กลยุทธ์การลงทุนของกองทุน Sequoia และ Vertex ในช่วงวิกฤตโควิด-19

กลยุทธ์การลงทุนของกองทุน Sequoia และ Vertex ในช่วงวิกฤตโควิด-19

25 พฤษภาคม 2563บทความ2,000

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • เรียนรู้มุมมองที่น่าสนใจต่อภาวะการลงทุนทั้งเชิงบวกและเชิงลบในสถานการณ์โควิด-19 จากผู้ดูแลกองทุนระดับเอเชียและระดับโลก รวมถึงแนวทางการเลือกนักลงทุน และประเด็นการประเมินมูลค่าธุรกิจ (Valuation) ที่มีการปรับตัวลดลง  



เวลาในการอ่าน 4  นาที







DealStreetAsia (บริษัทสื่อที่ให้ข้อมูลธุรกิจการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย) ได้จัดกิจกรรมเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “กลยุทธ์การลงทุนในช่วงวิกฤตโควิด-19” เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 โดยเชิญ Abheek Anand Managing Director กองทุน Sequoia Capital ที่ดูแลการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแฟซิฟิกและอินเดีย ร่วมด้วย Chua Kee Lock CEO Vertex Holdings บริษัทลูกของ Temasak สิงคโปร์ รับผิดชอบการลงทุนในสตาร์ทอัพทั่วโลก และมี Joji Thomas Philip บรรณาธิการ DealStreetAsia เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งวิทยากรทั้งสองท่านได้แบ่งปันมุมมองที่น่าสนใจต่อภาวะการลงทุนทั้งเชิงบวกและเชิงลบ รวมถึงฝากข้อคิดที่น่าสนใจเรื่องการเลือกนักลงทุน และ Valuation โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้




  • การดำเนินงานของกองทุน Sequoia และ Vertex ในช่วงที่ผ่านมา


  • การทำงานของกองทุนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร


  • บรรยากาศการลงทุนในภาวะวิกฤต


  • ภาวะการลงทุนและโอกาสในอนาคต





การดำเนินงานของกองทุน Sequoia และ Vertex ในช่วงที่ผ่านมา



Sequoia เน้นการดำเนินธุรกิจในช่วงวิกฤตออกเป็นสองส่วน อย่างแรกคือการค้นหาโอกาสการลงทุนแบบจริงจัง (Actively) โดยตั้งข้อสังเกตว่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ทำให้ธุรกิจที่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งมีความโดดเด่นมาก ซึ่งยังคงดำเนินการพิจารณาการลงทุนอย่างต่อเนื่องและจะมีการประกาศการร่วมลงทุนเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ นอกจากนั้น Sequoia ยังได้จัดโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพใน Seed Stage ภายใต้โครงการ Surge ซึ่งในปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดกิจกรรมผ่านออนไลน์ ซึ่งผลที่ได้รับค่อนข้างน่าพอใจในประสิทธิภาพของการจัดงานแม้ว่าจะเป็นรูปแบบออนไลน์



การดำเนินการในส่วนที่สองเกี่ยวข้องกับ การให้คำแนะนำและสนับสนุนสตาร์ทอัพที่อยู่ในกลุ่มลงทุน (Portfolio Companies) ในฐานะที่เป็นหนึ่งในกรรมการ Board ทาง Sequoia ให้ความสำคัญกับการให้คำแนะนำสตาร์ทอัพอย่างใกล้ชิด ในด้านต่างๆ ทั้งการให้ข้อมูลจากสำนักงาน Sequoia ในประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นต่อธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงินหรือด้านกลยุทธ์ เป็นต้น



Vertex มีสำนักงานที่ตั้งอยู่ต่างประเทศและในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งดำเนินการตามปกติ ทั้งด้านการติดตามผลการดำเนินงาน การทำรายงานต่างๆ หรือกระบวนการ Capital Call ผ่าน WFH รวมถึงการใช้เวลาส่วนใหญ่ ให้คำแนะนำ Portfolio Companies ในส่วนการพิจารณาโอกาสการลงทุน Vertex ให้ความสำคัญกับกระบวนการลงทุนที่ค่อนข้าง Selective และเน้นพิจารณาธุรกิจที่ทางกองทุนได้รับคำแนะนำจากเครือข่าย หรือทำงานร่วมกันมาแล้วสักระยะหนึ่ง บริษัทยังคงเชื่อว่าในช่วงวิกฤตมีโอกาสการลงทุนมากมาย แม้ว่านักลงทุนบางส่วนจะมีการถอนตัวจากการลงทุนในภูมิภาค เช่น ในกรณีการแก้ไขกฎหมายการลงทุนในประเทศอินเดีย ที่กำหนดให้การลงทุนในอินเดีย โดยนักลงทุนหรือบริษัทจากประเทศจีนจะต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลก่อน เป็นต้น



การทำงานของกองทุนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร



WFH ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางข้ามประเทศ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานบางอย่าง เช่นการเข้าร่วมประชุมกับสตาร์ทอัพเพื่อพิจารณาการลงทุน การให้คำแนะนำและช่วยเหลือบริษัทที่อยู่ในพอร์ตลงทุน หรือประสานงานกับทีมงานที่อยู่กันคนละประเทศ ในสถานการณ์นี้ นักลงทุน VC ต่างก็ต้องปรับขั้นตอนการพิจารณาการลงทุน และขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด (Due Diligence) จากที่ให้ความสำคัญกับการพบปะพูดคุยกับผู้ก่อตั้งในโอกาสต่างๆ มาเป็นการดำเนินการในลักษณะเดียวกันผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงการตรวจสอบข้อมูลผ่านช่องทางอื่นๆ ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีความกังวลต่อ กระบวนการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด กับการไม่ได้พบเจอกัน โดย Abheek ให้ความเห็นว่า การตรวจสอบสถานที่สำหรับเทคสตาร์ทอัพ อาจจะมีความจำเป็นน้อยกว่าธุรกิจรูปแบบอื่นๆ เพราะขั้นตอน Due Diligence หลายๆ องค์ประกอบ ยังสามารถดำเนินการผ่านออนไลน์ได้ เช่น การสัมภาษณ์ลูกค้าหรือคู่ค้า การตรวจ Prototype ซึ่งทีมงาน Sequoia ใช้เวลาและให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับอย่างละเอียด แม้ว่าจะกระทำผ่านออนไลน์ ก็มีความเข้มงวดตามมาตรฐาน




บรรยากาศการลงทุนในภาวะวิกฤต



นักลงทุน VC ยังคงมุ่งเฟ้นหา Disruptive เทคสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการเติบโต มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งรวมถึง มีศักยภาพในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งนั่นครอบคลุมถึง Path to Profitability ที่ชัดเจน ดังนั้นนักลงทุนจะให้ความสำคัญกับการพิจารณาและติดตาม ตัวชี้วัดที่บ่งชี้ความยั่งยืนของการดำเนินงาน เช่น Net Revenue Unit Economics มากกว่าจะให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดที่บ่งชี้ถึงอัตราการเติบโตเพียงอย่างเดียว ซึ่งในแวดวงการลงทุน VC ได้ให้คำนิยามการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ว่า Flight to Quality ที่หมายถึง การพิจารณาคัดเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีคุณภาพนั้น สำคัญกว่าจำนวนบริษัทที่จะสนับสนุนเงินลงทุน วิทยากรย้ำกับประเด็นนี้ไว้ว่า หมดเวลาของแนวคิดแบบ Growth at all Cost หรือ Burn-Baby-Burn ลงแล้ว



การประเมินมูลค่าธุรกิจ (Valuation) ที่ปรับตัวลดลงในภาพรวม ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเจรจาเงินลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีพื้นฐานทางธุรกิจที่ดีและมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ดังตัวอย่างการลงทุนของ Sequoia Capital ใน Series B กับ Kopi Kanangan Coffee Chain สัญชาติอินโดเซีย หรือการลงทุนของ Vertex Holdings ใน Series D ของ M17  Live Streaming Entertainment จากไต้หวัน โดยการเข้าร่วมทุนดังกล่าว ตั้งอยู่บนพื้นฐาน Valuation ตามที่เจรจากันก่อนหน้าวิกฤตและไม่ได้ปรับตัวลดลงแต่อย่างใด ซึ่งในประเด็นเกี่ยวกับ Valuation วิทยากรทั้งสอง ท่านฝากไว้ว่า นักลงทุนที่มีประสบการณ์จะลงทุนตามที่เหมาะสม และไม่ได้ใช้วิกฤตเป็นปัจจัยในการกด Valuation ลง ซึ่งภาวะที่เกิดขึ้นนี้อยากให้มองว่าเป็นการปรับฐานของ Valuation ที่ได้เพิ่มขึ้นไปจนถึงระดับที่สูงเกินความจริง ดังนั้นผู้ประกอบการควรมุ่งเน้นการสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่ง เพราะธุรกิจที่ดีย่อมได้รับความสนใจจากนักลงทุน นอกจากนี้ การสร้างธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งให้ประสบความสำเร็จนั้น ใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 7 -10 ปี ซึ่งในระหว่างนั้นมูลค่าธุรกิจอาจจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามวงจรธุรกิจ ดังนั้นหากพิจารณามูลค่าธุรกิจในระยะยาวแล้ว ความแตกต่างใน Valuation จึงไม่ส่งผลต่อมูลค่าธุรกิจในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด ดังนั้นผู้ประกอบการไม่ควรควรกังวลกับ Valuation มากจนเกินไป



กรณีเหตุการณ์การยกเลิก Term Sheet หรือ ขอเจรจา Term Sheet หลังจากที่ได้ลงนามไปเรียบร้อย (Re-negotiate) ที่เกิดขึ้นจริงนั้น วิทยากรทั้งสองท่านกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การยกเลิกหรือการขอเจรจา Term Sheet หลังจากบรรลุข้อตกลงไปแล้ว ไม่ใช่วิถีการทำงานของนักลงทุน VC สถาบันที่มีประสบการณ์และอยู่ในแวดวงการลงทุนมายาวนาน (Vintage VC)  ซึ่งนักลงทุน VC กลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับการรักษาชื่อเสียงมาเป็นอันดับแรก และย้ำถึงผู้ประกอบการว่า ให้ใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นบทเรียนในการเลือก The Right Investor แทนที่จะพิจารณาจาก Valuation สูงเพียงอย่างเดียว เพราะนักลงทุนบางกลุ่มที่สามารถร่วมลงทุนด้วย Valuation ที่สูงเกินพื้นฐานธุรกิจนั้น อาจจะไม่ใช่นักลงทุนที่สามารถอยู่เคียงข้างในยามวิกฤตได้



ภาวะการลงทุนและโอกาสในอนาคต



เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการชะลอตัวเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายๆ ด้าน รวมถึงสถานการณ์การลงทุนที่คาดว่า จะเผชิญความท้าทายใน 6 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม วิกฤตโควิดมีส่วนสนับสนุนภาวะการลงทุนในเทคสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะการเร่งอัตราการยอมรับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในช่วงมาตรการปิดเมือง อาทิ EdTech Home Entertainment Remote Working ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าว นอกจากจะทำให้เกิดการ Disruption และสร้างธุรกิจ Vertical ใหม่ๆ ในภาคอุตสาหกรรม ยังเป็นปัจจัยผลักดันภาคธุรกิจรวมถึงองค์กรขนาดใหญ่ ในการปรับรูปแบบธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีเป็นกลไกขับเคลื่อนในอนาคต นอกจากนี้ การฟื้นตัวของดัชนี NASDAQ กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการเกิดวิกฤต ยังสะท้อนถึงความสนใจของนักลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในตลาดทุน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสนับสนุนการร่วมทุนในเทคสตาร์ทอัพ อีกด้วย



วิทยากรทั้งสองท่าน เชื่อว่า วิกฤตคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการณ์ที่สามารถมองเห็นโอกาสในการใช้นวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายและ Disruption ที่เกิดขึ้น จะได้รับประโยชน์จากภาวะการชะลอตัวที่ทำให้การแข่งขันไม่ได้ดุเดือดและรุนแรงเหมือนในช่วงภาวะเศรษฐกิจขยายตัว อีกทั้งยังมีโอกาสร่วมงานกับคนเก่งๆ ที่อาจจะประสบปัญหาการเลิกจ้างงานในช่วงเวลานี้



ก่อนจบการเสวนา มีคำถามเกี่ยวกับการลงทุนของ Vertex ในบริษัท M17 ซึ่งประสบปัญหาการซื้อขายหุ้นในตลาด NYSE ในวันแรกของการ IPO และทำให้ IPO ต้องยกเลิกภายในวันเดียวกันนั้น และคำถามเกี่ยวกับการลงทุนใน Consumer Lending Platform ดังนี้



คุณ Kee Lock กล่าวว่า IPO ที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้น เกิดขึ้นจากความผิดพลาดบางประการซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานธุรกิจของ M17 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นบททดสอบภาวะผู้นำของทีมผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร ที่ลงมือแก้ไขสถานการณ์ แทนที่จะตีโพยตีพายโทษคนนั้นคนนี้ ที่สำคัญคือการ Focus ที่ธุรกิจและสามารถสร้างผลการดำเนินงานไปในทิศทางที่ดีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้เรามั่นใจในพื้นฐานธุรกิจและ ศักยภาพของ M17



คุณ Abheek ให้ความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนในธุรกิจ Consumer Credit ไว้ว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้เกิดความต้องการในการกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น เนื่องจากการหยุดชะงักของภาคธุรกิจและการเลิกจ้างงาน ดังนั้นธุรกิจ Consumer Credit จึงเห็นความต้องการการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นสูง และอาจจะสามารถคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าปกติ อย่างไรก็ตามนักลงทุนควรพิจารณาปัจจัยแวดล้อมอย่างรอบคอบและระมัดระวัง เนื่องจากปัญหาหลักไม่ใช่อยู่ที่การปล่อยกู้ แต่อยู่ที่ความสามารถในการชำระคืนหนี้ ซึ่งในเวลานี้ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค และสภาวะการว่าจ้างงานโดยที่มาตรการเยียวยาจากรัฐบาลอาจจะไม่เพียงพอ





ที่มา : https://www.dealstreetasia.com/stories/vertex-sequoia-open-for-biz-188702/

สรุปโดย : ดร.ธนรรภรณ์ เศรษฐ์จินดา (อ.แนน)




 


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ