การบริหารจัดการความมั่งคั่งของธุรกิจครอบครัว

การบริหารจัดการความมั่งคั่งของธุรกิจครอบครัว

โดย ห้องเรียนผู้ประกอบการ

16 ตุลาคม 2566
489 Views

Highlight


  • เพราะธุรกิจกับครอบครัวมีความทับซ้อนกัน การจัดการทรัพย์สินต่างๆ และผลประโยชน์มักจะสร้างความยุ่งยากในการตัดสินใจ และเป็นที่มาของความขัดแย้งของสมาชิกในครอบครัว การทำความเข้าใจและเริ่มวางแผนความมั่งคั่งเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาและสื่อสารให้มีความเข้าใจตรงกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่จะเกิดตามมาภายหลัง

จากบทความตอนที่ 2 การวางแผนการเปลี่ยนผ่านเพื่อสืบทอดธุรกิจครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการและวางแผนในระยะยาวเพื่อให้เป็นไปอย่างราบรื่น อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นสำคัญและต้องเตรียมการตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในครอบครัวและส่งผลกระทบต่อความยืนยาวของธุรกิจก็คือ เรื่องทรัพย์สินและความมั่งคั่งของธุรกิจครอบครัว


ธุรกิจครอบครัวที่ดำเนินการจนกิจการเติบโตมาได้นั้น ล้วนมีเรื่องราวและคุณค่าเฉพาะตัวที่เปรียบเสมือน “ตำนาน” จากรุ่นสู่รุ่น และคุณค่าเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) ให้แก่ธุรกิจและครอบครัว อย่างไรก็ตามเมื่อทั้งครอบครัวและธุรกิจมีการเติบโต การบริหารจัดการความมั่งคั่งเป็นเรื่องจำเป็นที่ควรต้องมีการตกลง ทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจบานปลายในภายหลัง


Professor Morten Bennedson Professor at the University of Copenhagen and Visiting Professor at INSEAD ได้ให้มุมมองผ่านหัวข้อ “Assets and Wealth Creation” โดยได้ให้แนวคิดว่าการจะสร้าง Wealth ได้นั้น ประกอบด้วย 3 ปัจจัยสำคัญคือ


1. ต้องเข้าใจว่าอะไรทำให้บริษัทครอบครัวมีความพิเศษและแตกต่างจากคู่แข่ง สินทรัพย์ของครอบครัวเป็นเหมือนกาวที่ยึดธุรกิจกับครอบครัวเข้าไว้ด้วยกัน Toyota เริ่มต้นในธุรกิจผลิตเครื่องจักรสิ่งทอ ต่อมาได้ก่อตั้งธุรกิจผลิตรถยนต์จนเป็นผู้นำของโลก มีเหตุการณ์สำคัญเกิดปัญหาในการผลิตรถยนต์จนทำให้ชื่อเสียงเกือบเข้าสู่วิกฤติ แต่เจ้าของกิจการแถลงกล่าวขอโทษพร้อมแสดงออกด้วยการโค้งคำนับยาวนาน รวมถึงรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้พลิกความรู้สึกเรียกศรัทธามาได้ เป็นคุณค่าของธุรกิจครอบครัวที่คนรู้สึกและส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน 


2. แนวทางการบริหารจัดการที่สนับสนุนต่อกลยุทธ์ธุรกิจ ตัวอย่าง Hermes ให้ทายาทหาประสบการณ์จากธุรกิจที่อื่นก่อน และให้มืออาชีพเข้ามาบริหารธุรกิจในช่วงที่ทายาทยังไม่พร้อม เมื่อมีความพร้อมจึงส่งต่อให้กับทายาท กรณี Siemens เป็นธุรกิจครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม และการมีจิตวิญญาณผู้ประกอบการ จนทำให้เกิดการยอมรับจนถึงปัจจุบัน เป็นเจ้าของนวัตกรรมมากมาย


3. พิจารณาและเลือกว่าควรจะทำ และไม่ควรทำอะไร ตัวอย่าง แคดเบอรี (Cadburry) ผลิตช็อกโกแลตที่ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไร แต่ต้องการเป็นทางเลือกให้คนไม่ต้องไปดื่มสุรา ก่อตั้งโดยยึดคุณค่าและความศรัทธาในศาสนาคริสต์ ไม่นำเข้าวัตถุดิบโกโก้จากแรงงานทาส อีกตัวอย่างเป็นกรณีที่ไม่ควรทำคือตระกูล Sackler ขายยาแก้ปวดแต่มีส่วนผสมของสารเสพติด ทำให้คนติดและเสียชีวิต จนถูกฟ้องล้มละลาย หรือบางตระกูลแชโบลที่ไม่เสียภาษี เลี่ยงภาษี จนคนใม่พอใจ


ปัจจัย 3 ประการข้างต้น เป็นแนวคิดที่ธุรกิจครอบครัวต้องตระหนักและทำความเข้าใจในคุณค่าของธุรกิจครอบครัวของตน


สำหรับธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยนั้น ได้มีการแชร์มุมมองของการบริหารจัดการความมั่งคั่งของธุรกิจครอบครัว ผ่านการเสวนาหัวข้อ “Family Wealth Models: How to Select the One That Suits”  โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ

  • คุณชมพรรณ  กุลนิเทศ      กรรมการผู้จัดการ  บริษัท ไมเนอร์ โฮลดิ้ง (ไทย) จำกัด
  • คุณธนาภูมิ หงษ์หยก         ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Assistant Managing Director บริษัท อนุภาษวิวิธการ จำกัด
  • คุณวิเชฐ ตันติวานิช           นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัว

การเสวนาในหัวข้อดังกล่าว สรุปได้ว่า ควรแยกทรัพย์สินส่วนตัวของครอบครัวออกจากธุรกิจเพื่อให้เป็นไปตามหลัก Corporate Governance  ทรัพย์สินของครอบครัวที่นำมาจัดตั้งและบริหารเป็น Family Office นั้น ผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการต้องมีความน่าไว้วางใจ เป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุด การบริหารความมั่งคั่ง ต้องมี Performance ที่ดี สร้างผลกำไรอย่างสม่ำเสมอ และมีทักษะการสื่อสารที่ดีเยี่ยม เพราะต้องทำงานร่วมกับคนในตระกูลที่มีหลาย Generation และมีความเป็นตัวของตัวเอง โดยเฉพาะในทายาทรุ่นใหม่ๆ ก็มีความสนใจต่างไปจากรุ่นก่อนทั้งในด้านการทำงานในธุรกิจของตัวเองและการไปลงทุนในสิ่งที่ตนเองสนใจ


ทั้งนี้ธุรกิจครอบครัวควรมีการพูดคุยเรื่อง Family Value ให้ชัด มีการจัด Family Meeting เพื่อเป็นการสร้าง Two Way Communication ลดความไม่เข้าใจกัน มีกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว เพื่อเป็นการเปิดใจให้เข้าใจซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น


ในส่วนครอบครัวที่จัดตั้งเป็น โฮลดิ้งครอบครัวนั้น ควรต้องทำเมื่อเริ่มมีทรัพย์สินมากขึ้น ทั้งประเภทและมูลค่าเพราะจะเริ่มซับซ้อนขึ้น รวมทั้งในเรื่องการจัดการเกี่ยวกับบทบาทของคนในครอบครัว เช่น คนไม่ได้ทำงานแต่มีหุ้น รับผลประโยชน์อย่างไร เป็นต้น รวมทั้งการเข้าไปมีตำแหน่งในธุรกิจ จะมีหลักเกณฑ์รองรับอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับร่วมกัน เช่น ควรเข้าไปทำงานสะสมประสบการณ์ในธุรกิจอื่นก่อน หรือตำแหน่งอื่นก่อนเข้ามาเริ่มธุรกิจในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยมีผู้จัดการอาวุโสช่วยดูแล รวมถึงมีการหมุนเวียนตำแหน่งในธุรกิจ (Rotation) เพื่อสะสมประสบการณ์ความรู้ความชำนาญ การจัดทำธรรมนูญครอบครัวก็ควรต้องจัดให้มี เพื่อสร้างบรรทัดฐานการดำเนินธุรกิจของตระกูล และยังเป็นแกนกลางในการส่งต่อหลักปรัชญาของครอบครัวและธุรกิจ


หากต้องมีการตัดสินใจเรื่องใหญ่ภายในครอบครัว เช่น ตัดสินใจลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของธุรกิจครอบครัว


จะต้องมีการสื่อสาร และทำการวิเคราะห์ภาพรวมของโครงการร่วมกัน โดยสามารถจัดตั้งสภาครอบครัวที่ถือเป็นตัวแทนของสมาชิกครอบครัวแต่ละรุ่น มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลและหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญร่วมกันต่อไป


ในตอนที่ 4 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายจะเป็นการสรุปในเรื่อง ความยั่งยืนกับการปรับตัวของธุรกิจครอบครัว ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เป็นกระแสหลักในปัจจุบัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง