ธุรกิจครอบครัว: ดีต่อธุรกิจ ดีต่อโลก ตอนที่ 2

ธุรกิจครอบครัว: ดีต่อธุรกิจ ดีต่อโลก ตอนที่ 2

โดย ศศิธร พงศ์อดิศักดิ์

21 พฤษภาคม 2566
298 Views

Highlight


  • แนวคิดและการวางแผนในเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน เป็นแนวโน้มที่ผู้นำธุรกิจครอบครัวต้องให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตามไม่มีกลยุทธ์หรือวิธีการใดที่เหมาะสมกับทุกธุรกิจครอบครัว แต่ละครอบครัวต้องพิจารณาเลือกใช้กลยุทธ์หรือวิธีการที่เหมาะกับธุรกิจครอบครัวของตน ซึ่งอาจจำเป็นต้องผสมผสานหลายกลยุทธ์หรือหลายวิธีเข้าด้วยกันก็เป็นได้

จากบทความที่แล้ว เรื่อง ธุรกิจครอบครัว: ดีต่อธุรกิจ ดีต่อโลก ตอนที่ 1 ได้แสดงให้ท่านผู้นำธุรกิจครอบครัวเห็นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แนวคิดการดำเนินธุรกิจ มุมมองในการดำรงชีวิต เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดความชัดเจนและความจำเป็นของสิ่งที่เจ้าของธุรกิจครอบครัวรู้จักกันมานานหลายทศวรรษ นั่นคือ การดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยแท้จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างคุณค่าให้กับสิ่งแวดล้อม สร้างงาน ตลอดจนการมีส่วนร่วมในความเจริญรุ่งเรืองของชุมชน และการส่งมอบคุณค่าระยะยาวแก่ครอบครัว เช่นเดียวกับธุรกิจของครอบครัว

 

ดังนั้น เมื่อพูดถึง Environmental, Social, and Governance หรือ ESG ธุรกิจครอบครัวจำนวนมากจึงเริ่มต้นจากการนำจุดแข็งของธุรกิจตนเอง มายกระดับความมุ่งมั่นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น ธุรกิจครอบครัวจำนวนมากกำลังนำแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมนี้มาใช้เพื่อค้นหาข้อมูลเชิงลึก ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่สำคัญต่อธุรกิจครอบครัว และในขณะเดียวกัน เจ้าของธุรกิจครอบครัวก็ต้องพิจารณาผลกระทบของผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้ต่อธุรกิจของตนเช่นกัน เพื่อหาแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับอย่างยั่งยืน

 

กรอบยุทธศาสตร์ที่ผู้นำระดับสูงในทุกอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วน สามารถนำมาปรับใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม มีดังนี้

 

1. การส่งมอบคุณค่าให้กับโลก (Delivering value for the planet: E) มีเป้าหมายเพื่อ:

  • ลดการใช้พลังงานและเปลี่ยนสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน
  • เพิ่มการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและกำจัดของเสีย
  • ลดผลกระทบทางนิเวศวิทยาและชีวภาพต่อการใช้ที่ดินและน้ำ ตลอดจนของเสียและมลพิษ

2. การส่งเสริมคุณค่าทางเศรษฐกิจ (Promoting the value of prosperity: S) มีวัตถุประสงค์เพื่อ:
  • วัดผลประโยชน์ที่คาดหวังทางสังคมและเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการวัดผลประโยชน์จากผลประกอบการทางธุรกิจเท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าต่อสังคม
  • พัฒนาแนวทางที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม
  • ดูแลความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนที่ธุรกิจดำเนินอยู่


3. การสร้างคุณค่าให้กับคนในสังคม (Creating value for people: S) มีจุดประสงค์เพื่อ:

  • สร้างทักษะให้กับพนักงานเพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคต
  • สร้างสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ครอบคลุม และเท่าเทียมกัน
  • สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพสำหรับพนักงานและซัพพลายเออร์


4. มุ่งมั่นที่จะให้คุณค่าต่อหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Striving to ensure the value of good governance principles :G) สนับสนุนวิธีการกำกับดูแลและการดำเนินงานของธุรกิจ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ:

  • ระบุและบรรเทาผลกระทบของความเสี่ยงที่สำคัญ
  • เชื่อมโยงค่าตอบแทนและสิ่งจูงใจกับความคืบหน้าของการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับ ESG
  • ระบุวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเพื่อสร้างมูลค่าตามวาระ ซึ่งควบคุมโดยตัวแทนที่มีความหลากหลายและเท่าเทียมกัน


เจ้าของธุรกิจครอบครัวจะต้องพิจารณากรอบยุทธศาสตร์ข้างต้นทั้งสี่ กำหนดกรอบการดำเนินการในภาพใหญ่ กำหนดแนวทางและลำดับในการจัดการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ให้สอดคล้องกับทิศทางของธุรกิจ ในขณะเดียวกันเจ้าธุรกิจครอบครัวยังต้องบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรของครอบครัวและของธุรกิจครอบครัวให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อไม่ให้กระทบต่อการดำเนินธุรกิจเช่นกัน


ทั้งนี้ การดำเนินการต่างๆ ควรดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม อาจทำได้โดยการกำหนดคณะกรรมการและทีมคณะทำงาน โดยกำหนดความรับผิดชอบเพื่อบรรลุผลลัพธ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการบริษัท


ไม่ใช่แค่เพียงการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Beyond compliance)


จากความเห็นของผู้เขียน ธุรกิจครอบครัวที่มีการจัดการด้านความรับผิดชอบทางสังคม โดยมีการกำหนดแผนกลยุทธ์ของบริษัทอย่างเป็นรูปธรรม มีแนวโน้มที่จะสามารถเปิดเผยคุณค่าต่อสังคมของธุรกิจครอบครัวนั้น ที่สร้างมาอย่างยาวนานได้ง่ายและรวดเร็วกว่าครอบครัวที่ไม่ได้วางแผนธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม โดยเจ้าของธุรกิจครอบครัวนั้นจะได้รับประโยชน์จากการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนทางสังคมดังกล่าว เช่น การได้รับเงื่อนไขทางการเงินที่ดีกว่า เป็นต้น การดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม จึงมีประโยชน์มากกว่าแค่การปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือการรายงานตามกฎระเบียบ แต่กลายเป็นความจำเป็นทางธุรกิจเพื่อการเติบโต ไม่ใช่เป็นเพียงทางเลือก


สิ่งสำคัญในการบริหารจัดการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม


สิ่งสำคัญในการบริหารจัดการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม คือ การเข้าถึงข้อมูล การปกป้องข้อมูล และใช้ข้อมูลเพื่อคาดการณ์การเติบโตเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจครอบครัว ดังนั้น การพัฒนากลยุทธ์ด้านข้อมูลจึงเป็นสิ่งจำเป็น ธุรกิจครอบครัวจำนวนมากอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนากลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และอยู่ในช่วงจัดหาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อจัดการ ติดตามและวัดผล การจัดให้มีเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนด้านข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการบริหารจัดการทางธุรกิจ


นอกจากนี้ การวัดผลทั้งผลกระทบและความสำเร็จนั้นมีหลายแนวทางด้วยกัน โดยขึ้นอยู่กับการกำหนดลำดับความสำคัญและกลยุทธ์ของแต่ละบริษัท บางแนวทางสามารถวัดผลได้ชัดเจนและสามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ แต่บางแนวทางอาจไม่สามารถวัดผลได้ชัดเจน


เจ้าของธุรกิจครอบครัวควรพิจารณาแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างรอบคอบ และให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบ การวัดผล การทบทวน และการปรับปรุง เพื่อให้ได้แนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมกับแต่ละครอบครัว อย่างไรก็ตาม ก้าวแรกที่เจ้าของธุรกิจครอบครัวหลายครอบครัวจะต้องก้าวข้ามให้ได้คือ ต้องลืมความสำเร็จในการจัดการด้านสวัสดิการสังคมในอดีต เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อความสำเร็จในการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในปัจจุบันทั้งภายในและภายนอกนั้น แตกต่างจากสภาพแวดล้อมที่เจ้าของธุรกิจครอบครัวเคยบริหารจัดการมา อย่างไรก็ตาม เจ้าของธุรกิจครอบครัวยังสามารถดำเนินการได้โดยไม่ละทิ้งค่านิยมของครอบครัวตนเอง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง