ทำอย่างไรถ้าเกิดว่า..สตาร์ทอัพไปไม่ถึงฝัน

ทำอย่างไรถ้าเกิดว่า..สตาร์ทอัพไปไม่ถึงฝัน

โดย ดร.ธนรรภรณ์ เศรษฐ์จินดา

5 มีนาคม 2567
606 Views

Highlight


  • ในโลกสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น การเลิกกิจการเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรการสร้างธุรกิจจากเทคโนโลยีชั้นสูง ถึงแม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น นักลงทุนสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นและผู้ประกอบการมืออาชีพมองว่าการเลิกกิจการควรผ่านกระบวนการวิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจร่วมกันระหว่างผู้ก่อตั้งและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เช่นเดียวกับแผนธุรกิจอื่นๆ ซึ่งการเลิกกิจการอย่างรอบคอบจะช่วยให้ผู้ประกอบการจำกัดความสูญเสีย ชดเชยภาระผูกพันต่างๆ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในภายหลัง อีกทั้งยังเป็นประสบการณ์ที่อาจจะนำมาซึ่งโอกาสการทำธุรกิจต่อไปในอนาคต

แน่นอนว่าผู้ประกอบการทุกคนเริ่มต้นธุรกิจด้วยเป้าหมายที่จะเติบโตและประสบความสำเร็จทางใดทางหนึ่ง แต่ในโลกของสตาร์ทอัพโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่นำเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) จากเพื่อนำไปต่อยอดทางธุรกิจ เราอาจพบว่าสำหรับสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นนั้น การเลิกกิจการเกิดขึ้นบ่อยครั้ง กว่าการนำบริษัทเข้าสู่กระบวนการ IPO หรือ Trade Sales เสียอีก

 

การทำความเข้าใจกระบวนการเลิกกิจการ จะช่วยให้ผู้ประกอบการมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ เข้าใจลางบอกเหตุ วิธีการรับมือเมื่อธุรกิจไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง พิจารณามุมมองและเหตุผลของนักลงทุนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มองว่าการเลิกธุรกิจเป็นเพียงแค่เหตุการณ์หนึ่งในวัฏจักรของการทำธุรกิจ เป็นทางเลือกหนึ่งในการลดความสูญเสีย และหากสามารถบริหารจัดการได้ทันท่วงที ก็สามารถนำทรัพยากรที่ยังคงมีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางเลือกอื่นที่เหมาะสม

 

โดยเนื้อหาในบทความนี้เรียบเรียงใจความสำคัญจาก "What to Do if your Start-up Fails" จากหนังสือ Seed-Stage Venture Investing: An Insider’s Guide to Start-Ups for Scientists, Engineers, and Investors* ซึ่งผู้แต่งเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารกองทุน Convergent Ventures กองทุนสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นมุ่งเน้นการลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงที่มาจากการต่อยอดโครงการวิจัยทางวิชาการ (Spin-off) จึงได้ถอดบทเรียนจากการทำงานร่วมกับนักวิชาการที่ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด รวมถึงความท้าทายรอบด้านที่ต้องเผชิญ ซึ่งในขณะที่เขียนหนังสือเล่มนี้ ผู้แต่งได้ผ่านกระบวนการเลิกกิจการธุรกิจที่ร่วมลงทุนไป 3 บริษัท จึงได้ฝากข้อคิดต่างๆ เช่น ข้อสังเกตสัญญาณอันตราย มุมมองและคำแนะนำเมื่อจำเป็นต้องเลิกกิจการที่นำมาสรุปไว้ใน 3 ประเด็นดังนี้

 

1. ชีพจรธุรกิจเต้นช้าลง สัญญาณเตือนภัย วันสุดท้ายอาจมาถึง

 

โดยมากการปิดตัวลงของธุรกิจมักไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อถึงคราวหลังชนฝา ประเภทเงินหมดหน้าตัก โดยส่วนใหญ่มักพบว่า ธุรกิจมักจะเผชิญสัญญาณชีพจรทางธุรกิจที่เต้นช้าลงระยะหนึ่ง ซึ่งในช่วงแรกผู้ประกอบการ จะเริ่มรู้สึกว่าสถานการณ์แวดล้อมต่างๆ เริ่มไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีล่าช้า ไม่มี Prototype หรือไม่สามารถบรรลุ Milestones ที่ตั้งไว้ หรือการเจรจาธุรกิจที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีกไม่มีทีท่าว่าจะมีข้อสรุปภายในระยะเวลาอันใกล้ รวมถึงการขอทุนสนับสนุนหรือการระดมทุนที่ไม่ประสบความสำเร็จ และที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ปริมาณเงินสดคงเหลือในบริษัทสามารถต่อลมหายใจธุรกิจไปได้ไม่ถึง 8 เดือน เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ มักจะเป็นสัญญาณเตือนภัยสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่จะนำไปสู่การทบทวนแผนธุรกิจที่ผู้ประกอบการและทีมงานจะใช้คำถาม "ถ้าเกิดว่า...." เพื่อจำลองสถานการณ์ต่างๆ เตรียมขั้นตอนการปรับธุรกิจ ซึ่งการเลิกกิจการอาจจะเป็นทางเลือกหนึ่ง ณ เวลานั้น

 

2. พิจารณาด้วยเหตุผล และตัดสินใจร่วมกับ Key man ท่านอื่นๆ

 

ถึงแม้ว่าสถานการณ์อาจจะดูไม่เป็นใจนัก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การปิดธุรกิจจะเป็นทางเลือกที่ผู้ประกอบการสามารถตัดสินใจโดยลำพังและลงมือทำได้ทันที เมื่อตกอยู่ภายใต้สถานการณ์กดดัน ผู้ประกอบการอาจจะกำลังเผชิญกับสภาวะทางอารมณ์ที่เกิดจากความผิดหวัง รวมถึงอคติทางจิตวิทยาอื่นๆ ที่อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด ดังนั้นจึงควรวิเคราะห์สถานการณ์ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจอื่นๆ และอาจใช้ตัวช่วยต่างๆ ดังนี้
  • ปรึกษา Key man และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น Board of Directors ที่ปรึกษา หรือแม้แต่นักลงทุนระยะเริ่มต้น ที่ผ่านประสบการณ์ลักษณะคล้ายกันและอาจมีคำแนะนำที่ช่วยให้ธุรกิจรอดพ้นวิกฤตไปได้ การปรึกษาบอร์ดบริหาร หรือนักลงทุนยังช่วยส่งสัญญาณล่วงหน้าให้พวกเขาเหล่านั้นได้เตรียมพร้อมในการสนับสนุนการดำเนินการต่างๆ รวมถึงการลงมติตัดสินใจเลิกกิจการในภายหลัง
  • พิจารณาทางเลือกทางธุรกิจอื่นๆ ที่มี เช่นการลดขนาดธุรกิจ ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ขายอุปกรณ์ หาช่องทางสร้างรายได้ ขายธุรกิจหรือควบรวมกับคู่แข่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจะตกลงใช้แผนการแบบไหน ผู้ประกอบการ ทีมงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องควรตกลงเป้าหมายการดำเนินการตามแผนงานเหล่านั้นให้ชัดเจน มีปัจจัยชี้วัดความอยู่รอด ที่หากว่าปัจจัยนั้นเกิดขึ้นให้ถือว่าถึงเวลา Pull the Plug หรือว่าเลิกกิจการนั่นเอง
  • พิจารณา Alternative Futures นอกเหนือจากการวิเคราะห์ทางเลือกธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบการควรวางแผนอนาคตของตัวเองและครอบครัว เมื่อวิเคราะห์จากมุมมองนี้อาจพบว่าการเลิกกิจการอาจจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถ move on ได้ง่ายขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็นำเวลาที่จะต้องกังวลกับธุรกิจ ไปเริ่มต้นเส้นทางอื่นๆ โดยระลึกไว้ว่าการเลิกกิจการไม่ใช่จุดสิ้นสุดของธุรกิจ แต่ถือเป็นประสบการณ์และโอกาสการเรียนรู้แบบหนึ่งที่เสริมความแข็งแกร่งและอาจนำมาสู่โอกาสอื่นๆ ในอนาคต
 
หากดำเนินการตามแผนการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินทุกๆ อย่างแล้วยังไม่ดีขึ้น หรือไม่สามารถบรรลุเป้าหมายความอยู่รอดที่ตกลงกันไว้ ผู้ประกอบการควรมองสถานการณ์ตามความเป็นจริง ทำความเข้าใจข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลิกธุรกิจ ภาระจากสัญญาต่างๆ นำข้อเสนอดังกล่าวปรึกษา Board และนักลงทุน เพื่อเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจร่วมกัน การดำเนินตามแผนการเลิกกิจการจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อทุกฝ่ายลงมติเป็นเอกฉันท์

 

3. ดำเนินการอย่างรอบคอบ เตรียมเงินสดให้พอ

 

ในการวางแผนขั้นตอนการเลิกกิจการ ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาภาระผูกพันทางธุรกิจต่างๆ และข้อกำหนดทางกฎหมายดังนี้
  • เงื่อนไขและภาระผูกพันตามสัญญาต่างๆ อาทิ เงื่อนไขการรับทุนสนับสนุน สัญญาจ้างงาน สัญญาเช่าพื้นที่ หรือ สัญญาเช่าอุปกรณ์ ซึ่งสัญญาต่างๆ นี้ มักมีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการเลิกสัญญาเช่น การบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร การจ่ายเงินชดเชย หรือค่าเสียเวลา รวมถึงเงื่อนไขในการคืนพื้นที่หรืออุปกรณ์เป็นต้น
  • ขั้นตอนการชำระบัญชี และภาษีที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการควรตรวจสอบขั้นตอนการจดทะเบียนเลิกกิจการ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งมักจะมีขั้นตอนทางเอกสารในการจดทะเบียนเลิกบริษัท การส่งงบทางการเงินเพื่อชำระภาษีที่เกี่ยวข้อง การสะสางทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัท ซึ่งจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับค่าธรรมเนียม ขั้นตอนการดำเนินการ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการชำระบัญชี

 

เมื่อตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดดังนี้ ผู้ประกอบการและทีมงานจะสามารถประมาณการค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น กำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม ให้ข้อมูลและประสานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย อย่างใกล้ชิด เพื่อจัดการภารกิจที่คั่งค้างให้เรียบร้อย ที่สำคัญคือการเตรียมสำรองเงินสดให้พอกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างและภายหลังจากวันเลิกกิจการ

 

เพื่อให้เข้าใจมุมมองของผู้แต่งมากขึ้น ผู้เขียนได้สรุปกรณีศึกษาตัวอย่างทั้ง 3 บริษัทโดยมีรายละเอียดดังนี้

 

กรณีตัวอย่างสาเหตุที่เลิกกิจการ

Neurion Pharmaceuticals
เชี่ยวชาญด้าน modular neurobiology

โครงการวิจัยไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย ตามความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตยาที่ให้เงินทุนสนับสนุน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ และตัดสินใจที่จะไม่ดำเนินโครงการความร่วมมือต่อไป ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัทไม่ได้รับการอนุมัติเงินทุนสนับสนุนโครงการวิจัยระยะที่ 2 จึงเป็นเหตุให้บริษัทไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะพัฒนาความเชี่ยวชาญด้าน medicinal neurochemistry ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจต่อไป

ถึงแม้ว่ากองทุนได้ตัดสินใจเลิกกิจการในขณะที่บริษัทมีเงินสดเพียงพอที่จะชำระค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ไม่พอสำหรับการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้ Seed Investor

ORFID Corp.
พัฒนา Organic Transistors สำหรับ OLED ที่มีอายุการใช้งาน 10,000 ชั่วโมง

ไม่สามารถพัฒนา Prototype จากเทคโนโลยี ที่จดสิทธิบัตรไว้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะ บริษัทใช้ศูนย์วิจัยที่มหาวิทยาลัยภายใต้เงินสนับสนุนของมหาวิทยาลัย ถึงแม้ว่าวิธีนี้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายก็จริง แต่ศูนย์วิจัยและผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับงานวิจัยทางวิชาการมากกว่า งานพัฒนาเทคโนโลยีของ ORFID จึงล่าช้า ทำให้ไม่สามารถบรรลุการเจรจาความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรทางธุรกิจ หรือระดมทุนก้อนใหม่ได้

Proteio
Proof of Principle Experiment – Protein Quantifying Technology Platform

บริษัทอยู่ในระยะเริ่มต้น และอยู่ระหว่างกระบวนการขอทุนสนับสนุนโครงการ ในกรณีนี้ นักวิจัยเทคโนโลยีนี้ ไม่ได้กระตือรือล้นในการต่อยอดทางธุรกิจ รวมถึงผลการประเมินจากหน่วยงานพิจารณาทุนสนับสนุนมองว่า การต่อยอดเทคโนโลยีทางธุรกิจมีโอกาสเป็นไปได้ต่ำ เมื่อเทียบกับสองบริษัทก่อนหน้านี้กองทุนใช้เวลาตัดสินใจเลิกธุรกิจไม่นาน และดำเนินการในขณะที่มีเงินสดเพียงพอในการชำระบัญชีเลิกกิจการ

 

ทั้งหมดนี้ เป็นบทสรุปของแนวทางการวิเคราะห์และรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่มีผู้ประกอบการ หรือนักลงทุนท่านไหนต้องการให้เกิดขึ้น หากว่าการเลิกกิจการเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับธุรกิจ และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ก็ควรดำเนินการด้วยความรับผิดชอบ เมื่อวันเวลาผ่านไป ผู้ประกอบการอาจนึกขอบคุณบทเรียนที่ได้รับจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น และโอกาสที่ท่านได้รับเพื่อเริ่มก้าวต่อๆ ไป

 

*สำหรับท่านที่สนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมสามารถยืมหนังสือเล่มนี้ได้ที่ ห้องสมุดมารวย ในหมวด IE Entrepreneur Finance E00067 ENG HG4751. R63 2011

Robbins, W.L., & Lasch, J.G. (2011). Seed-Stage Venture Investing: An Insider’s Guide to Start-Ups for Scientists, Engineers, and Investors (2nd Edition). United States of America: Thomson Reuters/Aspatore

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง