ธุรกิจครอบครัว: ดีต่อธุรกิจ ดีต่อโลก ตอนที่ 1

ธุรกิจครอบครัว: ดีต่อธุรกิจ ดีต่อโลก ตอนที่ 1

โดย ศศิธร พงศ์อดิศักดิ์

21 พฤษภาคม 2566
335 Views

Highlight


  • ความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับธุรกิจครอบครัว อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ ความยากจน และความไม่แน่นอนในหลายส่วนของโลกมีความสำคัญมากขึ้น บรรดาผู้นำของโลกต่างหันมาให้ความสนใจกับเป้าหมาย “คน โลก และกำไร” เพื่อสร้างคุณค่าให้กับสิ่งแวดล้อม สร้างงาน มีส่วนร่วมในความเจริญรุ่งเรืองของชุมชน และส่งมอบคุณค่าระยะยาวให้กับครอบครัวและธุรกิจ

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นประเด็นสำคัญที่เจ้าของธุรกิจครอบครัวต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และอาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับบางครอบครัว ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและวางกลยุทธ์ร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว ซึ่งมีมุมมองหลายๆ ด้านที่สมาชิกในครอบครัวต้องร่วมกันพิจารณา ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอแบ่งบทความ ธุรกิจครอบครัว: ดีต่อธุรกิจ ดีต่อโลก เป็นสองตอนด้วยกัน ในตอนแรกเราจะพิจารณาถึงความจำเป็นและการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ในขณะที่ตอนที่สอง เราจะกล่าวถึงกลยุทธ์ของธุรกิจครอบครัวและความรับผิดชอบต่อสังคม


เมื่อสมาชิกในครอบครัวพิจารณาถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ผู้เขียนเห็นว่าการมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพทางการเงินของครอบครัวเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป การดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบของเจ้าของธุรกิจครอบครัวยังต้องรวมถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของบริษัทด้วย มุมมองของเจ้าของธุรกิจครอบครัวจึงควรพิจารณาให้ครอบคลุมมุมมองดังต่อไปนี้


การบรรลุความคล่องตัวเชิงกลยุทธ์


การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว การไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในยุโรปตะวันออก ตอกย้ำความจำเป็นในเรื่องความคล่องตัวและความสามารถในการตอบสนองที่รวดเร็ว ซึ่งควรนำมาพิจารณาในการพัฒนากลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจครอบครัว


การวัดสิ่งที่สำคัญ


จากที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า การมุ่งความสนใจไปที่ผลประกอบการหรือตัวเลขทางการเงินเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป เนื่องจากความสนใจของสาธารณชนที่มีต่อความใส่ใจในผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และพนักงานของบริษัทเอง เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ นักลงทุนและสถาบันทางการเงินหลายแห่งยังใช้ผลการประเมินระดับความเสี่ยงด้าน Environmental, Social, and Governance หรือ ESG ของบริษัท เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจอีกด้วย


ความจำเป็นต่อการเติบโตทางธุรกิจแนวใหม่

ปัจจุบันพบว่าธุรกิจครอบครัวจำนวนมากขึ้นได้ดำเนินการที่เกี่ยวกับการจัดการในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นตัวช่วยพื้นฐานในการรับรองทางธุรกิจหรือองค์กรนั้นได้ เช่น องค์กรธุรกิจครอบครัวนั้นอาจได้รับการคัดเลือกจากการประกวดราคา


โครงการมากขึ้น เป็นต้น สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำในการดำเนินงานและความก้าวหน้าของการจัดการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรนั้นๆ


จากการทำความดีสู่การสร้างคุณค่า

สำหรับเจ้าของธุรกิจบางคนหรือบางครอบครัวนั้น ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสิ่งที่เรียกว่า “รู้สึกดี” โดยไม่ได้ใช้ความพยายามหรือการวางแผนมากนัก แต่ในปัจจุบันแนวโน้มการตอบรับในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมมีทิศทางเชิงบวกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับทุกครอบครัวที่จะเริ่มใส่ใจ ตั้งใจและวางกลยุทธ์เชิงรุกที่เหมาะสมในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม


ร่วมกันย่อมดีกว่า: ความสามารถในการทำกำไรด้วยความรับผิดชอบ (Better together: Profitability with responsibility)


คำว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร” ในสมัยก่อนนั้น กำลังถูกแทนที่ด้วยกรอบความคิดเชิงกลยุทธ์ที่กว้างขึ้น ธุรกิจครอบครัวที่มีเป้าหมายและคุณค่าของครอบครัวที่ให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบต่อสังคมฝังอยู่ในพื้นฐานการดำเนินธุรกิจ จะมีโอกาสสร้างประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ให้กับชุมชน ซึ่งเป็นแนวโน้มของผู้นำระดับโลกยุคใหม่ในการดำเนินธุรกิจที่ดีต่อธุรกิจขององค์กรครอบครัวและของโลก


จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กรทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทำให้เกิดปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในวงกว้าง หากผู้นำครอบครัวใดยังไม่ได้เริ่มที่จะวางแผนเพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นในการกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบต่อสังคมไปพร้อมกัน ซึ่งมีผลต่อทิศทางการเติบโตทางธุรกิจในปัจจุบันนี้


ติดตามบทความในตอนที่สอง จะช่วยให้ท่านผู้นำธุรกิจครอบครัวที่กำลังมองหาวิธีใหม่ๆ ได้เห็นแนวคิดและการวางแผนในเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาวาระทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัท อย่างไรก็ตาม ไม่มีกลยุทธ์หรือวิธีการใดที่เหมาะสมกับทุกธุรกิจครอบครัว แต่ละครอบครัวต้องพิจารณาเลือกใช้กลยุทธ์หรือวิธีการที่เหมาะกับธุรกิจครอบครัวของตน ซึ่งอาจจำเป็นต้องผสมผสานหลายกลยุทธ์หรือหลายวิธีเข้าด้วยกันก็เป็นได้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง