HIGHLIGHTS :
เวลาในการอ่าน 5 นาที
ไหนๆ หลังวิกฤติ Covid-19 ประเทศไทยของเราก็จะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ และต้องเป็นการฟื้นฟูในลักษณะ New Normal ด้วย เราจึงจำเป็นต้องค้นหา “วิถีใหม่ไทยแลนด์” เพื่อให้การฟื้นฟูในครั้งนี้นำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยให้เกิดความเข้มแข็งและมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาเราเผชิญกับการยิ่งพัฒนา ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำ ยิ่งเกิดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม คนไทยทั้งปวงเริ่มตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จึงควรร่วมด้วยช่วยกันคิด “วิถีใหม่ไทยแลนด์” ด้วยกัน และพร้อมใจนำแนวคิด รวมทั้งวิธีการต่างๆ ลงไปปฏิบัติ เพื่อให้ประเทศไทยเราดีขึ้น
เรื่องนี้ค่อนข้างใหญ่และกว้างน่าจะพูดกันได้หลายตอน ผมลองเริ่มไปค้นมาจากจุดที่ว่าประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก และโลกนี้เขามีเรื่องอะไรกันบ้าง ก็ไปพบเรื่อง “List of global issues”ใน Wikipedia (en.m.wikipedia.org) ซึ่งระบุเรื่องความเสี่ยงด้านความหายนะของโลก (Global catastrophic risks) ไว้หลายเรื่อง วันนี้จะขอพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญกระทบไปทั่วโลก แม้แต่ประเทศไทยเองก็ควรจะได้รับทราบสาเหตุและผลกระทบ รวมทั้งสิ่งที่ควรจะทำเพื่อแก้ไขและลดผลกระทบดังกล่าวในอนาคต
1) สภาพปัญหา
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่จริงเป็นเรื่องเดียวกัน คือ สภาพที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นโดยตลอด ซึ่งไปกระทบต่อระบบภูมิอากาศของโลก (The Earth’s Climate System) The Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) สรุปว่ามนุษย์เป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเห็นความชัดเจนมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 (ค.ศ.1950 เป็นต้นมา) เนื่องจากเป็นผู้ปล่อย Greenhouse gases ซึ่ง 90% เป็น Carbon Dioxide และ Methane โดยหลักๆ มาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลจากอุตสาหกรรม จากการขนส่ง และการทำลายป่าเพื่อทำการเกษตร เป็นต้น มีการคำนวณพบว่า ในช่วง 1 ทศวรรษ นับจาก ค.ศ. 2009 - 2018 ระดับอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น 0.93 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าช่วง ค.ศ. 1850 - 1900 (Pre-industrial baseline) และยังพบว่าในปัจจุบันระดับอุณหภูมิผิวพื้น (Surface Temperature) กำลังเพิ่มขึ้น 0.2 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ และยังพบอีกว่าตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมาจำนวนวันและคืนที่มีอากาศเย็นมีจำนวนลดลง ขณะที่จำนวนวันและคืนที่มีอากาศร้อนมีเพิ่มขึ้น
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาจากปัจจัยเชิงกายภาพ (Physical Drivers) 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้
ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases หรือ GHG)
GHG เป็นตัวกักไม่ให้ความร้อนจากโลกระบายกลับสู่อวกาศ แต่ยังคงสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศและพื้นผิวโลก โดยในธรรมชาติการระเหยของน้ำจากอากาศที่ร้อน รวมทั้งการสะสมความร้อนจากไอน้ำในก้อนเมฆ ถือว่าเป็นตัวช่วยลดปัญหา GHG แต่ถ้าความร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ การช่วยเหลือจากธรรมชาติก็คงไม่พอ การกระทำของมนุษย์ผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมมีแต่ช่วยทำให้ GHG เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศ โดยในปี 2018 มีการคาดการณ์ว่าปริมาณ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และ Methane (ก๊าซมีเทน) เพิ่มขึ้น 45% และ 160% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงปี ค.ศ. 1850 - 1900 โดยปริมาณ CO2 มีขนาดประมาณ 52 พันล้านตัน ซึ่งในนี้ 72% มาจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์ในกิจกรรมต่างๆ
การเปลี่ยนแปลงบนผิวโลก (Land Surface Change)
การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรของมนุษย์เป็นส่วนสำคัญทำให้ผิวโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันคาดการณ์ว่าพื้นที่เกษตรของโลกมีอยู่ถึง 50% ของพื้นผิว และเหลือพื้นที่ป่าเพียง 37% และมีแนวโน้มที่จะลดลงอีกเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงพื้นผิวโลกที่มีพื้นที่โล่งแจ้งมากขึ้น ขาดพื้นที่สีเขียวของป่าคอยดูดซับ GHG ทำให้ความร้อนระเหยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น นอกจากนี้การทำลายป่า หรือเกิดไฟป่าทำให้เกิดฝุ่นละอองและหมอกควัน ทำให้เกิดพิษและอมความร้อนเอาไว้ในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งลอยไปตามลมสู่พื้นที่อื่นๆ สร้างปัญหาให้ลุกลามมากขึ้น
ฝุ่นละอองและเมฆพิษ (Aerosols and Clouds)
ฝุ่นละอองพิษจากอุตสาหกรรมและการทำลายป่านอกจากทำให้ปัญหา GHG เพิ่มขึ้น ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิต และการเกิดถี่ขึ้นของเรื่องนี้ทำให้แสงอาทิตย์ส่องลงมาที่โลกได้น้อยลงเกิดปรากฏการณ์ Global Dimming และการล่องลอยของฝุ่นละอองนั้นมีเวลานานหลายปี นอกจากนี้ฝุ่นละอองประเภท Sulfate Aerosols หรือ ประเภท Black Carbon ยังทำให้เมฆเกิดความหนาแน่น มากเกินไป ไม่สะอาดและตกเป็นเม็ดฝนได้ยากขึ้น
2) ผลกระทบ
ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพของโลก (Physical Environment)
เราอาจเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทร น้ำแข็งที่ขั้วโลก และภูมิอากาศ เป็นต้น ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงแรงและเร็วขึ้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 เป็นต้นมา ความแห้งแล้งและคลื่นความร้อนสูงเกิดมากขึ้นและถี่ขึ้น บางพื้นที่ก็เผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมหรือฝนแล้งบ่อยๆ ระหว่างปี ค.ศ. 1993 - 2017 เป็นต้นมา ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 3.1 มิลลิเมตรต่อปี พอสิ้นศตวรรษที่ 21 IPCC พยากรณ์ว่าระดับน้ำทะเลของโลกจะเพิ่มขึ้น 61-110 เซ็นติเมตร โดยสาเหตุหลักมาจากการละลายของน้ำแข็งที่ขั้วโลก ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนนั่นเอง
ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ (Nature and Wildlife)
ภาวะโลกร้อนจะส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตในทุกพื้นที่ การเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เป็นอันตรายต่ออากาศของโลก เพราะพื้นที่ป่าสีเขียวมีน้อยเกินไปที่จะดูดซับ ในขณะที่ความแห้งแล้งที่มีมากขึ้นก็จะลดผลผลิตภาคการเกษตรลง เกิดการขยายตัวของพื้นที่ทะเลทรายบนโลก รวมทั้งการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าอีกหลายชนิดจะตามมา มหาสมุทรก็จะมีระดับความร้อนของน้ำสูงขึ้น สัตว์น้ำในทะเลจะโยกย้ายถิ่นไปในโซนที่เย็นกว่า ซึ่งจะเคลื่อนย้ายถิ่นได้เร็วกว่าสัตว์บก ความร้อนในน้ำจะส่งผลให้เกิดการตายหรือสูญพันธุ์ของปะการัง สาหร่ายทะเล และนกทะเลหลายชนิด เพราะห่วงโซ่อาหารเปลี่ยนไป
ผลกระทบต่อมนุษย์ (Humans)
มนุษย์เป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ก็จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน เช่นในด้านอาหารและน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญในการดำรงชีวิต มีการคาดการณ์ว่าประเทศที่อยู่ใน Low Latitude เช่นใกล้เส้นศูนย์สูตรจะเผชิญกับการลดลงของการผลิตพืชผล (Crop Production) ขณะที่ประเทศในทางตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตรก็ต้องเผชิญความไม่แน่นอนในการผลิตเช่นกัน และจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และส่งผลต่อผู้มีรายได้น้อยไม่ต่ำกว่า 183 ล้านคนทั่วโลก ในขณะเดียวกันระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นก็จะส่งผลคุกคามต่อประเทศและเมืองริมชายฝั่งหรือที่อยู่บนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ การสูงขึ้นของน้ำทะเลอาจไปทำลายบ้านเรือนและสาธารณูปโภคต่างๆ ที่มนุษย์ได้สร้างไว้ ผลกระทบอีกประการหนึ่งก็คือผลต่อสุขภาพ และความปลอดภัยในชีวิตมนุษย์ ความแห้งแล้งอาจนำมาซึ่งการขาดสารอาหาร จนทำให้ร่างกายอ่อนแอเกิดโรคภัย และอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากรที่มีจำกัดลง เกิดสงคราม ทำให้ผู้คนล้มตาย เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตตามมา
3) แนวทางการบรรเทาผลกระทบ
การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน
ควรมีการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่ตอบโจทย์มนุษยชาติและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปด้วย เช่น การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากขยะ ซึ่งล้วนแต่ช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิล ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ที่จะประหยัดพลังงาน เช่น การประดิษฐ์รถยนต์ไฟฟ้า หรือระบบการขนส่งมวลชนที่ใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
การส่งเสริมให้ดำเนินกิจกรรมธุรกิจและการดำเนินชีวิตที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน
ทุกฝ่ายควรหันมาตระหนักแสวงหาความรู้และนำไปปฏิบัติในกิจกรรมต่างๆ ในกระบวนการทำธุรกิจและดำเนินชีวิตประจำวันที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อน เช่น การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การบริโภค การจัดการขยะ การเดินทาง การใช้พลังงาน เป็นต้น ในทุกกระบวนการหากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน ผลิตและบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบต่อโลก ก็จะมีส่วนช่วยลดปัญหาโลกร้อนลงได้
วิถีใหม่ไทยแลนด์ ที่เรากำลังจะสร้างขึ้นใหม่ ไม่รู้จะเรียกว่าเป็น แผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ได้หรือไม่ ผมหวังว่าจะมีการผูกเรื่องนี้เข้าไปด้วย เพราะพื้นที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของโลก การทำพื้นที่ของเราให้ดี นอกจากโลกจะดีขึ้นแล้ว ก็จะดีต่อพวกเราด้วย เพราะที่นี่คือบ้านของเรา
Credit : List of global issues
สรุปโดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®
รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย