HIGHLIGHTS :
เวลาในการอ่าน 4 นาที
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 หลายท่านคงยังจำได้ถึงดีลประวัติศาสตร์การระดมทุนของฟินเทคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ของ Ant Financial Group เจ้าของ Alipay ในเครือ Alibaba ด้วยมูลค่าสูงถึง 34.5 พันล้านดอลลาร์ (1.1 ล้านล้านบาท)
แต่กลับถูกเบรคหัวทิ่ม 3 วันก่อนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ท่ามกลางข่าวลือในประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเงินจีนของ Jack Ma (ติดตามอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ “เหตุใด Ant Group จึงถูกระงับ IPO ในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้”)
อย่างไรก็ดี หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของจีนได้ให้เหตุผลในการระงับเพื่อให้ Ant Group อยู่ภายใต้การกำกับดูแล Microfinance เพื่อรักษาสมดุลความเสี่ยงเชิงระบบ (Systematic Risk) และความลับข้อมูล (Privacy) พร้อมกับการหายตัวของ Jack Ma
ในที่สุดสัปดาห์ที่แล้ว Jack Ma ได้ปรากฎตัวอีกครั้ง คล้อยหลังด้วยข่าว Ant Group ได้บรรลุข้อตกลงกับหน่วยงานกำกับดูแล คาดว่าจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้าก่อนเทศกาลตรุษจีน
ความเห็นจากหน่วยงานกำกับดูแล
หน่วยงานกำกับดูแลของจีน ได้มีการหารือรอบล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2563 กับผู้บริหาร Ant Group และได้ข้อสรุปในการ จัดตั้งเป็น Financial Holding Company จากเดิมทาง Ant Group ต้องการแตกบริษัทย่อยและขอใบอนุญาตตามหน่วยธุรกิจ
การปรับปรุงกฎเกณฑ์ด้าน Financial-holding company ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 โดยมีวัตถุประสงค์ให้ภาคเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ที่ประกอบธุรกิจหลายประเภทรวมกันและมีธุรกรรมการเงินข้ามประเภท มีการกำกับดูแลมากกว่าสองหน่วยงาน เช่น ธุรกิจการลงทุน ธุรกิจประกัน ธุรกิจชำระเงิน ต้องมีการปรับโครงสร้างบริษัทให้อยู่ในรูปแบบ Holding Company และขอใบอนุญาตตามธุรกิจของบริษัทย่อย เพื่อให้การกำกับดูแลได้ครอบคลุมถึงบริษัทแม่ ไม่ใช่เพียงกำกับดูแลบริษัทย่อย ตามหลักการกำกับดูแลทั้งกลุ่มธุรกิจ (Consolidated Supervision)
คาดว่ากฎเกณฑ์เกี่ยวกับ Financial Holding Company จะนำมาใช้กับฟินเทคทุกรายในจีนรวมถึง Tencent ผู้ให้บริการ WeChat
ผลกระทบต่อ Ant Group
Ant Group มีธุรกิจหลักคือ บริการชำระเงินในชื่อ Alipay บริการจัดการลงทุนในรูปแบบกองทุนรวมชื่อ Yu’e Bao บริการสินเชื่อในชื่อ Huabei และบริการประกันในชื่อ Xiang Hu Bao
Ant Group จึงต้องตั้ง Financial Holding Company ขึ้นมาเพื่อดูแลหน่วยธุรกิจดังกล่าว โดยคาดว่าจะแบ่งธุรกิจเป็นบริษัทย่อยให้บริการสินเชื่อ เทคโนโลยีการลงทุน และประกันภัย และบริษัทใหม่นี้ต้องยื่นขอใบอนุญาตการประกอบธุรกิจแต่ละประเภทตามกฎเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้
ส่งผลให้ Ant Group กำลังจะกลายเป็นธนาคารพาณิชย์ ไม่ใช่เทคโนโลยีแพลตฟอร์มตามที่ได้ระบุมาโดยตลอดอีกต่อไป
ธนาคารกลางของจีน (PBOC) จะเข้าไปกำกับดูแลตั้งแต่โครงสร้างผู้ถือหุ้น ธรรมาภิบาลของกรรมการและผู้บริหาร การบริหารความเสี่ยง การตั้งเงินทุนสำรองตามเกณฑ์ ระบบการป้องกันการรั่วไหลข้อมูลลูกค้า เป็นต้น
รวมถึงหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อจาก Credit Scoring ที่เกิดจากธุรกรรมใน Alipay ที่ทาง Ant Group ถือเป็นข้อได้เปรียบทางธุรกิจเหนือกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
คาดว่า Ant Group ต้องแสดงรายละเอียดแผนการปรับปรุงโครงสร้างบริษัท (Restructuring plan) ในการปรับปรุงหนังสือชี้ชวน (Prospectus) สำหรับยื่นคำขอ IPO ตามที่ผู้ว่าธนาคารกลางจีน ได้เกริ่นในการงานเสวนาของ World Economic Forum เมื่อเดือนมกราคม 2564
การปรับปรุงโครงสร้างบริษัทในครั้งนี้ย่อมกระทบต่อผลประกอบการ เนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่ายด้าน Compliance Cost จะสูงมากขึ้น
ต้องจับตาดูการประเมินมูลค่าทางธุรกิจของบริษัทใหม่อีกครั้ง
บทสรุป
การกำกับดูแลที่เข้มข้นย่อมมาพร้อมกับต้นทุนค่าใช้จ่าย (Compliance Cost) ในการบริการความเสี่ยงที่สูงมากขึ้น สวนทางกับแนวทางการเติบโตของฟินเทคที่พยายามลดอุปสรรคด้านต้นทุนและความยุ่งยากในระบบเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายมากขึ้นในราคาที่ถูกลง
หากมองจากมุมของหน่วยงานกำกับดูแล คงต้องให้ความสำคัญต่อการป้องกันปัญหาจากความเสี่ยงเชิงระบบ (Systematic Risk) เนื่องจากจากการดำเนินงานที่ผิดพลาดของภาคเอกชนจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ กรณีที่เกิดขึ้นกับ Ant Group ไม่เพียงกระทบกับ Alibaba เท่านั้น แต่จะเป็นกรณีศึกษาและอ้างอิงสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินในอีกหลายประเทศ
จากเดิม ธุรกิจฟินเทคถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบของกะบะทราย (Regulatory Sandbox) แต่เมื่อธุรกรรมมีขนาดใหญ่มากขึ้นจนกะบะทรายปริ ย่อมมีโอกาสส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงเชิงระบบ
หน่วยงานกำกับดูแลจึงไม่อาจนิ่งเฉย
แต่โจทย์สำคัญที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่งคือ ทำอย่างไรจึงจะรักษาสมดุลระหว่างการควบคุมความเสี่ยงและการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อให้เข้าถึงได้ง่าย
เมื่อนั้น ประชาชนจึงจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
เขียนโดย : พงศ์ปิติ เอกเธียรชัย
ผู้จัดการ
บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด (LiVE)