โดย ห้องเรียนผู้ประกอบการ
Highlight
จากบทความตอนที่ 3 การบริหารจัดการความมั่งคั่งของธุรกิจครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่มักก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตของธุรกิจครอบครัว หากไม่ได้เตรียมการไว้อย่างดีตั้งแต่ต้น
ในส่วนสุดท้ายเป็นส่วนที่รวมเนื้อหาใน Theme “ESG Integration for Family Business” ประกอบด้วยการบรรยายหัวข้อ ”Sustainable Growth for Family Business: How to? โดย คุณอนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน มีเนื้อหาโดยสรุปว่า
โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้คุณค่าและค่านิยมบางอย่างเปลี่ยนแปลงไปด้วย กำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว หากไม่ได้สร้างความยั่งยืนและไม่คำนึงถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง อาจไม่ได้รับการยอมรับ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น กระทบต่อการทำธุรกิจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานสากลกับวัฒนธรรม การทำแคมเปญที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อการกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจทั้งสิ้น
สำหรับธุรกิจครอบครัว การมีธรรมนูญครอบครัว ค่านิยมของครอบครัวเปรียบได้กับธรรมาภิบาลของครอบครัว (Governance) ซี่งสามารถนำมาเป็นแนวทาง (Guideline) ในการดำเนินธุรกิจได้ ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ธุรกิจครอบครัวจึงควรมีการปรับการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสและลดความเสี่ยง ผู้กำหนดนโยบายจะต้องมองให้ออกว่าสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นความเสี่ยงหรือโอกาส บางอย่างเป็นสัญญาณอ่อนๆ ที่เริ่มมาแล้ว ต้องจับตามอง ค้นคิดพัฒนาเพื่อรอจังหวะจนสถานการณ์ดังกล่าวนั้นกลายเป็น “กระแส” และเป็น “Trend” ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคในระยะยาว หากธุรกิจครอบครัวซึ่งเป็น Supply chain ไม่ปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับ Trend ดังกล่าวจะกลายเป็นความเสี่ยงในการทำธุรกิจ หากบริหารจัดการได้ดีปรับตัวทัน จะเป็นโอกาสในการเติบโตได้ต่อไป
สำหรับธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยนั้น ได้มีการแชร์มุมมองของผลกระทบของ ESG ต่อธุรกิจครอบครัว ผ่านการเสวนาหัวข้อ “Thai Family Business Impact of ESG” โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ
การเสวนาในหัวข้อดังกล่าว สรุปได้ว่า ในธุรกิจครอบครัวหรือธุรกิจที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถเริ่มทำได้โดยตัวอย่างจาก บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) SAT นั้น มีค่านิยมของครอบครัว “คุณธรรมและความกตัญญู นำไปสู่ความรับผิดชอบต่อสังคม” ร่วมกับแนวทาง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” จนนำไปสู่ “3 สมบูรณ์ สร้างสมดุล” คือ “ฅน สมบูรณ์ ชุมชน สมบูรณ์ ธุรกิจ สมบูรณ์” โดยเริ่มต้นแนวทาง ESG (Environment, Social and Governance) ในด้านสังคมก่อน ช่วงแรก SAT ทำเป็นโครงการทำประโยชน์เพื่อสังคม (Corporate Social Responsibilty) CSR ต่อมาจึงพัฒนาโครงการ CSR อย่างต่อเนื่องและทำให้ยั่งยืนด้วยการทำเป็นระบบและนำไปเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กร สำหรับ บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) TEGH นั้น เริ่มจากสิ่งสำคัญใกล้ตัวก่อนและเตรียมการในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเน้นที่การพัฒนาระบบภายในองค์กรก่อน และมองไปถึง Supply Chain ว่าต้องการความช่วยเหลือในด้านใด เป็นการเปลี่ยนแนวคิดเดิมจากการมองตัวเองเป็นผู้ผลิตที่ดีที่สุด สู่การเป็นการพาร์ทเนอร์เป็นพันธมิตรที่สร้างความยั่งยืนให้แก่ลูกค้า
การสัมมนาครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือส่งเสริมศักยภาพธุรกิจครอบครัวไทย โดยมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของธุรกิจครอบครัว และร่วมกันขับเคลื่อนระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาธุรกิจครอบครัวไปด้วยกัน เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวไทยเข้มแข็งสู่การเป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจต่อไป