วิถีใหม่ไทยแลนด์ (ตอนที่ 5)

วิถีใหม่ไทยแลนด์ (ตอนที่ 5)

5 สิงหาคม 2563บทความ1,057

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • วิถีใหม่ไทยแลนด์ (ตอนที่ 5) : สรุปข้อมูลสภาพปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหา ทั้ง 6 ด้าน ซึ่งเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมสำคัญที่ประเทศไทยควรวาง Roadmap เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว



เวลาในการอ่าน 7  นาที









ร่วมด้วยช่วยกันคิดกับบทความชุด “วิถีใหม่ไทยแลนด์” ที่จะรวมแนวคิด และวิธีการต่างๆ ที่คนไทยสามารถช่วยกันทำ เพื่อให้ประเทศไทยเราดีขึ้น




การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมามีส่วนทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเรื่อง อากาศ การลดลงของประชากรสัตว์ป่า การทำลายป่า การชะล้างพังทลายของดิน การขาดแคลนน้ำ และปัญหาขยะ เป็นต้น มีการคาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายด้านมลพิษทางอากาศและน้ำของประเทศมีขนาดสูงถึง 1.6 - 2.6 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ต่อปี



ข้อมูลเรื่อง Environmental issues in Thailand ใน Wikipedia ได้สรุปข้อมูลสภาพปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของไทยไว้อย่างน่าสนใจและหลายประเด็น ซึ่งสรุปได้ดังนี้



1. ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate change)



จากข้อมูลวิจัยพบว่า อุณหภูมิของประเทศไทยสูงขึ้นในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยรายงานว่า ในปี พ.ศ. 2498 ถึง พ.ศ. 2552 อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีของประเทศไทยสูงขึ้นประมาณ 0.95 องศาเซลเซียส มากกว่าอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 0.69 องศาเซลเซียสในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนวันที่มีอากาศร้อนจัด (อุณหภูมิเท่ากับหรือสูงกว่า 32 องศาเซลเซียส) ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครมีจำนวนวันเพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2503 มีจำนวน 193 วันต่อปี ขณะที่ในปัจจุบันมีจำนวนวันเพิ่มขึ้นเป็น 276 วัน และหากไม่มีการแก้ไขอะไรภายในปี พ.ศ. 2643 จะมีจำนวนวันดังกล่าวสูงอยู่ระหว่าง 297 ถึง 344 วัน ซึ่งสภาพความร้อนดังกล่าวจะกระทบต่อความแห้งแล้งทั้งบนบกและในทะเล ส่งผลต่อเนื่องถึงความมั่นคงด้านอาหารของประเทศไทยในอนาคต



หากวัดผลการเกิดปัญหาโลกร้อนในประเทศไทย โดยดูจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคน พบว่าเพิ่มขึ้นจาก 0.14 ตันในปี พ.ศ. 2503 เป็น 4.5 ตันในปี พ.ศ. 2556 ในขณะที่ประชากรของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 27 ล้านคน เป็น 67 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน



2. ปัญหาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล (Rising sea level)



ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ประมาณการว่าชายฝั่งทะเลของไทยถูกกัดเซาะทุกปี โดยน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ทำให้สูญเสียพื้นที่ชายฝั่งประมาณ 30 ตารางกิโลเมตรทุกปี ข้อมูลจากการวิจัยของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ประมาณการว่า หากไม่มีการแก้ไขแล้ว ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นจากปัจจุบัน 1 เมตร ภายใน 40 - 100 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้พื้นที่ชายฝั่งของไทยหายไปไม่ต่ำกว่า 3,200 ตารางกิโลเมตร กระทบต่อการอยู่อาศัยและการทำมาหากินกับประชากรไม่ต่ำกว่า 11 ล้านคน หรือ 17% ของประชากรทั้งหมด



นอกจากน้ำทะเลที่มีระดับสูงขึ้นแล้ว การดึงน้ำใต้ดินมาใช้เป็นจำนวนมากในเขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานครและการก่อสร้างตึกสูงยังทำให้พื้นดินทรุดลง คาดการณ์ว่าพื้นดินของกรุงเทพมหานครทรุดตัวลงประมาณ 3 เซ็นติเมตรทุกปี โดยข้อมูลจากสภาปฏิรูปแห่งชาติของไทย ประเมินว่าหากไม่มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน กรุงเทพมหานครมีโอกาสถูกน้ำทะเลเข้ามารุกล้ำได้ภายในปี พ.ศ. 2673



3. ปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ (Deforestation)



พื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงเรื่อยๆ จากการบุกรุกพื้นที่ทำการเกษตร และการตัดไม้ทำลายป่า ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ประมาณการว่าในปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยเคยมีป่าไม้อุดมสมบูรณถึง 53% ของพื้นที่ประเทศ และได้ลดลงเหลือเพียง 31% ในปี พ.ศ. 2558 นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากการวิจัยในเชิงเปรียบเทียบว่าพื้นที่สีเขียวจากป่าเทียบต่อประชากร 1 คน ของประเทศไทยมีค่าเพียง 3 ตารางเมตรต่อคน ในขณะที่สิงคโปร์สูงถึง 66 ตารางเมตรต่อคนและมาเลเซียเท่ากับ 44 ตารางเมตรต่อคน



ปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ยังทำให้เกิดความแห้งแล้งและกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและทางเศรษฐกิจตามมา นอกจากนี้หากเกิดอุทกภัยกระแสน้ำที่เกิดขึ้นก็จะมีความรุนแรง ส่งผลต่อความเสียหายอย่างมากต่อประเทศ แม้แต่ป่าชายเลนก็มีปัญหาการลดลงของพื้นที่เช่นกัน ทำให้ทรัพยากรชายฝั่งสูญเสียไปเนื่องจากสัตว์น้ำขาดที่อยู่อาศัยและไม่สามารถเพาะพันธุ์และอนุบาลตัวอ่อนในธรรมชาติได้ รวมทั้งเกิดการพังทลายของดิน น้ำทะเลจึงรุกล้ำได้ง่าย



4. ปัญหาการเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศ (Air pollution)



ข้อมูลจากธนาคารโลก ประมาณการว่าการเสียชีวิตของคนไทยจากมลพิษทางอากาศสูงขึ้นจาก 31,000 คน ในปี พ.ศ. 2533 เป็น 49,000 คน ในปี พ.ศ. 2556 สาเหตุสำคัญมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งมีประชากรประมาณ 20% ของประเทศอยู่กันอย่างหนาแน่น อย่างไรก็ดีในปัจจุบันยังเผชิญกับปัญหาใหม่ คือ เรื่องฝุ่น PM 2.5 ในอากาศ ซึ่งมีสาเหตุมาจากไฟป่า และการเผาวัชพืชทางการเกษตร ที่กระจายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะเมืองใหญ่กระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นจำนวนมาก



สภาพปัญหามลพิษทางอากาศยังมาจากการขนส่งในยานพาหนะต่างๆ ที่ปล่อยฝุ่นละอองพิษจากการสันดาปเครื่องยนต์ เช่น รถยนต์ รถบรรทุก และรถมอเตอร์ไซด์ เป็นต้น การตรวจสอบคุณภาพอากาศพบว่ายังไม่มีพัฒนาการไปในทางที่ดี ปัญหายังคงอยู่และมีแต่จะรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยข้อมูล ณ วันที่ 25 มีนาคม 2559 ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ทำสถิติปริมาณฝุ่นละอองสูงถึง 410 มก./ลูกบาศก์เมตร ในอากาศ รวมทั้งในเมืองอื่นๆ ก็มีค่าสูงเช่นกัน เกินกว่าระดับมาตรฐานของ PM 2.5 ที่มีค่าเพียง 25 มก./ลูกบาศก์เมตร ไปอย่างมาก สถานการณ์ดังกล่าวสามารถเป็นอันตรายต่อระบบเลือด ระบบหายใจ รวมทั้งมีโอกาสที่ประชาชนจะเป็นมะเร็งได้สูง



5. ปัญหาการเพิ่มขึ้นของน้ำเสีย (Water pollution)



ประเทศไทยในทุกภูมิภาคมีลุ่มแม่น้ำจำนวน 25 แห่ง และมีปริมาณน้ำฝนต่อปีประมาณ 1,700 มิลลิเมตร ซึ่งได้จากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เป็นหลักทุกปี อย่างไรก็ดีประเทศไทยถือว่าขาดความอุดมสมบูรณ์ของน้ำ คาดการณ์ว่าประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำอุปโภคบริโภคต่อปีประมาณ 152 พันล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่อุปทานน้ำมีเพียง 112 พันล้านลูกบาศก์เมตร โดยภาคเกษตรต้องการใช้น้ำประมาณ 75% ภาคครัวเรือน 18% การรักษาสิ่งแวดล้อม 15% ส่วนภาคอุตสาหกรรมต้องการใช้น้ำเพียง 3% เท่านั้น



อย่างไรก็ดี น้ำเสียจากอุตสาหกรรมได้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อแหล่งน้ำโดยรวมซึ่งทุกภาคส่วนต้องใช้ร่วมกัน น้ำเสียสามารถเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรคผิวหนัง โรคมะเร็งผิวหนัง และความผิดปกติของทารกที่เกิดเช่น สารตะกั่วในน้ำที่สตรีมีครรภ์บริโภคอาจทำให้เกิดดาวน์ซินโดรมในเด็กได้ ในกรณีผู้ใหญ่ก็ทำให้ร่างกายอ่อนแอจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้น้ำเสียจากบ้านเรือนโดยเฉพาะชุมชนแออัดในเมือง ก็มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน กรุงเทพมหานครที่เคยถูกขนานนามว่า เวนิสตะวันออก กลายเป็นตำนานเท่านั้น เพราะน้ำในคูคลองสกปรกมีกลิ่นเหม็นจนไม่น่าพิสมัยหากจะใช้สัญจรหรือชมเมือง ส่วนภาคเกษตรที่ใช้น้ำมากที่สุด ก็ใช้สารเคมีที่เมื่อไหลลงสู่แหล่งน้ำก็ทำให้คุณภาพของน้ำแย่ลงจนเป็นปัญหาร่วมกับต้นตออื่นๆ ที่ยังรอวันแก้ไข



6. ปัญหาขยะล้นประเทศ (Waste management)



จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ประมาณการว่าคนไทย 1 คน สร้างขยะ 1.15 กิโลกรัมต่อวัน ทำให้เกิดปริมาณขยะ 73,000 ตันต่อวันทั่วประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2559 คาดว่าปริมาณขยะต่อปี ทั่วประเทศสูงถึง 27 ล้านตัน ในจำนวนนี้ 4.2 ล้านตัน เป็นขยะจากกรุงเทพมหานคร ปริมาณขยะแบบมหึมานี้ยังมีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกนำมาจัดการให้ถูกต้อง ถูกทิ้งให้เป็นภูเขาขยะ ก่อให้เกิดกลิ่นรบกวนเป็นมลพิษทางอากาศในลักษณะหนึ่ง และเมื่อเกิดฝนตกก็ถูกชะล้างและนำสารพิษลงสู่แหล่งน้ำอีกทางหนึ่งด้วย ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษยังเปิดเผยอีกว่าขยะอินทรีย์มีปริมาณ 64% ของขยะทั้งหมด ซึ่งเป็นอาหารที่ถูกทิ้งขว้าง ขณะที่จำนวนเด็กที่ขาดอาหารของไทยมีไม่ต่ำกว่า 400,000 - 600,000 คน สะท้อนว่าคนไทยยังใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยขาดประสิทธิภาพ



ในขณะที่ขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด จากข้อมูล ปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่เพียง 500,000 ตันเท่านั้น แม้จะมีการรณรงค์ลดใช้พลาสติกแล้วก็ตามปัญหาขยะพลาสติกยังลามเข้าไปในแม่น้ำและทะเล นอกจากเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำแล้ว การย่อยสลายเป็นนาโนพลาสติกยังเข้าไปอยู่ในร่างกายสัตว์น้ำ และเมื่อคนนำมาบริโภคก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อไปอีก สำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ถือว่าเป็นขยะอันตราย ซึ่งต้องมีการควบคุมอย่างมากในการกำจัด อุตสาหกรรมที่สร้างผลิตภัณฑ์เหล่านี้ขึ้นมาต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมในการสนับสนุนให้มีการกำจัดให้ถูกวิธี และควรมีการห้ามที่จะนำเข้าขยะเหล่านี้มาจากต่างประเทศ เพราะไทยไม่ใช่ดินแดนที่จะนำขยะเหล่านี้มาทิ้งหรือทำลาย จากสถิติพบว่าในปี พ.ศ. 2561 ไทยมีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกกฎหมายถึง 53,000 ตัน



จะเห็นได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไทยเผชิญอยู่ยังมีอีกมาก และเป็นปัญหาเข้าขั้นรุนแรง การแก้ไขก็กำลังรอคอยอย่างเร่งด่วน วิถีใหม่ไทยแลนด์หลัง COVID-19 แม้ว่าการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนจะเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญ แต่ก็ควรวาง Roadmap เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวของสภาพแวดล้อมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของประเทศไทยที่รักของเรา





ที่มา : wikipedia



เขียนโดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®   



รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน



ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ