การปกป้องทรัพย์สินของครอบครัวที่มีมูลค่าสูง

การปกป้องทรัพย์สินของครอบครัวที่มีมูลค่าสูง

โดย ศศิธร พงศ์อดิศักดิ์

31 สิงหาคม 2566
247 Views

Highlight


  • เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันครอบครัวทั่วโลกมีการเปลี่ยนผ่านมามากกว่า 1 รุ่น หลายครอบครัวเปลี่ยนผ่านมาถึง 3-4 รุ่น ทรัพย์สินที่ครอบครัวสะสมมาก็เพิ่มจำนวนและมูลค่าเช่นกัน นอกจากนี้ ประเภทของทรัพย์สินก็มีความหลากหลายและเป็นที่น่าสนใจ ทั้งนี้ การดูแลรักษาทั้งในด้านสภาพและมูลค่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่าทรัพย์สินเหล่านี้จะถูกส่งต่อ ให้สมาชิกครอบครัวรุ่นถัดไปได้อย่างเหมาะสมและคงมูลค่าหรือสามารถเพิ่มมูลค่าได้

การจัดการทรัพย์สินของครอบครัวที่มีมูลค่าสูงมีหลายประเด็นที่ผู้นำครอบครัวและสมาชิกในครอบครัวต้องพิจารณา ผู้เขียนได้รวบรวมแนวทางปฏิบัติที่สามารถช่วยปกป้องสมาชิกในครอบครัว และทรัพย์สินของครอบครัวตามประเภทของทรัพย์สินที่มักพบดังต่อไปนี้


เครื่องประดับ งานศิลปะ ของเก่าและของมีค่าส่วนตัวอื่นๆ


ทรัพย์สินประเภทนี้มักไม่ได้รับการประกันโดยอัตโนมัติภายใต้นโยบายการประกันที่ครอบครัวมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทรัพย์สินดังกล่าวมีมูลค่าเกินนโยบายการรับประกันโดยทั่วไปกำหนดไว้ ความคุ้มครองความเสี่ยงโดยการจัดให้มีการทำประกันแยกต่างหากเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้ การประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงเป็นประจำ เป็นสิ่งที่สมาชิกในครอบครัวควรทำ เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับความคุ้มครองจากการทำประกันที่เหมาะสมเสมอ


อย่างไรก็ตาม การปกป้องทรัพย์สินเหล่านี้ไม่ควรหยุดอยู่แค่การจัดให้มีกรมธรรม์ประกันภัย สมาชิกในครอบครัวอาจพิจารณาการดำเนินการด้านการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสิ่งของนั้นไม่สามารถหาสิ่งทดแทนได้ เช่น ทรัพย์สินที่เป็นมรดกของครอบครัว เป็นต้น


Best practices:

  • สำหรับสิ่งของที่ไวต่อปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และแสงแดด สมาชิกในครอบครัวต้องดูแลทรัพย์สินดังกล่าวโดยปฏิบัติตามวิธีการในการดูแลทรัพย์สินดังกล่าวนั้นได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าครอบครัวจะรักษามูลค่าทรัพย์สินเหล่านั้นไว้ได้สำหรับสมาชิกครอบครัวรุ่นถัดไป
  • ในด้านความปลอดภัยนั้น สมาชิกในครอบครัวควรพิจารณาเลือกสถานที่ในการจัดเก็บที่เหมาะสม โดยอาจพิจารณาเลือกจัดเก็บสิ่งของมีค่าในห้องนิรภัยของธนาคารหรือจัดเก็บในตู้เซฟหรือห้องนิรภัยภายในบ้าน อย่างไรก็ตาม โต๊ะหัวเตียงในห้องนอน อาจไม่ใช่สถานที่จัดเก็บที่ดีที่สุดสำหรับทรัพย์สินที่มีค่าของสมาชิกในครอบครัวเสมอไป
  • อาจพิจารณาจัดเก็บเอกสารการซื้อ รายงานของนักอัญมณี ใบประเมินมูลค่าทรัพย์สิน และรูปถ่ายของทรัพย์สินแต่ละรายการ เพื่อให้สามารถระบุทั้งรายการและมูลค่าของทรัพย์สินได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีหลายรายการที่คล้ายกัน เช่น ต่างหูเพชรเม็ดเดี่ยวหรือภาพวาดโดยศิลปินคนเดียวกัน เป็นต้น

เรือยอช์ต


จากข้อมูลทรัพย์สินประเภทเรือยอช์ตทั่วโลก พบว่าความสนใจในเรือยอช์ตเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความสนใจและความชื่นชอบการท่องเที่ยวและการผจญภัยในทะเลเพิ่มขึ้น แต่หากการท่องเที่ยวโดยเรือยอช์ตนั้นมาพร้อมกับความเป็นเจ้าของเรือยอช์ต เจ้าของเรือยอช์ตคงสนใจแค่ความสนุกสนานจากการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ความเป็นเจ้าของเรือยอช์ตจะมาพร้อมกับข้อพิจารณาต่างๆ เช่น การจดทะเบียน โครงสร้างความเป็นเจ้าของ การจัดการ การทำประกันภัย และภาษี ตัวอย่างเช่น ในบางประเทศมีการจัดเก็บภาษีภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยที่ใช้กับเรือ/เรือยอช์ต รวมถึงการปรับปรุงหรือการเพิ่มอุปกรณ์เสริมที่ติดตั้งภายหลังก็จะต้องเสียภาษีเช่นกัน


Best practices:

  • ในด้านการพิจารณาโครงสร้างความเป็นเจ้าของเรือยอช์ต หากเรือยอช์ตนั้นถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้บริการเช่า ผู้เขียนอาจแนะนำมีการจัดตั้งบริษัทเพื่อดูแลและเป็นเจ้าของเรือยอช์ตดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการจำกัดความรับผิดตามกฎหมาย
  • หากมีสนธิสัญญาพิเศษทางทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งขึ้นอยู่กับอาณาเขตทางภูมิศาสตร์และการใช้เรือยอช์ตนั้นๆ การจดทะเบียนเรือยอช์ตในเขตเฉพาะอาจมีข้อได้เปรียบมากกว่า
  • ในกรณีที่เรือยอช์ตนั้นมีลูกเรือ เจ้าของเรือยอช์ตต้องทำความเข้าใจและปฏิบัติตามข้อกำหนดการจ้างงานและเงินเดือนของลูกเรือ ทั้งนี้ สมาชิกลูกเรืออาจมาจากประเทศต่างๆ ได้ ดังนั้น การมีบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการดูแลลูกเรืออาจช่วยจัดการกระบวนการดังกล่าวตลอดจนทำให้มั่นใจได้ว่าเจ้าของเรือยอช์ตได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่จำเป็นอย่างเหมาะสม
  • การประกันภัยเรือยอช์ตถือเป็นเรื่องเฉพาะทาง ดังนั้น สมาชิกในครอบครัวควรพิจารณาเลือกผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือและมีชื่อเสียง เมื่อสมาชิกในครอบครัวพิจารณาซื้อเรือยอช์ต ต้องทราบจุดเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ เพื่อให้ทราบจุดเริ่มต้นในการทำประกันและการคุ้มครองที่เหมาะสม

อากาศยาน


การเป็นเจ้าของเครื่องบินส่วนตัวมีประโยชน์มากมาย เช่น ความอุ่นใจที่มีนักบินและช่างเครื่องยนต์ที่คุณรู้จักและไว้วางใจได้ สามารถจัดเตรียมการเดินทางในเวลาอันสั้นได้ ตลอดจนสามารถหลีกเลี่ยงความแออัดในสนามบินสาธารณะ อย่างไรก็ตามการเป็นเจ้าของอากาศยานหรือเครื่องบินส่วนตัวนั้น เจ้าของมีเรื่องที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมเช่นเดียวกับการเป็นเจ้าของเรือยอช์ต กล่าวคือ การเป็นเจ้าของเครื่องบินมาพร้อมกับภาษีฟุ่มเฟือยและข้อควรพิจารณามากมาย


Best practices:

  • เช่นเดียวกับการพิจารณาความเป็นเจ้าของเรือยอช์ต เครื่องบินควรพิจารณาให้อยู่ภายใต้บริษัท เพื่อจำกัดความรับผิดตามกฎหมาย การประกันภัยเครื่องบินก็เช่นกัน ซึ่งการจัดทำประกันทรัพย์สินประเภทเครื่องบินก็เป็นเรื่องเฉพาะไม่ต่างจากเรือยอช์ต จึงควรเลือกผู้ให้บริการที่เชื่อถือได้และมีชื่อเสียง
  • นอกจากนี้ หากสมาชิกครอบครัวมีความต้องการเป็นเจ้าของเครื่องบินส่วนตัว ก็ควรต้องพิจารณาว่าจ้างบริษัทจัดการด้านการบิน เพื่อจัดการเครื่องบินตลอดจนบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงเก็บ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งโรงเก็บเครื่องบินในร่มและกลางแจ้ง ตลอดจนโอกาสในการเช่าเหมาลำเที่ยวบิน การบัญชี และบริการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเชื้อเพลิง การบำรุงรักษาและการดำเนินการเป็นผู้แทน เป็นต้น
  • เจ้าของเครื่องบินยังต้องพิจารณาด้านภาษี ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทั้งเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจและวัตถุประสงค์การใช้ส่วนตัวในแง่ความเป็นเจ้าของอยู่ภายใต้รูปบริษัท เพื่อให้มีการประเมินว่าผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของได้รับประโยชน์สูงสุด

ข้างต้น เป็นตัวอย่างของทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงของครอบครัวบางประเภทเท่านั้น ในสถานการณ์จริงแล้ว ครอบครัวอาจมีทรัพย์สินอีกหลายประเภทที่ต้องพิจารณาในด้านการดูแลรักษาสภาพและมูลค่า สมาชิกครอบครัวควรทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าครอบครัวจะสามารถปกป้องทรัพย์สินและคงมูลค่าไว้เพื่อส่งต่อให้กับลูกหลานได้ไม่ต่างจากการวางแผนการส่งต่อธุรกิจให้กับลูกหลาน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง