การวางแผนการเปลี่ยนผ่านเพื่อสืบทอดธุรกิจครอบครัว

การวางแผนการเปลี่ยนผ่านเพื่อสืบทอดธุรกิจครอบครัว

โดย ห้องเรียนผู้ประกอบการ

16 ตุลาคม 2566
869 Views

Highlight


  • การสืบทอดกิจการนั้น เป็นงานในระยะยาวที่ต้องผ่านการวางแผนอย่างเป็นระบบ ทั้งในส่วนของครอบครัวและธุรกิจ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น และเข้มแข็งพอที่จะเป็นแรงส่งให้มีการเติบโตในรุ่นต่อๆไป

จากบทความตอนที่ 1 ธุรกิจครอบครัวท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง ได้สรุปภาพการปรับตัวของธุรกิจครอบครัวเพื่อให้อยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น  ในตอนนี้จะกล่าวถึงการวางแผนการเปลี่ยนผ่านเพื่อสืบทอดธุรกิจครอบครัว

 

โจทย์ท้าท้ายของธุรกิจครอบครัวทั่วโลก คงหนีไม่พ้นเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่รุ่นที่ 3 ที่มีอัตราการความสำเร็จไม่เกิน 10% ธุรกิจครอบครัวในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ไม่ว่ายุโรป อเมริกา และเอเชีย ล้วนเจอปัญหาเดียวกัน  คือการไม่สามารถส่งผ่านธุรกิจไปยังรุ่นที่ 3  โดยรุ่นที่ 1 จะเป็นการสร้างธุรกิจ รุ่นที่ 2 เป็นการต่อยอดธุรกิจ และเมื่อถึงส่งต่อไปยังรุ่นที่ 3 มักจะเกิดปัญหาขึ้น จึงเกิดคำถามสำคัญกับธุรกิจครอบครัวว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่นได้

 

Professor Morten Bennedson Professor at the University of Copenhagen and Visiting Professor at INSEAD ได้ให้มุมมองผ่านหัวข้อ “Ownership and The Key to Longevity” โดยสรุปว่า

 

ธุรกิจครอบครัวก่อตั้งขึ้นด้วยที่มาแตกต่างกัน แต่ละครอบครัวล้วนมีเรื่องราวและเส้นทางของตนเองเฉพาะตัว รูปแบบการสร้างธุรกิจของประเทศทางฝั่งตะวันตกจะยินยอมให้มีมืออาชีพเข้ามาบริหารมากกว่าประเทศฝั่งตะวันออก ที่ส่วนใหญ่แล้วคนในครอบครัวยังมีความเป็นเจ้าของมากกว่า โดยธุรกิจที่มีอายุยืนยาวเกินกว่า 100 ปี ทุกธุรกิจมีการวางแผนระยะยาว รองรับความเปลี่ยนแปลง ทั้งการวางระบบการสืบทอดทายาท และพร้อมยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนธุรกิจตามสภาพสังคม ไม่ว่าจะเผชิญกับภัยความเปลี่ยนแปลงภายนอกมากระทบทำให้โลกเปลี่ยน แต่ก็ยังอยู่รอดได้ทุกช่วงเวลา ทั้งสงคราม และเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นต้น

 

สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวมีอายุยืนยาว มี 6 องค์ประกอบ ได้แก่

 

1. ธรรมนูญครอบครัวช่วยลดความขัดแย้ง (Family Governance that minimize conflicts) มีการวางโครงสร้าง รวมถึงกระบวนการ เป้าหมายเพื่อหลอมรวมสมาชิกในครอบครัวให้มีความรักความสามัคคี และมีส่วนร่วมในการสืบทอดธุรกิจ

 

2.  มีการวางกลยุทธ์ธุรกิจแบบยืดหยุ่น (Agile Business Structure) วางแผนในธุรกิจระยะยาวรองรับความเสี่ยงที่จะกระทบต่อธุรกิจ พร้อมปรับรูปแบบโมเดลธุรกิจให้หลากหลาย ไม่ยึดติด มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ

 

3.  โครงสร้างความเป็นเจ้าของธุรกิจ (Finding the right Ownership) มีการวางโครงสร้างธุรกิจที่มีการรักษาทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ก่อตั้ง มีการวางแผนและมีกฎหมายกำกับดูแลชัดเจนเพื่อป้องกันความขัดแย้งภายในครอบครัว

 

4.  มีการวางแผนการเปลี่ยนผ่านสืบทอดกิจการ (Transition) วางโครงสร้าง กระบวนการ เตรียมพร้อมส่งมอบมรดกทางความคิด และการบริหารที่ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมส่งต่อไปยังเจเนเรชั่นถัดไป

 

5.  รูปแบบความเป็นผู้นำและธรรมาภิบาลที่ถูกต้อง (Finding the right leadership and governance model) ผู้นำองค์กรจะต้องมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์เฉพาะตัว

 

6.  นวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ (Innovation and entrepreneurship: Seek new business opportunities) พร้อมการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ มีการสร้างนวัตกรรม และจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ ที่พร้อมเป็นผู้นำในการสร้างคุณค่าให้กับสังคม ซึ่งในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี อาทิ ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ยุคดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนโลก หากธุรกิจครอบครัว สามารถเป็นผู้ส่งมอบนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับผู้คน ธุรกิจก็ยังจะรักษาความแข็งแกร่งไว้ได้ต่อไป

 

สำหรับธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยนั้น ได้มีการแชร์มุมมองของการสืบทอดกิจการที่ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผ่านการเสวนาหัวข้อ The Leapfrog Models of Family Business โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ

  • คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี       กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
  • คุณวสิษฐ  แต้ไพสิฐพงษ์     ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จํากัด (มหาชน)
  • ดร. วิทย์  สิทธิเวคิน          พิธีกร และผู้ประกาศข่าว

 

การเสวนาในหัวข้อดังกล่าว สรุปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาของการทำธุรกิจอยู่แล้ว สำคัญที่องค์กรต้องสร้างแกนหรือฐานให้เข้มแข็ง มีจรรยาบรรณ รักษาคุณภาพและมาตรฐานการประกอบธุรกิจให้ดี การจะไปอยู่ในจุดใหม่นั้นจำเป็นต้องสร้าง Capabilities + Capacity ให้มีขึ้น การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย คนที่อยู่กับเราพร้อมจะเปลี่ยนไปกับเราแค่ไหน ให้ฟังเสียงสะท้อนดี ๆ บางทียิ่งไม่มีเสียงอะไรกลับมาเลย ต้องคิดหนักว่าทำไมเขาถึงเงียบ จะต้องมีการสื่อสารบริหารจัดการความเข้าใจ เห็นประโยชน์จากความรู้ของคนรอบข้าง

 

ความสำเร็จขององค์กรมาจากคน องค์กรที่ตั้งมานานมีคนรุ่นเก่าใหม่ร่วมกันอยู่ วัฒนธรรมการเติบโตของคนในองค์กรไม่ควรใช้ทางลัดแต่ต้องพิสูจน์ฝีมือ สร้างทีมงานคนรุ่นใหม่เข้ามาเสริมทัพทำงานกับคนรุ่นก่อนให้ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้ประสบการณ์

 

การเปลี่ยนแปลงธุรกิจครอบครัวที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องคำนึงถึงธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ทุกการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ จึงต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและการยอมรับจากคณะกรรมการบริหารด้วย

 

การสื่อสารภายในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานจำนวนมากเป็นเรื่องสำคัญ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง ต้องปรับให้สอดคล้องกันในทุกระดับ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน และพร้อมที่จะมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมให้ความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่เพื่อให้องค์กรอยู่รอด และเติบโตไปด้วยกัน การมีจุดอ่อนก็ไม่ใช่ปัญหาที่จะทำให้เรา scale ไม่ได้ การมีพันธมิตรมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เกิดการผนึกกำลังและเติบโตไปพร้อมๆกัน

 

ในตอนที่ 3 จะเป็นการสรุปเรื่อง การสร้างความมั่งคั่งของธุรกิจครอบครัว ซึ่งเปรียบเสมือนกาวที่ยึดธุรกิจกับครอบครัวไว้ด้วยกัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง