ธุรกิจครอบครัวท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง

ธุรกิจครอบครัวท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง

โดย ห้องเรียนผู้ประกอบการ

16 ตุลาคม 2566
767 Views

Highlight


  • ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง เร่งให้ทุกธุรกิจครอบครัวต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แต่การอยู่รอดอย่างเดียวยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด การอยู่รอดนั้นจะต้องยาวนานและยั่งยืนพอที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวมีโอกาสสร้างความมั่งคั่งและเติบโต

ธุรกิจครอบครัวเป็นรูปแบบขององค์กรทางเศรษฐกิจที่เก่าแก่ที่สุดและพบได้บ่อยที่สุด ตั้งแต่ร้านค้าหัวมุมไปจนถึงองค์กรที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือ บริษัทข้ามชาติ เป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจในทุกภูมิภาค สำหรับกิจการในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นธุรกิจครอบครัว และกิจการเหล่านี้ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ


ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมกับพันธมิตรจัดสัมมนาใหญ่ด้านธุรกิจครอบครัวครั้งแรกของตลาดหลักทรัพย์ฯ “The 1st SET International Conference on Family Business: Family Business in the Changing World” เมื่อ 3-4 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมาโดยบทความทั้ง 4 ตอนเป็นการสรุปเนื้อหา ดังนี้


ตอนที่ 1 ธุรกิจครอบครัวท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง

ตอนที่ 2 การวางแผนการเปลี่ยนผ่านเพื่อสืบทอดธุรกิจครอบครัว

ตอนที่ 3 การสร้างความมั่งคั่งของธุรกิจครอบครัว

ตอนที่ 4 ความยั่งยืนกับการปรับตัวของธุรกิจครอบครัว


จากงานสัมมนา The 1st SET International Conference on Family Business ภายใต้ Theme “Family Business in the Changing World”  Professor John A. Davis ประธานและผู้ก่อตั้งสถาบัน  Cambridge Family Enterprise Group  และผู้อำนวยการโปรแกรม Family Enterprise  มหาวิทยาลัย MIT กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ The Future of Family Enterprise and How They Can be Successful in New World Order”  โดยสรุปว่า


ธุรกิจครอบครัวในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่ายุโรป อเมริกา และเอเชีย ล้วนเจอปัญหาเดียวกัน  คือการไม่สามารถส่งผ่านธุรกิจไปยังรุ่นที่ 3  โดยรุ่นที่ 1 จะเป็นการสร้างธุรกิจ รุ่นที่ 2 เป็นการต่อยอดธุรกิจ และเมื่อถึงส่งต่อไปยังรุ่นที่ 3 มักจะเกิดปัญหาขึ้น จึงเกิดคำถามสำคัญกับธุรกิจครอบครัวว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่นได้


ปัญหาสำคัญของธุรกิจครอบครัวคือ การขาดแคลนนวัตกรรมที่รองรับการเคลื่อนย้ายการเติบโตไปสู่ธุรกิจใหม่ ซึ่งจุดนี้คนรุ่นก่อนหรือรุ่นผู้ก่อตั้ง จะต้องยอมรับว่าบางสถานการณ์คนรุ่นปัจจุบันจะเข้าใจสภาวะแวดล้อมของธุรกิจและตลาดได้ดีกว่า ธุรกิจเดิมที่เริ่มจะไม่สร้างมูลค่า ก็ต้องพร้อมยอมตัด ไม่ผูกพันหรือยึดติดกับความสำเร็จแบบเดิม หรือธุรกิจเดิม ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ธุรกิจ Cox ย้ายจากธุรกิจสิ่งพิมพ์ไปสู่เทเลคอม และก้าวไปสู่ยุคดิจิทัล แม้จะต้องไปเริ่มต้นในธุรกิจที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ แต่สามารถปฏิวัติธุรกิจไปสู่โอกาสใหม่ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการยอมปล่อยวางธุรกิจเก่าและหันไปลงทุนในธุรกิจใหม่ได้ทันเวลา

 

article304-2

 

3 องค์ประกอบที่สนับสนุนให้ธุรกิจครอบครัวสามารถสานต่อความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่นได้ คือ

 

1. การกำหนดทิศทางการเติบโตของธุรกิจ (Growth) เข้าใจเทรนด์และสร้างโอกาสทางการตลาดให้มากขึ้น  เพื่อสร้างการเติบโตและความมั่นคงทางการเงิน

 

2. บุคลากร ทั้งที่เป็นบุคคลในครอบครัวและการจ้างผู้บริหารมืออาชีพที่ไม่ใช่คนในครอบครัว (Talent) ควรมีคนเก่งอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญ เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ กล้านำธุรกิจไปสู่การเปลี่ยนแปลง

 

3. การเป็นหนึ่งเดียวขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน (Unity)  เข้าใจภารกิจของครอบครัว มีกฎระเบียบนโยบายที่ชัดเจน

 

สำหรับธุรกิจในประเทศไทย ได้มีการแชร์มุมมองของการดำเนินธุรกิจครอบครัวในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจ ผ่านการเสวนาหัวข้อ Thai Family Businesses:  Challenges & Opportunities โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ

 

1. คุณเสถียร  เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

 

2. ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ กรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

3. ดร. กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ศาสตราจารย์  University of California San Diego

 

การเสวนาในหัวข้อดังกล่าว สรุปได้ว่า ธุรกิจครอบครัวควรให้ทายาทมีโอกาสได้คิดได้ทำสิ่งใหม่ๆ และเป็นการทำร่วมกัน เรียนรู้ไปด้วยกัน ไม่ใช่ทำแต่สิ่งเดิมๆ ที่รุ่นก่อนทำไว้ และไม่ควรให้ทายาททำธุรกิจแข่งกันโดยส่วนใหญ่เมื่อเกิดการแข่งขันทางธุรกิจระหว่างทายาท สิ่งที่ตามมาคือ ความขัดแย้งภายในครอบครัว (Conflict) ถ้าอยากให้ใครทำอะไรควรใช้การบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมา คือ การมีกฎ กติกาที่ชัดเจน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบและมีการกำหนดผลประโยชน์ให้มีความชัดเจน นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือความสุข ความรักในครอบครัว แล้วเรื่องธุรกิจจะตามมาเอง ให้ทายาทได้เรียนรู้กระบวนการคิด การตัดสินใจ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการทำงานจริง

 

การสืบทอดตำแหน่งทำอย่างไรให้คนทำงานภายในองค์กรยอมรับผู้บริหารรุ่นต่อไป ให้ทายาทพิสูจน์ความสามารถของตนเองจากการทำงานในองค์กรให้เป็นที่ยอมรับของพนักงาน “คิดร่วมกัน รับผิดชอบร่วมกัน”  ในฐานะผู้บริหารรุ่นต่อไป ต้องสามารถถามความเห็นเพื่อนร่วมงานว่าการทำงานมีความเหมาะสมหรือไม่ หากได้รับ Feedback ต้องให้ความสำคัญ และลงมือปรับปรุง พัฒนาการทำงานให้ดียิ่งขึ้น แต่หากกิจการที่ไม่มีผู้สืบทอด ก็พร้อมปล่อยให้มืออาชีพเข้ามาบริหาร และเติบโตไปพร้อมกับองค์กร เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

 

การนำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้มีโครงสร้างการถือหุ้น การแบ่งผลประโยชน์ที่ชัดเจนช่วยลดปัญหาความขัดแย้งรวมถึงการมีกฎเกณฑ์ มีการตรวจสอบช่วยให้การดำเนินงานมีความโปร่งใส ไม่ทำเรื่องผิดกฎหมาย เรื่องที่เป็น Grey Area ส่วนเรื่องผลตอบแทนมากน้อยก็แบ่งกันตามสัดส่วน สิ่งที่คนรุ่นก่อนควรปลูกฝังทายาทธุรกิจคือ การบริหารด้วยหลักธรรมะด้วยความเมตตา แบ่งปันความสุขจากครอบครัวไปทำประโยชน์เพื่อสังคม สอดคล้องกับแนวทาง ESG  ซึ่งเป็นหลักคิดที่แท้จริงของธุรกิจครอบครัว ที่จะทำให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 

ในตอนที่ 2 จะเป็นการสรุปในเรื่อง การวางแผนการเปลี่ยนผ่านเพื่อสืบทอดธุรกิจครอบครัว ซึ่งเป็นการวางแผนระยะยาวเตรียมพร้อมส่งมอบมรดกทางความคิด เพื่อการสืบทอดธุรกิจครอบครัวให้ยืนยาว

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง