วิถีใหม่ไทยแลนด์ (ตอนที่ 4)

วิถีใหม่ไทยแลนด์ (ตอนที่ 4)

5 สิงหาคม 2563บทความ5,203

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • วิถีใหม่ไทยแลนด์ (ตอนที่ 4) : ปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ (Deforestation) ปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่ทั้งโลกและประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ มาร่วมกันตระหนักรู้ถึงสภาพปัญหา ผลกระทบ และแนวทางแก้ไขปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ไปด้วยกัน เพื่อให้ประเทศไทยและโลกดีขึ้น



เวลาในการอ่าน 8  นาที









ร่วมด้วยช่วยกันคิดกับบทความชุด “วิถีใหม่ไทยแลนด์” ที่จะรวมแนวคิด และวิธีการต่างๆ ที่คนไทยสามารถช่วยกันทำ เพื่อให้ประเทศไทยเราดีขึ้น




เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาพื้นที่ป่าที่กำลังลดลงเรื่อยๆ ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของประเทศเราเองแล้ว ยังส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของโลกด้วย วิถีใหม่ไทยแลนด์ในตอนที่ 4 นี้จะอธิบายถึงสภาพปัญหาโดยรวมของโลกเกี่ยวกับการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ (Deforestation) และแนวทางการแก้ไขปัญหา อย่างน้อยพวกเราคนไทย ซึ่งเป็นพลเมืองของโลกจะได้ตระหนักรู้ในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายหันมาร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการปลูกป่าเพื่อปกป้องประเทศไทยและปกป้องโลก ซึ่งเรื่องนี้ควรเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะฟื้นฟูประเทศไทยหลัง COVID-19 ด้วยเช่นกัน



1. สภาพปัญหา



จากข้อมูลของ Wikipedia อธิบายว่า Deforestation ก็คือ การตัดต้นไม้ออกจากพื้นที่ป่า (Clearcutting) ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากความต้องการพื้นที่ทำการเกษตรและปศุสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหลายๆ กรณีเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าแบบผิดกฎหมาย ปัจจุบันนี้บนพื้นผิวของโลกมีป่าปกคลุมเหลือเพียง 31% เท่านั้น และพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายอย่างมากจะเป็นพื้นที่ป่าฝนในเขตร้อนใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตรของโลก มีการประมาณการว่าพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนของโลกเหลือเพียง 6.2 ล้านตารางกิโลเมตร เมื่อเทียบกับอดีตที่เคยมีพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ถึง 16 ล้านตารางกิโลเมตร



จากข้อมูลของ The United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) ระบุว่าการบุกรุกและทำลายป่าเพื่อทำการเกษตรเป็นสาเหตุหลัก โดยมาจากการทำการเกษตรเพื่อยังชีพ (Subsistence farming) ถึง 48% มาจากการทำการเกษตรเพื่อการค้า (Commercial farming) ถึง 32% และที่เหลือเป็นการทำซุงป่าไม้ (Logging) และอื่นๆ ปัจจัยที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับปัญหาเหล่านี้ เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก โดยเฉพาะคนยากจนที่ต้องการอาหารเพื่อยังชีพ การทุจริตของหน่วยงานเอกชนและหน่วยงานรัฐที่ต้องการพื้นที่ป่าไปใช้ประโยชน์แบบผิดกฎหมาย รวมทั้งผลกระทบจากภาวะโลกร้อนทำให้เกิดความแห้งแล้งจนเกิดไฟป่าบ่อยครั้ง ซ้ำเติมทำให้พื้นที่ป่าลดลงเรื่อยๆ



2. ผลกระทบ



2.1 ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental effects)



ผลกระทบจากการลดลงของพื้นที่ป่าต่อสภาพแวดล้อม สรุปได้ 4 ด้าน คือ ผลกระทบต่อบรรยากาศ ผลกระทบต่อความชุ่มชื้นของแหล่งน้ำ ผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน และผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ



ผลกระทบต่อบรรยากาศของโลก (Atmospheric) การตัดหรือเผาป่าทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้เพราะเป็นการทำให้เกิดคาร์บอน (Carbon emission) มากขึ้นในบรรยากาศของโลก มีการประมาณการว่า 20% ของ Greenhouse effect นี้มาจากการทำลายป่าในเขตป่าฝน ทำให้การสะท้อนกลับของความร้อนจากดวงอาทิตย์มีน้อยลง โลกจึงอมความร้อนและทำให้เกิดความแห้งแล้งมากขึ้น เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชั้นบรรยากาศของโลกที่ปกติทำหน้าที่รับและคายความร้อนทำให้เกิดฝนตามวัฏจักร ไม่สามารถทำหน้าที่ตามปกติได้ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปทั่วโลก



ผลกระทบต่อความชุ่มชื้นของแหล่งน้ำ (Hydrological) การตัดไม้ทำลายป่าส่งผลกระทบต่อวัฏจักรของน้ำ (Water cycle) บนโลก ในธรรมชาติต้นไม้จะดูดน้ำจากใต้ดิน และคายน้ำออกสู่บรรยากาศ การลดลงของป่าจึงทำให้น้ำในบรรยากาศลดลงส่งผลต่อความแห้งแล้ง ปริมาณน้ำในดินก็จะลดลงด้วย ทำให้ขาดความชุ่มชื้นลดโอกาสการเติบโตของต้นไม้ในป่าลงไปอีก นอกจากนี้เมื่อดินขาดความชุ่มชื้นก็ทำให้ดินขาดคุณสมบัติในการยึดตัว (Cohesion) ทำให้ดินกร่อนตัวลงและเกิดการพังทลายง่ายเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม



ผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน (Soil) ดินในป่าไม้ที่มีต้นไม้ขึ้นเต็มจะมีการยึดตัวแน่นผ่านรากของต้นไม้ทำให้ไม่พังทลายได้ง่าย ลดโอกาสความรุนแรงเมื่อเกิดน้ำท่วม การช่วยชะลอน้ำของดินในป่ายังทำให้มีเวลาที่น้ำจะค่อยๆ ซึมซับผ่านผิวดินทำให้ต้นไม้ในป่าใช้ประโยชน์จากน้ำ และยังเป็นแหล่งเติมน้ำใต้ดินให้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งค่อยๆ ไหลลงสู่ห้วย หนอง คลอง บึง และแม่น้ำในที่สุด



ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ป่าไม้เป็นที่รวมของพืชพรรณต่างๆ รวมทั้งสัตว์ป่าทั้งเล็กและใหญ่ ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อโลกของเรา การตัดไม้ทำลายป่าจะส่งผลให้พืชและสัตว์หลายชนิดอาจถึงขั้นสูญพันธุ์ได้ สมุนไพรหรือพืชบางอย่างในป่าเป็นประโยชน์ต่อการผลิตยารักษาโรค หรือเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์และสัตว์ให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ มีการคาดการณ์ว่าการตัดป่าไม้ในแต่ละวันได้ทำลายพืชและแมลงรวมไม่ต่ำกว่า 147 ชนิดและในบางพื้นที่ เช่น เอเชียตะวันตกเฉียงใต้คาดการณ์ว่า 40% ของพืชและสัตว์ในระบบนิเวศของป่าอาจจะสูญพันธุ์ได้ภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้



2.2 ผลกระทบต่อสุขภาพ (Health effects)



การตัดไม้ทำลายป่านอกเหนือจากทำให้พืชและสัตว์บางชนิดสูญพันธุ์แล้ว ยังอาจทำให้เกิดเชื้อโรคใหม่ๆ ระบาดเข้ามาอยู่ในสังคมมนุษย์ได้ง่ายขึ้น เช่น สัตว์ที่เป็นผู้ล่าคอยกำจัดหนูมีจำนวนลดลงในพื้นที่ป่า จำนวนหนู ซึ่งเป็นพาหะนำโรคหลายชนิดก็อาจมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผิวดินที่ยุบตัวลงจากที่ไม่มีป่าไม้คอยเชื่อมอยู่ ทำให้เกิดหลุมบ่อขนาดใหญ่ที่ขังน้ำไว้จนอาจเกิดยุงมากขึ้น และทำให้โรคไข้มาเลเรีย และโรคไข้เลือดออกแพร่ขยายสู่คนได้มากกว่าปกติ เป็นต้น มีตัวอย่างผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในมาเลเซียในปี ค.ศ.1998 มีการตัดป่าเพื่อทำฟาร์มสุกร ซึ่งพื้นที่ป่าที่ลดลงกระทบต่อค้างคาวผลไม้ (Fruit bats) ที่ต้องหาแหล่งอาหารใหม่ และได้มาวนเวียนใกล้ฟาร์มสุกร และปล่อยไวรัสที่ชื่อ Nipah Virus ใส่สุกรทำให้เกิดโรคระบาดในสุกรขึ้น แม้ว่ายังไม่ระบาดรุนแรงใส่คนในขณะนั้น แต่ก็อาจมีไวรัสอื่นๆ โดยเฉพาะที่น่ากลัวก็คือ หากมีการกลายพันธุ์และระบาดมายังคน และแพร่ไปยังคนด้วยกัน คล้ายกับกรณี COVID-19 ที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้



2.3 ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ (Economy impact)



การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ถือว่าเป็นการสูญเสียทรัพยากรสำคัญของโลกร่วมกัน ซึ่งส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจด้วย จากข้อมูล The Convention on a Biological Diversity (CBD) ที่ประชุมกันตั้งแต่ปี 2008 คาดการณ์ว่าการสูญเสียป่าไม้จะทำให้มาตรฐานการอยู่อาศัย (Living standards) ของพลเมืองโลกลดลง เพราะผลกระทบด้านความแห้งแล้งที่ตามมาส่งผลต่อความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้น คิดเป็นขนาดประมาณ 7% ของ GDP ของโลกในปี ค.ศ. 2050



ปัจจุบันนี้ผลิตภัณฑ์จากป่า เช่น ไม้ซุง และของป่าต่างๆ มีผลในเชิงเศรษฐกิจโดยตรงอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก ส่วนคนที่บุกรุกป่าทำการเกษตรก็อ้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับ อย่างไรก็ดีนี่เป็นเพียงผลประโยชน์ระยะสั้นเท่านั้น (Short-term economic gains) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ระยะยาวที่จะได้จากการอนุรักษ์ป่าไว้ ก็ไม่สามารถจะนำผลในระยะสั้นมาเปรียบเทียบได้เลย



3. แนวทางการแก้ไข



แนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าที่ลดลง อาจต้องใช้หลายๆ มาตรการร่วมกัน ซึ่งอาจสรุป ดังต่อไปนี้



การปรับปรุงกฎหมายและสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการใช้ที่ดิน (Land rights)



โดยการจัดสรรที่ดินที่รกร้างและไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือเสื่อมโทรม จะช่วยแก้ปัญหาการบุกรุกป่าที่อุดมสมบูรณ์ หรือแม้แต่การออกกฎหมายเกี่ยวกับป่าชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านร่วมกันใช้ประโยชน์จากป่า และป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าได้



การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากการทำเกษตร (Farming)



การนำเทคโนโลยีเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแก่เกษตรกร จะมีส่วนช่วยลดการบุกรุกผืนป่าเพื่อทำฟาร์มเกษตรลงได้ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า การเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ ไม่สูญเสียธาตุอาหารแบบรุนแรง เช่นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และป่าที่สูญเสียไป เวลากลับมาฟื้นฟูอาจไม่จำเป็นต้องทำในลักษณะ Natural forests เสมอไป อาจพัฒนาให้มีลักษณะ Agroforestal system ที่ยังคงสมบูรณ์แบบธรรมชาติ แต่ใช้ประโยชน์ในเชิงเกษตรได้



การติดตามและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าอย่างจริงจัง (Monitoring deforestation)



เรื่องการทำลายป่า ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย การลักลอบตัดไม้และขนไม้ออกไปจากป่ายังเป็นปัญหาอยู่ต่อเนื่องในหลายๆ ประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องสอดส่อง ติดตาม และปราบปรามอยู่ต่อไป รวมถึงนอกจากการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานภาครัฐแล้ว ยังต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมด้วย อีกทั้งควรใช้มาตรการป้องกัน เช่นการให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดความตระหนักรู้ และหวงแหนผืนป่าร่วมกัน



การจัดการป่าไม้ (Forest management)



เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่จะต้องศึกษาสภาพป่าไม้ที่มีอยู่ว่ามีสภาพแวดล้อมและสถานะเป็นอย่างไร อย่างละเอียดในทุกแง่มุม การพัฒนาฐานข้อมูลของพื้นที่ป่าไม้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อนำไปสู่แผนการพัฒนาและฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาดีดังเดิม และให้มีพื้นที่ป่าขยายตัวเช่นในอดีต แผนการอนุรักษ์ป่าเดิม แผนการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม การปลูกป่าในพื้นที่ต่างๆ การส่งเสริมป่าชุมชน เป็นต้น ควรถูกวางพิมพ์เขียวและนำมาปฏิบัติอย่างเร่งด่วน



เนื่องจากป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติซึ่งทุกคนเป็นเจ้าของ การพัฒนาและฟื้นฟูจึงไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐแต่อย่างเดียว อีกทั้งการลงมือปฏิบัติต้องใช้ทรัพยากรอื่นๆ มาร่วม เช่น เงินทุน แรงงาน และเวลา ที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน วิถีใหม่ไทยแลนด์หลัง COVID-19 นี้ จะฟื้นฟูป่าด้วยได้ไหมครับ แม้ว่าอาจจะไม่เห็นผลทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่จะดีแบบยั่งยืนในระยะยาวแน่นอน





ที่มา : wikipedia



เขียนโดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®   



รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน 



ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ