ธุรกิจครอบครัว: ที่นั่งใหม่บนโต๊ะธุรกิจครอบครัว

ธุรกิจครอบครัว: ที่นั่งใหม่บนโต๊ะธุรกิจครอบครัว

โดย ศศิธร พงศ์อดิศักดิ์

20 กุมภาพันธ์ 2566
258 Views

Highlight


  • เมื่อโลกได้เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในทุกมิติ ทั้งในด้านการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจ รูปแบบการทำงานในอนาคต ได้ถูกหยิบมาเป็นรูปแบบการทำงานปัจจุบัน ท่ามกลางภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เทคโนโลยีต่างๆ เช่น Quantum Computing, AI, Machine learning และบล็อกเชน เป็นต้น กำลังเปลี่ยนผู้ใช้งานใหม่ ให้ใช้งานได้อย่างคล่องแคล่วและเพิ่มการเข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับธุรกิจทุกประเภทรวมถึงธุรกิจครอบครัว

เจ้าของธุรกิจครอบครัวหลายท่านที่กำลังพิจารณาหาความสมดุลระหว่างการรักษาประเพณีหรือสิ่งที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานกับความก้าวหน้า จะพบว่าการหาสมดุลดังกล่าวเป็นเรื่องยากมาก แต่ไม่มีองค์กรครอบครัวใดต้องการถูกทิ้งไว้ข้างหลังในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ และจากมุมมองของผู้เขียน กุญแจสำคัญในการคว้าโอกาสด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้นขึ้นอยู่กับสมาชิกในครอบครัวที่กำลังเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ นั่นคือ สมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่ ซึ่งบางครอบครัวมีความไม่มั่นใจและมีคำถามว่าทำไมจึงต้องเป็นสมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่ เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะสมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่คือ "ชาวดิจิทัลโดยกำเนิด" ซึ่งหมายถึงผู้ที่เกิดในยุคดิจิทัล หรือ “Digital Natives”


จากการศึกษาล่าสุดของ Family Enterprise Foundation (สนับสนุนโดย KPMG Family Office) พบว่า สมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่จำนวนมากมีความสนใจและตั้งใจอย่างมากที่จะเริ่มต้นการทำงานในธุรกิจครอบครัวของตัวเอง และสมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่เหล่านี้มีความมุ่งมั่นที่จะสานต่อและสร้างธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ เจ้าของธุรกิจครอบครัวซึ่งมีประสบการณ์ในการสร้างธุรกิจครอบครัวมาอย่างยาวนานและสมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่หลายครอบครัวต่างเข้าใจกันเป็นอย่างดีแล้วว่า ธุรกิจและความมั่งคั่งสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้เมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งในปัจจุบันธุรกิจครอบครัวไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใดต่างก็มีการเปลี่ยนผ่านกันมาอย่างน้อย 1 เจเนอเรชั่นแล้ว ไม่เพียงเท่านั้นทักษะที่จำเป็นในการสร้างธุรกิจอาจแตกต่างจากทักษะที่จำเป็นต้องใช้เพื่อดำรงธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืนต่อไป ดังนั้น การให้โอกาสคนรุ่นนี้ในการใช้ความสามารถด้านดิจิทัลและการมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจครอบครัวสามารถช่วยผลักดันให้เกิดความหลากหลายและนำทิศทางใหม่มาสู่องค์กรครอบครัวได้


ดังนั้น หากเจ้าของธุรกิจครอบครัวใดกำลังพิจารณาว่าสมาชิกครอบครัวของท่านที่เป็นคนรุ่นใหม่จะช่วยดำรงธุรกิจครอบครัวให้ยั่นยืนได้ การดึงดูดคนรุ่นใหม่และการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้ทำงานร่วมกับสมาชิกครอบครัวรุ่นอื่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ แนวทางในการดึงดูดคนรุ่นใหม่อาจพิจารณาได้ดังนี้


ส่งเสริมการสื่อสารที่เปิดกว้างและโปร่งใส การสนทนาอย่างตรงไปตรงมากับสมาชิกครอบครัวที่อยู่ในช่วงวัยดิจิทัล จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจครอบครัวเข้าใจ ตลอดจนสามารถกำหนดระดับความสนใจของสมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่ในธุรกิจครอบครัว กำหนดและพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการเป็นผู้นำธุรกิจในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เจ้าของธุรกิจครอบครัวสามารถนำประโยชน์จากทักษะของคนรุ่นใหม่มาใช้ในการพัฒนาธุรกิจได้และช่วยให้การสื่อสารในครอบครัวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


กำหนดโครงสร้างที่ชัดเจน เมื่อพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของครอบครัว ธุรกิจ และความเป็นเจ้าของ เป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดความขัดแย้งขึ้นภายในครอบครัวได้ แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งคือ เจ้าของธุรกิจครอบครัวควรมีการกำหนดบทบาท ความรับผิดชอบ และแนวทางความก้าวหน้าที่ชัดเจนสำหรับสมาชิกในครอบครัวรุ่นต่อไป สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ทั้งยังเสริมสร้างความรับผิดชอบและเพิ่มความสามัคคีของคนหลายรุ่นภายในครอบครัว


ทำให้สมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ซึ่งมีอายุน้อยไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยสิ่งจูงใจทางการเงินเท่านั้น แต่ยังมีจุดมุ่งหมายอื่นอีกด้วย คือ คนรุ่นใหม่อยากรู้สึกว่างานของพวกเขามีความหมายและสร้างความแตกต่าง ดังนั้น เจ้าของธุรกิจครอบครัวจึงควรขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการปลูกฝังองค์กรให้ขับเคลื่อนด้วยวัตถุประสงค์ และดึงดูดให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการค้นหา ด้วยวัตถุประสงค์และค่านิยมของธุรกิจครอบครัวเดียวกันพร้อมกับสมาชิกครอบครัวทุกๆ รุ่น


จะเห็นได้ว่า การให้คนรุ่นใหม่ได้นั่งโต๊ะร่วมกับสมาชิกครอบครัวรุ่นอื่นๆ จะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวสามารถจัดการกับช่องว่างทักษะที่สำคัญได้ จากข้อมูลที่ผู้เขียนพบจากแบบสำรวจแนวโน้มธุรกิจล่าสุดของเคพีเอ็มจี หัวข้อ "ธุรกิจในแคนาดากำลังดิ้นรนเพื่อค้นหาผู้มีความสามารถพบว่า ร้อยละ 80 ของเจ้าของธุรกิจในแคนาดา กำลังต้องการพนักงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้น ร้อยละ 89 ของเจ้าของธุรกิจกำลังลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะและความสามารถของพนักงาน และร้อยละ 68 ของเจ้าของธุรกิจกำลังประสบปัญหาในการจ้างคนที่มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการเติบโต ในขณะที่หลายองค์กรยินดีลงทุนในความสามารถด้านดิจิทัล แต่ทักษะเหล่านี้หาได้ยากในตลาดแรงงานในปัจจุบัน ดังนั้น การมีส่วนร่วมของสมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่ที่มีทักษะทางด้านดิจิทัลอยู่แล้ว จะช่วยปิดช่องว่างด้านทักษะและเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสมาชิกรุ่นอื่นๆ ในครอบครัวได้อีกด้วย


การดำเนินธุรกิจครอบครัวเปรียบเสมือนการเดินทาง โดยในแต่ละช่วงเวลาของการเดินทางของธุรกิจครอบครัวนั้นอาจมีความแตกต่าง เพราะเส้นทางที่เดินแต่ละก้าวมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่หากการเดินทางแต่ละครั้งเริ่มต้นด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและมีแนวทางร่วมกันกับสมาชิกทุกรุ่น จะเป็นการเริ่มต้นการเดินทางที่มีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้ สิ่งที่ต้องทำต่อไปนั้นคือ การค้นหาวิธีควบคุมความสามารถของคนรุ่นต่อไป และร่วมกันสร้างวิธีการดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่เปลี่ยนไปเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตและปรับตัวเข้ากับโลกดิจิทัลใบใหม่ ซึ่งหากเจ้าของธุรกิจและสมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่ที่มีทักษะดิจิทัลสามารถทำงานร่วมมือกันได้อย่างตรงไปตรงมา ชัดเจนและมีจุดประสงค์ร่วมกัน การเดินทางของธุรกิจครอบครัวจะเป็นการเดินทางด้วยความก้าวหน้า มั่นคง พร้อมด้วยความมั่งคั่งและยั่งยืน

 

อ้างอิง:

KPMG: Who are the guardians of family legacy?

KPMG: Canadian CEOs optimistic amid uncertainty

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง