ธุรกิจครอบครัว: เส้นทางสู่ประสิทธิภาพสูงสุด

ธุรกิจครอบครัว: เส้นทางสู่ประสิทธิภาพสูงสุด

โดย ศศิธร พงศ์อดิศักดิ์

29 มีนาคม 2566
464 Views

Highlight


  • การวัดประสิทธิภาพทางธุรกิจในเชิงปริมาณอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายในทุกบริษัท แต่การวัดประสิทธิภาพของธุรกิจครอบครัวนั้นซับซ้อนยิ่งกว่า การรักษาวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้ง วัฒนธรรมของการเป็นผู้ประกอบการ และชื่อเสียงในฐานะเจ้าของธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ ก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเฉพาะและมีความสำคัญในการวัดประสิทธิภาพของธุรกิจครอบครัวและเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ

เพื่อเป็นแนวทางให้กับเจ้าของธุรกิจครอบครัวในการพิจารณาปัจจัยที่ใช้วัดประสิทธิภาพที่เหมาะสมกับแต่ละราย ผู้เขียนจึงได้รวบรวมตัวอย่างปัจจัยในการวัดประสิทธิภาพของธุรกิจครอบครัว ดังนี้


ผลลัพธ์ทางการเงิน (Financial performance)


ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่เห็นได้อย่างชัดเจนทั้งบุคคลภายในและภายนอกครอบครัว ข้อดีของปัจจัยผลลัพธ์ทางการเงินนั้นคือ มีความชัดเจนและสามารถวัดได้

  • การเติบโตของยอดขายและส่วนแบ่งการตลาด
  • การเติบโตของผลกำไรและอัตรากำไรจากการขาย
  • ผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้นและสินทรัพย์รวม
  • การเติบโตของจำนวนพนักงาน

ผลลัพธ์ที่ไม่ใช่ทางการเงิน (Non-financial performance)


ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่มีความจำเป็นเช่นกัน แต่เป็นปัจจัยที่ต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณา จึงอาจไม่ง่ายในการวัดผล ซึ่งอาจมีข้อโต้แย้งจากสมาชิกในครอบครัวได้

  • ความสามัคคีในครอบครัว ความจงรักภักดี และการสนับสนุนธุรกิจของสมาชิกในครอบครัว
  • การพัฒนาทักษะและการให้โอกาสแก่สมาชิกในครอบครัวรุ่นถัดไป
  • ความภักดีของลูกค้าต่อครอบครัว
  • ชื่อเสียงของครอบครัวที่ดีในชุมชน

ปฐมนิเทศผู้ประกอบการ (Entrepreneurial orientation) 

  • เน้นการวิจัยและพัฒนา ความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี และนวัตกรรม
  • การดำเนินการของธุรกิจครอบครัวในเชิงที่คู่แข่งถูกบังคับให้ต้องตอบสนอง
  • การหาโครงการที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง
  • การแสดงออกเชิงรุกเพื่อเพิ่มผลกำไรสูงสุด

ผลลัพธ์ทางสังคมภายนอก (External social performance)

  • การจำกัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่นอกเหนือจากการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้วยธุรกิจครอบครัวนั้นเอง
  • การให้ความรู้แก่ผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ผลลัพธ์ทางสังคมภายใน (Internal social performance)

  • การนำแนวปฏิบัติในการว่าจ้างที่เป็นนวัตกรรมใหม่มาใช้ เช่น การให้โอกาสการจ้างงานแก่ชนกลุ่มน้อย หรือผู้ทุพพลภาพ เป็นต้น
  • การเพิ่มขึ้นของสตรีและชนกลุ่มน้อย ในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการ

การวัดประสิทธิภาพทางธุรกิจ


จากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าการวัดผลลัพธ์ทางการเงิน เป็นปัจจัยในการวัดประสิทธิภาพของธุรกิจครอบครัวที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงการวัดผลลัพธ์ทางการเงินจึงเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของธุรกิจครอบครัว โดยข้อมูลในบทความ The regenerative power of family businesses: Transgenerational entrepreneurship ของเคพีเอ็มจี พบว่าหากพิจารณาลึกลงไปในภาพรวมของผลลัพธ์ทางธุรกิจ หลายธุรกิจครอบครัวที่มีผลลัพธ์ทางการเงินสูงที่สุด เป็นธุรกิจที่มีการบริหารงานโดย CEO ที่ไม่ได้มาจากสมาชิกในครอบครัว และบริษัทดังกล่าวมักเป็นเป็นบริษัทที่มีนวัตกรรมและความกระตือรือร้นสูง แม้ว่าจะยังเป็นบริษัทที่ถูกควบคุมและได้รับอิทธิพลจากครอบครัวอยู่


นอกจากนี้ ความยาวนานและระยะของธุรกิจ ก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ทางการเงินของธุรกิจครอบครัวด้วย เช่น ยอดขายมักจะเติบโตสูงขึ้นจากธุรกิจครอบครัวรุ่นที่หนึ่ง สองและสาม และส่วนแบ่งการตลาดที่สูงขึ้น ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรจากผลการดำเนินธุรกิจของครอบครัวรุ่นที่สอง สามและสี่ มักสูงขึ้นเมื่อธุรกิจเติบโตและมั่นคง เป็นต้น


จะเห็นได้ว่าผลลัพธ์ทางการเงินเป็นปัจจัยในการวัดประสิทธิภาพทางธุรกิจที่สำคัญยิ่ง ซึ่งในความจริงแล้วผู้นำธุรกิจไม่สามารถละเลยได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำของครอบครัวหรือผู้นำของธุรกิจที่ไม่ใช่ครอบครัว


ไม่เพียงเท่านั้น ผลลัพธ์ทางสังคมก็มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากผลลัพธ์ทางสังคมแสดงให้เห็นถึงความเชื่อ ค่านิยมและวัฒนธรรมของบริษัทและครอบครัวนั้นๆ ความห่วงใยต่อพนักงาน ผู้ขาย เศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว ควรเป็นเรื่องสำคัญที่สมาชิกในครอบครัวต้องแสดงออก เนื่องจากผลลัพธ์ทางสังคมทั้งภายในและภายนอกของบริษัทหรือธุรกิจครอบครัวนั้นไม่เพียงแต่สร้างความภักดีต่อครอบครัวเท่านั้น แต่ยังสร้างความภักดีของพนักงานด้วย การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบจะช่วยส่งเสริมชื่อเสียงของธุรกิจครอบครัวต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด


เนื่องจากปัจจัยในการวัดประสิทธิภาพทางธุรกิจแต่ละรายการมีความสำคัญในตัวเอง การจัดการและวัดผลจึงมีความสำคัญเท่าเทียมกัน เจ้าของธุรกิจครอบครัวหรือ CEO ของธุรกิจครอบครัว ไม่จำเป็นต้องดำเนินการด้วยตนเองทั้งหมด สิ่งสำคัญคือเจ้าของธุรกิจครอบครัวต้องระบุได้ว่าใครในธุรกิจของตนเองที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นดูแลและดำเนินการในด้านต่างๆ


ธุรกิจครอบครัวในยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนผ่านมาหลายรุ่น  สมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่ประกอบด้วยมากกว่า 1 รุ่น มุมมองและแนวคิดของสมาชิกในครอบครัวอาจมีความแตกต่างกัน การเลือกปัจจัยในการวัดประสิทธิภาพทางธุรกิจครอบครัว จึงควรพิจารณาให้ครอบคลุมในหลายๆ ปัจจัย และควรมีการตกลงร่วมกันกับทั้งสมาชิกในครอบครัว และผู้บริหารของธุรกิจครอบครัวนั้นที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว เพื่อให้การวัดผลมีประสิทธิภาพและลดการโต้แย้งของสมาชิกและผู้บริหารที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง