4 เรื่องที่ธุรกิจ Healthcare ต้องทำเพื่อไปสู่ Digital Transformation ให้สำเร็จ

4 เรื่องที่ธุรกิจ Healthcare ต้องทำเพื่อไปสู่ Digital Transformation ให้สำเร็จ

28 ตุลาคม 2563บทความ2,118

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • Digital transformation ในช่วงที่ผ่านมาถูกพูดถึงเป็นอย่างมากเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วในปัจจุบัน (Digital Disruptions) รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เป็นตัวเร่งทำให้ทุกธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ต้องปรับตัวให้ทันตามสถานการณ์ ในบทความนี้จะพูดถึงการทำ Digital transformation ในกลุ่มธุรกิจ Healthcare ให้สำเร็จ



เวลาในการอ่าน 5 นาที









ไม่เพียงแต่ธุรกิจดั่งเดิม หรือธุรกิจในอุตสาหกรรมทั่วไปเท่านั้น ที่ต้องการปรับตัวก้าวสู่ยุคดิจิทัล (Digitalization) แต่ธุรกิจด้านสุขภาพหรือ Healthcare ที่ดูใกล้ชิดกับเรื่องของเทคโนโลยี ก็ต้องการปรับเปลี่ยนเช่นกัน เพราะการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitalization) ของธุรกิจ Healthcare นั้นจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดข้อผิดพลาดทางการแพทย์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ผู้เชี่ยวชาญจาก Roland Berger ซึ่งเป็นบริษัท Consulting ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปได้ ให้คำแนะนำถึงสิ่งที่จำเป็นในการทำ Digital transformation ในธุรกิจ Healthcare ให้ประสบความสำเร็จไว้ดังนี้



1) สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ      



ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitalization) คือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยอมรับและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาอยู่เสมอ แต่ละองค์กรต้องมีกลยุทธ์ในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงโดยนำนวัตกรรมมาใช้ ยกตัวอย่างเช่น การเลิกระบบการทำงานแบบ Silo (การทำงานที่ฝ่ายงานหรือหน่วยงานในองค์กรเดียวกันไม่ยอมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน แยกส่วนกันทำงาน) เป็นสิ่งที่องค์กรต้องทำ เพื่อให้พนักงานทำงานร่วมกัน แชร์ข้อมูลซึ่งกันและกัน มีเป้าหมายร่วมกัน เดินไปในทิศทางเดียวกัน ทำงานได้แบบ Cross Functional อาจวัดผลการทำงานแบบ Project based



จากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญบริษัท Roland Berger ได้ให้ความเห็นว่าการทำ Digital transformation ให้สำเร็จและยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อ ผู้บริหารและพนักงานภายในองค์กร สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรูปแบบการทำงานได้อย่างยืดหยุ่น ไม่ยึดติดกับวิธีการทำงานแบบเดิม สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ผู้นำองค์กรจะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า มีแผนการพัฒนาภาพรวมไปในทิศทางใดในอนาคต มีเป้าหมายที่ชัดเจน ดังนั้น บริษัทในกลุ่มธุรกิจ Healthcare จะต้องมีแผนการพัฒนาที่ชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใด ตัวอย่างเช่น จะมุ่งพัฒนาไปในด้านการจัดเก็บข้อมูล (Big Data) ของผู้ป่วยและนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยโรคและรักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น



2) มีมุมมองที่เปิดกว้างรู้เท่าทันต่อสถานการณ์ต่างๆ



ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว จากความไม่แน่นอนในสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทต้องประเมินผลกระทบกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับตลาดและความสามารถในการแข่งขันของบริษัท บริษัทต่างๆ ควรปฏิบัติตามสมมติฐานที่ว่าตลาดการแข่งขันในอุตสาหกรรมของตนจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงได้ตลอดเวลา สังเกตได้จากในปัจจุบันบริษัทด้านเทคโนโลยี เริ่มเข้ามามีบทบาทในธุรกิจด้าน Healthcare มากขึ้น  รวมถึงจากสถานการณ์ Covid-19 ทำให้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Tech) ถูกให้ความสำคัญและนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ซึ่งจากการคาดการณ์ของ Fortune Business Insights มูลค่าทางการตลาด Telemedicine จะเติบโตจาก 42 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019 เป็น 185 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2026



การนำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านสุขภาพ ไม่เพียงจะก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการให้บริการ สามารถลดปัญหาความแออัดและลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขได้อีกด้วย ดังนั้นบริษัทจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือและสามารถปรับเปลี่ยน Business Model ให้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อสร้างโอกาสและตำแหน่งการแข่งขันของธุรกิจในอนาคต



3) มุ่งเน้นไปที่การสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าด้วยวิธีการใหม่ๆ



เมื่อต้องเผชิญกับความหลากหลายทางการแข่งขัน  ผู้บริหารต้องถามตัวเองว่าแนวคิดหรือโครงการใดที่จะสามารถผลักดันให้เกิดการทำงานแบบ Digitalization ได้จริง ควรจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือในด้านการให้บริการลูกค้า ต้องปรับตัวให้ใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้นกว่าที่เคยทำในอดีตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป บริษัทต้องมุ่งเน้นการปฏิบัติงานทุกขั้นตอนเพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า



ในบริบทของธุรกิจ Healthcare จะมีกฎระเบียบที่เข้มงวดรวมถึงการรักษาคุณภาพให้เป็นมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ บริษัทจึงต้องให้ความสำคัญเพราะจะมีผลต่อแผนพัฒนาและการดำเนินงาน ตัวอย่างจากประเทศจีน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรม Digital Healthcare ของจีนสามารถเติบโตได้สูงถึง 30% ต่อปี เนื่องจากการแก้ไขกฎระเบียบด้านสาธารณสุขของรัฐบาลจีน เช่นการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ Internet Hospital ในปี 2014 ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดเดิมของการให้บริการสุขภาพออนไลน์ หรือนโยบาย Healthcare Digitalization ที่กำหนดให้ทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเปิดให้บริการช่องทางออนไลน์สำหรับบริการพื้นฐาน เช่น ระบบการจองคิว การรับชำระค่าบริการ เป็นต้น



4) ใช้ประโยชน์จากพันธมิตรทางธุรกิจ



จากประสบการณ์ในอดีตแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ได้สร้างสถานการณ์ที่คู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันทำงานร่วมกันในหลายๆ ด้าน ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในธุรกิจ Healthcare และนั่นหมายความว่า ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้จะต้องวางแผนกลยุทธ์ในการดำเนินการให้สอดคล้องกับเทรนด์ในปัจจุบันร่วมถึงการมองหา Partners ที่จะร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับธุรกิจของกันและกัน



ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการสร้าง Ecosystems มากขึ้น เนื่องจากจะมีคู่ค้ารายใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งทางเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ จะเห็นได้จากบริษัทขนาดใหญ่ ในหลายๆ อุตสาหกรรม เริ่มเข้าไปร่วมมือกับกลุ่มบริษัท Tech Startup เพื่อนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับการดำเนินธุรกิจของตนทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเกิด Model ในการทำธุรกิจใหม่ๆ อีกด้วย ภาคอุตสาหกรรม Healthcare ด้านการแพทย์อาจนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้าง Platform ในการเก็บข้อมูลของลูกค้า(ผู้ป่วย) ซึ่งข้อมูลที่จัดเก็บจะถูกนำมาวิเคราะห์ผู้ป่วย เพื่อใช้ในการตรวจรักษาวินิจฉัยโรคให้ถูกต้องแม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถให้การดูแลรักษาในแบบเฉพาะบุคคล (Personalized treatment) ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดียิ่งขึ้น



ทั้ง 4 เรื่องนี้เป็นคำแนะนำที่ธุรกิจ Healthcare สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เพื่อเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล (Digital transformation)  ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผู้ประกอบการทราบดีว่าจำเป็นต้องทำ แต่ก็อาจจะไม่สามารถทำได้ทันทีองค์กรต้องมีการวางแผน วางกรอบนโยบายที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับทั้งผู้บริหารและพนักงานเพื่อให้องค์กรเดินไปในทิศทางเดียวกัน ในระหว่างทางอาจต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ มีการทดลองเรียนรู้ แก้ไข อยู่เสมอ หากทำให้เกิดขึ้นได้ก็จะสามารถยกระดับมาตรฐานขององค์กรไปสู่ระดับสากลและสร้างความยั่งยืนในอนาคตได้





Credit: Consultancy.eu



สรุปและเรียบเรียงโดย : ณัฏฐพงศ์ พิลาแดง



ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ประกอบการ



ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ