มบนเครือข่ายของแพลตฟอร์มซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้เกิดธุรกรรม แต่ไม่ได้ผลิตสินค้าและบริการเอง



บนแพลตฟอร์มจึงต้องมีธุรกรรมหลัก (core transaction)  ในมิตินี้แพลตฟอร์มจึงเหมือนโรงงานที่ทำหน้าที่ผลิต core transaction  การออกแบบสร้าง Platform business  จึงต้องทำให้เห็นว่ามีเทคโนโลยีและวิธีการอะไรที่ช่วยสร้าง core transaction ให้เกิดขึ้น และสามารถเชื่อมโยง core transaction  ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคผ่าน Platform business ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี 4 ขั้นตอน ได้แก่



1) การสร้าง (Create) ข้อมูลของสินค้าและบริการซึ่งต้นทางจะมาจากผู้ผลิตที่นำมาวางไว้บนแพลตฟอร์ม



2) การเชื่อมโยง (Connect) ข้อมูลของผู้บริโภคและข้อมูลของสินค้าบริการที่วางอยู่บนแพลตฟอร์ม เพื่อทำเกิดการ matching



3) การบริโภค (Consume) หากผู้บริโภคสามารถจับคู่กับสินค้าและบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของตนเอง ก็จะเกิดธุรกรรมการซื้อขายระหว่างกัน



4) การชำระเงินและบริการหลังการขาย (Compensate) จะเกิดขึ้นตามมา หลังจากการตัดสินใจบริโภค ทำให้เกิดยอดขาย การส่งมอบสินค้า และ feedback ต่างๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สำคัญสำหรับแพลตฟอร์มในการนำไปวิเคราะห์และหาวิธีกระตุ้นให้เกิดกระบวนการ 4 ขั้นตอนดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การขยายขนาดของธุรกรรมบนแพลตฟอร์มต่อไป ดังรูปที่ 1  ที่อธิบายไว้ตามด้านล่างนี้



รูปที่ 1 : การเกิด core transaction 4 ขั้นตอน





ที่มา www.applicoinc.com


อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วยากที่จะควบคุมให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคใช้บริการ core transaction บนแพลตฟอร์มของเราตลอดไป เพราะอาจมีคู่แข่งที่พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ที่ดีกว่าเดิม ดังนั้นการรักษาหรือดึงดูดให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคยังคงใช้บริการบนแพลตฟอร์มของเรา จำเป็นจะต้องสร้างเครื่องมือหลักหรือฟังก์ชั่น (functions) ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีอย่างมาก ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 เครื่องมือ ได้แก่



1) การทำให้คนเห็นแพลตฟอร์ม (Audience building) เพื่อให้สินค้าและบริการของผู้ผลิตมาพบกับผู้บริโภค



2) การสร้างเครื่องมือที่จับคู่ได้ (Matchmaking) ถือเป็นฟังก์ชันที่สำคัญอย่างยิ่งบนแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดธุรกรรมและการซื้อขายระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค



3) การสร้างเครื่องมือและบริการอื่นๆ (Providing core tools and services) เช่น การจัดส่ง การชำระเงิน และบริการหลังการขาย เป็นต้น



4) การกำหนดกติกาและกฎระเบียบ (Setting rules and standards) การใช้แพลตฟอร์มจำเป็นต้องออกมาตรฐานเกี่ยวกับวิธีดำเนินงาน เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ จะได้ไม่เกิดความสับสนและเป็นระเบียบเรียบร้อย เช่น วิธีการสมัครสมาชิก การให้ข้อมูล การตกลงซื้อขาย การลดราคา การชำระเงิน การคืนสินค้า เป็นต้น โดยเครื่องมือหลักบนแพลตฟอร์มสามารถอธิบายได้ตามรูปที่ 2 ดังต่อไปนี้



รูปที่ 2 : The Four Functions of The Platform Business Model





ที่มา www.applicoinc.com


2. รูปแบบของ Platform business 



โดยสรุป แล้วรูปแบบของ Platform business อาจแบ่งออกได้เป็น 9 รูปแบบ ได้แก่




  1. ตลาดบริการ (Service marketplace) : บริการ


  2. ตลาดสินค้า (Product marketplace) : สินค้า


  3. แพลตฟอร์มชำระราคา (Payment platform) : P2P, B2C


  4. แพลตฟอร์มการลงทุน (Investment platform) :  ตลาดหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ


  5. เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social networks) : เครือข่ายการทำกิจกรรมทางสังคม


  6. แพลตฟอร์มการสื่อสาร (Communication platform) :  เครือข่ายการส่งผ่านข้อมูล


  7. แพลตฟอร์มการพัฒนาต่างๆ (Development platform) : Open Development Platform, Closed Development Platform, Controlled Development Platform


  8. แพลตฟอร์มการพัฒนาเนื้อหา (Content platform) :  Social Content Platform,  Media Content Platform


  9. แพลตฟอร์มด้านเกม (Social gaming platform) : การพัฒนาเกมเพื่อกลุ่มสมาชิก



โดยสามารถอธิบายได้ตามรูปที่ 3 ดังต่อไปนี้



รูปที่ 3 : The Different Types of Platforms





ที่มา www.applicoinc.com


 




เขียนโดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®    



รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ