Angel บริหารพอร์ตในช่วงเศรษฐกิจถดถอยอย่างไร

Angel บริหารพอร์ตในช่วงเศรษฐกิจถดถอยอย่างไร

1 กรกฎาคม 2563บทความ918

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • บทบาทของ Angel และแนวทางการจัดการการลงทุน (Portfolio Management) หลังการร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพ ผ่านกระบวนการต่างๆ อาทิ แนวทางการติดตามผลการดำเนินงานทางธุรกิจของสตาร์ทอัพ การวัดมูลค่าการลงทุน และการรักษาสิทธิของนักลงทุนตามข้อตกลงการร่วมทุน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ Angel ควรนำมาพิจารณาในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย



เวลาในการอ่าน 3  นาที









จากบทความที่เคยพูดถึง สตาร์ทอัพสิงคโปร์ฝ่าวิกฤตโควิด-19กันอย่างไร โดย Angel Central* (การรวมตัวของกลุ่มนักลงทุน Angel ในประเทศสิงคโปร์ ที่สนใจการระดมทุน ร่วมลงทุนและสนับสนุนสตาร์ทอัพที่มีคุณภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ซึ่งพูดถึงการรับมือของธุรกิจสตาร์ทอัพในสถานการณ์โควิด-19 และเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา Angel Central ได้จัดอบรม AngelCentral MasterClass สำหรับนักลงทุน Angel ในหัวข้อ “การบริหารกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุนในช่วงเศรษฐกิจถดถอย” โดย Lim Der Shing Partner, AngelCentral ซึ่งประสบความสำเร็จในการสร้างธุรกิจ และผันตัวเองมาเป็นนักลงทุน ได้มาแชร์มุมมองและแบ่งปันประสบการณ์ด้านการร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพในช่วงภาวะวิกฤติ





เนื้อหาการอบรมในครั้งนี้ ได้พูดครอบคลุมถึงกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากที่นักลงทุน Angel ได้ร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพ อาทิ แนวทางการติดตามผลการดำเนินงานทางธุรกิจของสตาร์ทอัพ การวัดมูลค่าการลงทุน และการรักษาสิทธิของนักลงทุนตามข้อตกลงการร่วมทุน รวมถึงมุมมองการจัดการการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากวิกฤตโควิด 19 ซึ่งมีมุมมองและแนวคิดที่น่าสนใจดังนี้



บทบาทและหน้าที่ของนักลงทุน Angel หลังการร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพ (Post-Investment) ประกอบด้วย



การติดตามการดำเนินธุรกิจของสตาร์ทอัพ โดยให้ความสำคัญกับรายงานความคืบหน้าที่สตาร์ทอัพส่งให้รายเดือนหรือหรือรายไตรมาส  ซึ่งนักลงทุนควรทำความเข้าใจสถานภาพทางการเงิน และตัวชี้วัดสำคัญต่างๆ เช่นรายรับ รายจ่าย กระแสเงินสด และ Run way การดำเนินการทางธุรกิจ เช่น อัตราการเติบโตของยอดขาย แผนการขาย แผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น นอกเหนือจากการติดตามรายงานแล้ว นักลงทุนควรรักษาระดับความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ ผ่านการนัดพบแบบเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ เพื่อพูดคุย แบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือด้านต่างๆ เช่นแนะนำลูกค้า supplier หรือ เครือข่ายนักลงทุน ตามความชำนาญของนักลงทุน ซึ่งหากลักษณะการให้คำปรึกษานั้นใช้เวลาค่อนข้างมาก ทั้งสองฝ่ายควรมีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อกำหนดบทบาทของนักลงทุนในฐานะที่ปรึกษา ตามความเห็นชอบของทั้งสองฝ่าย



ศึกษารายละเอียดต่างๆ ในข้อตกลงการร่วมทุน เพื่อทำความเข้าใจข้อกำหนดและสิทธิทางกฎหมาย ข้อปฏิบัติของนักลงทุน เช่น การลงนามในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี การลงนามในเอกสารต่างๆ ที่ข้อตกลงการร่วมทุนกำหนดให้ขอความยินยอมจากนักลงทุนก่อน นอกจากนี้ นักลงทุนควรติดตาม Corporate Actions สำคัญๆ เช่น การระดมทุนรอบใหม่ (Future Round) การขายกิจการ (Secondary Sales & Exits) หรือกรณีเลิกกิจการ (Distressed Situation) ทั้งนี้เพื่อรักษาสิทธิของตนและทราบแนวทางปฏิบัติในกรณีต่างๆ โดยในประเด็นนี้ วิทยากรได้ยกตัวอย่างการใช้สิทธิการลงทุนตามสัดส่วน เมื่อมีการระดมทุนรอบใหม่ และตัวอย่างการไกล่เกลี่ย เจรจาหรือดำเนินการตามกฎหมาย เมื่อผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพกระทำผิดเงื่อนไขข้อตกลงการร่วมทุน



บันทึกรายละเอียดการลงทุนในสตาร์ทอัพที่ได้ร่วมลงทุนไปทั้งหมด เพื่อติดตาม และวัดมูลค่าการลงทุน โดยใช้ตัวชี้วัดต่างๆ เช่น Internal Rate of Return, Unrealized Gain, Realized Gain, Total Value Paid In* ซึ่งวิธีการคำนวณดังกล่าวเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในกลุ่มนักลงทุนสถาบัน VC และ Private Equity นักลงทุนสามารถค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมและสามารถใช้ excel ในการคำนวณ โดยวิทยากรเสริมว่า การบันทึกมูลค่าการลงทุนในสตาร์ทอัพเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ นั้นควรบันทึกมูลค่าตามเงินลงทุนจริง และควรปรับมูลค่าการลงทุนในสตาร์ทอัพเมื่อมีเหตุการณ์ Exits หรือ Write Off เท่านั้น ซึ่งถือเป็นการรับรู้กำไรและขาดทุนจริง ดังนั้นวิธีการวัดมูลค่าดังกล่าวจะช่วยลดจิตวิทยาอคติ (Psychological Bias) ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมูลค่าทางธุรกิจของสตาร์ทอัพปรับตัวสูงขี้นในรอบการระดมทุนต่อๆ ไป รวมถึงอาจจะทำให้นักลงทุนเกิดความรู้สึกว่าผลการลงทุนให้ผลตอบแทนที่ดี ทั้งๆ ที่ตามความเป็นจริง เป็นเพียงกำไรที่ยังไม่สามารถไถ่ถอนเป็นเงินสดได้ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น การลงทุนในสตาร์ทอัพต้องถือครองระยะยาวและยังต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดทุนหรือสูญเสียเงินต้น เช่น ในกรณีวิกฤตโควิด 19 เป็นต้น ดังนั้นการบันทึกมูลค่าโดยใช้เงินลงทุนตามจริง จะช่วยป้องกันไม่ให้นักลงทุนเพิ่มการลงทุนในสตาร์ทอัพในสัดส่วนที่สูงจนเกินไป เมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ ของนักลงทุน



ระหว่างการบรรยาย วิทยากรได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่เกี่ยวกับการพิจารณาการร่วมลงทุนในการระดมทุนรอบต่อไป (Follow on Round) โดยให้คำแนะนำว่า นักลงทุน  Angel ควรมีหลักเกณฑ์การลงทุนใน Follow on เช่น จำนวนเงินสูงสุดสำหรับการลงทุนในแต่ละสตาร์ทอัพ และหลักเกณฑ์วิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจโดยพิจารณาจากอัตราการเติบโตของธุรกิจ คุณลักษณะ แนวทางการทำงาน และพฤติกรรมของผู้ประกอบการหลังจากร่วมลงทุน รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น นักลงทุนที่จะเข้าร่วมลงทุนในรอบต่อไป โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงจากสตาร์ทอัพสองบริษัทที่ขอเพิ่มทุนในช่วงวิกฤตโควิด โดยในกรณีของบริษัท A ผู้ประกอบการอธิบายถึงความจำเป็นในการเพิ่มทุน สถานการณ์การแข่งขันในอุตสาหกรรม วัตถุประสงค์การใช้เงินทุน และผู้ประกอบการจะเพิ่มเงินลงทุนส่วนของตัวเองในการเพิ่มทุนครั้งนี้ด้วย ในขณะที่บริษัท B ต้องการระดมทุนจากนักลงทุนเพียงอย่างเดียว ถึงแม้ว่าทางผู้ประกอบการมีเงินทุนส่วนตัวที่จะสามารถร่วมลงทุนในการเพิ่มทุนครั้งต่อไป ซึ่งตัวอย่างทั้งสองกรณีนี้ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความกังวลของนักลงทุน ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจว่าจะร่วมลงทุนต่อหรือไม่



ก่อนจบการอบรมในครั้งนี้ วิทยากรได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้านการบริหารจัดการการลงทุนในช่วงวิกฤต ซึ่งใช้แนวทางเดียวกันกับนักลงทุนสถาบัน โดยแบ่งสตาร์ทอัพออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อติดตามสถานการณ์ และใช้กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน ดังนี้




  • กลุ่มแรก คือกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากวิกฤตโควิด-19 ได้แก่ eLearning, Healthcare, eCommerce, Delivery/ Logistics gaming ซึ่งวิทยากรให้ความเห็นว่า สตาร์ทอัพที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวต่างได้รับอานิสงส์จากมาตรการปิดเมืองในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากไม่ใช่เป็นบริษัทที่เป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ ก็อาจจะไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนในแง่ เงินทุนสนับสนุน ส่วนกลยุทธ์ทางธุรกิจที่แนะนำคือ ดำเนินตามแผนธุรกิจเดิม ร่วมกับการประเมินความต้องการของลูกค้าอีกครั้ง หลังจากที่ธุรกิจต่างๆ เริ่มกลับมาให้บริการตามปกติ รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งและความพร้อมทางสำหรับโอกาสทางธุรกิจในอนาคต


  • กลุ่มที่สอง คือกลุ่ม Neutral ซึ่งครอบคลุมกลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบ หรืออาจจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย ได้แก่ ธุรกิจ SaaS IOT  เป็นต้น สำหรับกลุ่มนี้เน้นการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อยืดรันเวย์ให้ครอบคลุมอย่างน้อย 18 เดือน ปรับรูปแบบการสื่อสารเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และขยายธุรกิจหากเป็นไปได้และเหมาะสม


  • กลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในทางลบ ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ธุรกิจด้านการจัดงานสัมมนาขนาดใหญ่ เป็นต้น โดยกลยุทธ์ที่แนะนำสำหรับสตาร์ทอัพที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ คือการลดค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 – 70 เพื่อยืดรันเวย์ให้ครอบคลุมอย่างน้อย 24 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือรอดพ้นวิกฤต เพื่อรอเวลาให้สถานการณ์ฟื้นตัว 


  • กลุ่มที่สี่ คือกลุ่มที่ไปต่อไม่ได้ ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกระบวนการเลิกกิจการ และรับรู้มูลค่าการลงทุน (ขาดทุน) เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ



Lim Der Shing กล่าวเสริมว่าในช่วงวิกฤต ควรมีการจัดประชุมพูดคุยในกลุ่มผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่อยู่ในกลุ่มการลงทุน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้แลกเปลี่ยนมุมมอง และวิธีการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการในช่วงวิกฤต แทนที่จะเป็นคำแนะนำจากนักลงทุนเพียงอย่างเดียว ซึ่งพบว่าการจัดประชุมดังกล่าว ช่วยให้ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพสามารถตัดสินใจ ดำเนินการด้านต่างๆ ได้เร็วขึ้น เมื่อได้ฟังประสบการณ์ตรงจากผู้ประกอบการคนอื่นๆ



สุดท้ายได้ฝากข้อคิดไว้ว่า การลงทุนในสตาร์ทอัพเป็นการลงทุนที่ถือเป็นการเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งในช่วงสถานการณ์ปกติ นักลงทุนต่างต้องค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและเรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่เสมอ ซึ่งภาวะวิกฤตนี้ก็ถือเป็นทั้งบทเรียนและบททดสอบความอึด ความอดทน รวมถึงความสามารถในการรับความท้าทายที่เกิดขึ้นของนักลงทุนและผู้ประกอบการ ซึ่งนักลงทุนและผู้ประกอบการควรถือว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นข้อสังเกต ข้อเตือนใจและเป็นประสบการณ์การลงทุน ที่สามารถนำมาปรับแนวทางการลงทุนในสตาร์ทอัพกันต่อไป 



*อัตราผลตอบแทน IRR  



Realised Gain = Sale Price – (Cost of Investment + Dividend Paid)



Unrealised Gain = Current Value of Investment – Cost of Investment



*Total Value Paid In (Times) = Current Value of Investment / Cost of Investment





เรียบเรียงจาก กิจกรรมการอบรม Angel Central MasterClass Webinar: Portfolio Management in Times of Recession https://www.angelcentral.co



สรุปโดย ดร.ธนรรภรณ์ เศรษฐ์จินดา (อ.แนน)


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

คุณอาจจะสนใจ