จัดทำธรรมนูญครอบครัวอย่างไรให้ใช้ได้จริง?

จัดทำธรรมนูญครอบครัวอย่างไรให้ใช้ได้จริง?

โดย บุญญาพร ดอนนาปี

14 ธันวาคม 2566
7,274 Views

Highlight


  • การเริ่มทำธุรกิจอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะทำให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตและยั่งยืนอยู่ได้เกินสามรุ่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญคือ “ธรรมนูญครอบครัว” เพราะเป็นเอกสารที่จะช่วยจัดการกับความขัดแย้งภายในครอบครัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยสมาชิกในครอบครัวควรร่วมกันจัดทำธรรมนูญครอบครัวเพื่อให้สามารถใช้ เป็นกฎ กติกา ที่เป็นที่ยอมรับและสามารถใช้ปฏิบัติต่อสมาชิกครอบครัวได้จริง

ธรรมนูญครอบครัวคืออะไร?

ธรรมนูญครอบครัว (Family Constitution หรือ Family Charter) คือ เอกสารของครอบครัวที่วางหลักการ กฎ กติกา ของสมาชิกในครอบครัว โดยส่วนใหญ่ธรรมนูญครอบครัวจะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่อาจมีการกำหนดโทษแก่สมาชิกในครอบครัวที่ไม่ปฏิบัติตาม เช่น การตัดสวัสดิการ เป็นต้น

 

ควรมีธรรมนูญครอบครัวหรือไม่?

เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นและสมาชิกในครอบครัวขยายใหญ่ขึ้น จากเดิมที่บริหารจัดการกันแต่เพียงพ่อ แม่ ลูก ก็จะมีสมาชิกที่เป็น เขย สะใภ้ และบรรดาลูกหลานรุ่นถัดไป ทำให้ความสัมพันธ์ของครอบครัวมีความซับซ้อนมากขึ้น ธรรมนูญครอบครัวสามารถกำหนดการกระบวนการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดความขัดแย้งภายในครอบครัว และส่งผลให้สมาชิกในครอบครัวมีความสนใจในการบริหารจัดการธุรกิจของครอบครัวมากขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้ธุรกิจของครอบครัวนั้นเติบโตได้อย่างมั่นคง

 

อะไรควรจะอยู่ในธรรมนูญครอบครัว?

โดยหลัก เรื่องที่อยู่ในธรรมนูญครอบครัวจะประกอบด้วย

  • ความเป็นมาของครอบครัว วัตถุประสงค์และกลยุทธ์ทางธุรกิจ วิสัยทัศน์ ค่านิยมร่วมกันของครอบครัว
  • สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว
  • โครงสร้างของธุรกิจครอบครัว ส่วนนี้ครอบครัวอาจบริหารจัดการผ่านบริษัทโฮลดิ้งของครอบครัว ซึ่งสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือการแบ่งสรรปันส่วนในหุ้นของบริษัทของครอบครัวอย่างเป็นธรรม มีการกำหนดเรื่องการดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารของสมาชิกครอบครัว สิทธิในการออกเสียง สิทธิในการรับเงินปันผล และควรกำหนดให้ชัดเจนถึงข้อจำกัดการโอนหุ้นเพื่อให้หุ้นของธุรกิจของครอบครัวไม่สามารถตกไปถึงบุคคลภายนอกได้
  • แผนการสืบทอดธุรกิจ และนโยบายการจ้างงาน ส่วนนี้ จะกำหนดแผนการส่งต่อธุรกิจและการให้โอกาสคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเข้ามาเป็นผู้บริหาร หรืออาจมีข้อกำหนดให้มืออาชีพที่เป็นบุคคลภายนอกให้เข้ามาเป็นผู้บริหารธุรกิจของครอบครัวได้
  • การบริหารจัดการทรัพย์สินและเงินทุนของครอบครัว (เงินกงสี) ส่วนนี้จะเป็นทรัพย์สินและเงินของครอบครัวนอกเหนือจากที่ถือโดยบริษัทของครอบครัว
  • สภาครอบครัวและการบริหารจัดการสภาครอบครัว
  • หน่วยงานให้คำปรึกษาของครอบครัว (Family Office) ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่เข้ามาช่วยให้คำปรึกษาแก่สมาชิกในครอบครัวในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านกฎหมายและภาษีอากร การเงิน การลงทุน
  • ข้อกำหนดเกี่ยวกับสวัสดิการของครอบครัว เช่น ค่าเล่าเรียนบุตรหลาน เงินทุนแต่งงาน การท่องเที่ยวร่วมกัน เป็นต้น

 

และเพื่อให้ธรรมนูญครอบครัวทันกับยุคสมัย ควรให้มีการอัปเดตหรือปรับให้เป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอทุกๆ 2-3 ปี

 

ธรรมนูญครอบครัวควรเป็นกฎ กติกา ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ดังนั้นการจัดทำธรรมนูญครอบครัวจึงต้องมาจากการจัดทำร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว บนพื้นฐานของความเข้าใจถึงความต้องการของสมาชิกครอบครัวแต่ละคน โดยในกระบวนการจัดทำอาจมีที่ปรึกษาเข้าร่วมวางแนวทางและจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติ (workshop) ร่วมกัน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยแสดงความเห็น ซึ่งส่วนใหญ่ระยะเวลาในการจัดทำธรรมนูญครอบครัวจะอยู่ที่ประมาณ 6-12 เดือน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง