Venture Deals Online หลักสูตร 7 วีค ที่เปิดโลก VC อย่างลึกซึ้ง

Venture Deals Online หลักสูตร 7 วีค ที่เปิดโลก VC อย่างลึกซึ้ง

28 สิงหาคม 2563บทความ931

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • ประสบการณ์การเรียน Venture Deals หลักสูตรออนไลน์ ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างความเข้าใจ ในขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการระดมทุนจากนักลงทุน VC ซึ่งจัดโดย Techstars และ Koeffman Fellows* ที่ต้องการให้ความรู้ต่อระบบนิเวศสตาร์ทอัพทั่วโลกแบบฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย



เวลาในการอ่าน 5.5  นาที









ผู้เขียน มักแสวงหาโอกาสการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจแนวโน้มการพัฒนาของเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง รวมถึงการทำความเข้าใจการลงทุนในสตาร์ทอัพแบบเชิงลึก ซึ่งผู้เขียนมักจะได้รับมุมมองใหม่ๆ เสมอถึงแม้ว่าจะเป็นหัวข้อที่ดูเผินๆ แล้วอาจจะไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ในปีนี้ มีโอกาสได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร Venture Deals Summer 2020 หลักสูตรออนไลน์ที่จัดขึ้นโดย Techstars และ Koeffman Fellows เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จึงขอแบ่งปันประสบการณ์จากการเข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ประกอบการและท่านที่สนใจการระดมทุนในโลกสตาร์ทอัพ ซึ่งมีหลายเรื่องที่น่าสนใจดังนี้



หลักสูตร Venture Deals คืออะไร




  • หลักสูตร Venture Deals เป็นหลักสูตรออนไลน์ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างความเข้าใจในขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการระดมทุนจากนักลงทุน VC ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดอ้างอิงตามหนังสือ Venture Deals ที่มีคุณ Brad Feld และ คุณ Jason เป็นผู้แต่ง


  • วิทยากร คุณ Brad Feld  คุณ Jason Madelson ผู้เขียนหนังสือ Venture Deals โดย คุณ Clint Korver เป็นผู้ตั้งคำถามระหว่างการบรรยาย


  • ระยะเวลาเรียน 7 สัปดาห์


  • ค่าใช้จ่าย ผู้เข้าร่วมโครงการไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น (ตามเจตนารมณ์ของ Koeffman Fellows และ Techstars ที่ต้องการให้ความรู้ต่อระบบนิเวศสตาร์ทอัพทั่วโลก)



แนวทางการเรียนในแต่ละสัปดาห์



สัปดาห์ที่ 1 Introduction – Form or Join a Team



บทเรียนในสัปดาห์นี้มีแค่ 3 บทเรียนสั้นๆ ที่ทำให้เราเข้าใจวัตถุประสงค์การจัดอบรม ภาพรวมโลกสตาร์ทอัพ และ วิธีการทำงานของกองทุน VC  เนื่องจากหลักสูตรต้องการให้ผู้เข้าร่วมโครงการตั้งกลุ่ม หรือเข้าร่วมกลุ่ม ซึ่งในช่วงสัปดาห์นี้ ผู้เรียนต่างทยอยตั้งกระทู้สนทนาเพื่อเชิญชวนให้เข้าร่วมทีม หรือเพื่อขอเข้าร่วมทีมกับคนอื่นๆ ซึ่งทางหลักสูตรแนะนำให้เลือกทีมที่อยู่ในประเทศในเขตเวลาเดียวกัน เนื่องจากจะมีความสะดวกมากขึ้นเวลาทำงานกลุ่ม เมื่อเราสนใจเข้าร่วมทีมไหนก็ตาม เราต้องส่งคำขอ (อธิบายเกี่ยวกับตัวเอง) ไปให้หัวหน้าทีมนั้นๆ พิจารณา สำหรับคนที่ไม่มีเวลาทำงานกลุ่ม สามารถเลือกเรียนแบบ Audit ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่เรียนเนื้อหาโดยไม่ต้องร่วมส่งรายงานได้



สัปดาห์ที่ 2 Fund Raising & Finding the Right VC



เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการระดมทุน ซึ่งครอบคลุมถึงข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นในกระบวนการระดมทุน โดยที่หัวใจสำคัญของสัปดาห์นี้ คือ “การหานักลงทุนที่ใช่” (Finding the Right VC) ที่ทางหลักสูตรได้ออกแบบ รายงานกลุ่มให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของสัปดาห์นี้ โดยกำหนดให้แต่ละทีม จัดทำแผนนำเสนอธุรกิจสตาร์ทอัพ พร้อมศึกษาข้อมูลนักลงทุน ที่คาดว่าจะมีความสนใจลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพของกลุ่ม เพื่อเปรียบเทียบ คุณลักษณะต่างๆ ของนักลงทุน พร้อมระบุกลยุทธ์ที่จะใช้เพื่อได้รับคำแนะนำให้รู้จักนักลงทุนกองทุนนั้นๆ ได้อย่างไร



สัปดาห์ที่ 3 Cap Tables & Convertible Debts



ในสัปดาห์นี้ เน้นเรียนเรื่อง Cap Table การระดมทุนโดยใช้ตราสารหนี้แปลงสภาพ (Convertible Debt) กลไก (mechanics) ข้อกำหนดและข้อควรระวังต่างๆ เกี่ยวกับตราสารหนี้แปลงสภาพ รวมถึงวิธีการระดมทุนอื่นๆ เช่น Crowd Funding และ Warrants ซึ่งในสัปดาห์นี้ ทางหลักสูตรกำหนดให้ทำรายงานเดี่ยว โดยใช้โปรแกรม Capital I/O เพื่อดูผลกระทบของข้อกำหนดต่างๆ ที่มีต่อสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ประกอบการ เช่น Option Pool หรือ Valuation Cap



สัปดาห์ที่ 4 Term Sheet: Economics & Control



บทเรียนสัปดาห์นี้ เน้นภาพรวมและข้อกำหนดต่างๆ ใน Term Sheet เช่น Liquidation Preference, Employee Stock Option Pool, Anti-Dilutions, Boards of Directors, Protective Provisions, Drag-Along, Conversion ซึ่งผู้เขียนขอแนะนำให้อ่านรายละเอียดในหนังสือ Venture Deals ประกอบเพื่อทำความเข้าใจพื้นฐาน ก่อนเรียนบทเรียนออนไลน์ สำหรับรายงานประจำสัปดาห์นี้ เป็นรายงานเดี่ยว และเกี่ยวข้องกับผลกระทบของ Liquidation Preference ในกรณีที่ผู้ประกอบการขายกิจการ (Exit) ซึ่งรายงานนี้มีสองส่วน ส่วนแรกกำหนดให้คำนวณผลตอบแทนสำหรับผู้ประกอบการ และนักลงทุน สำหรับการขายกิจการที่มูลค่าต่างกัน และมีข้อกำหนด Liquidation Preference ที่แตกต่างกัน (Participating & Non-Participating) และในส่วนที่สอง กำหนดให้คำนวณผลตอบแทนเหมือนในส่วนแรก โดยกำหนดให้มีนักลงทุนสนับสนุนการลงทุนใน Series A จึงต้องพิจารณา Liquidation Preference ของนักลงทุน Series A และ Seed ในการคำนวณผลตอบแทน ซึ่งทำให้เห็นภาพชัดๆว่า หากผู้ประกอบการขาดความระมัดระวังในการเจรจา Liquidation Preference อาจจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่นักลงทุนได้รับส่วนแบ่งจากการขายกิจการทั้งหมด โดยที่ผู้ประกอบการอาจจะไม่ได้รับส่วนแบ่งใดๆ



สัปดาห์ที่ 5 Term Sheet – Part Two



เข้าสู่สัปดาห์นี้ บทเรียนยังคงความหนักหน่วงที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดต่างๆ ใน Term Sheet เช่น Assigning Shares, Registration Rights, Voting Rights, Co-Sales Agreement, No Shop Agreement ซึ่งเราจะได้ทำความเข้าใจรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับ Term Sheet จากบทเรียนสัปดาห์ที่ 4 และบทเรียนในสัปดาห์ที่ 5 ระหว่างขั้นตอนการทำรายงานกลุ่มประจำสัปดาห์นี้ ซึ่งกำหนดให้แต่ละทีม ร่าง Term Sheet จากมุมมองของผู้ประกอบการ หรือมุมมองของนักลงทุน



สัปดาห์ที่ 6 Negotiations



หลังจากที่เรียนเนื้อหาเกี่ยวกับ Term Sheet เรียบร้อย ในสัปดาห์ที่ 6 เราได้ทำความเข้าใจหลักการเจรจาทั้งในส่วนองค์ประกอบที่สำคัญ ข้อควรระวัง การทำความเข้าใจบุคลิกลักษณะของนักลงทุน ทัศนคติและข้อจำกัดของอีกฝ่าย เพื่อให้การเจรจาดำเนินไปอย่างราบรื่นและบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย รวมถึงข้อสังเกตเมื่อการเจรจามาถึงทางตัน (When to walk away) ซึ่งรายงานกลุ่มในสัปดาห์นี้ กำหนดให้เราจัดทำ Negotiation Prep Sheet โดยอิงจาก Term Sheet ที่เราทำขึ้นในสัปดาห์ที่ 5 และกำหนดให้เราสลับมุมมองเป็นอีกฝ่าย โดยให้พิจารณาองค์ประกอบต่างๆ เช่น ความต้องการ ทางเลือก และข้อจำกัดของแต่ละฝ่าย การกำหนด Scenario และข้อกำหนดที่แต่ละฝ่ายสามารถรับได้ โดยจะต้องอ้างอิงข้อมูลแหล่งอื่นๆ เพื่อประกอบการกำหนดรายละเอียดต่างๆเหล่านั้น



สัปดาห์ที่ 7 Acquisitions & LOI



บทเรียนในสัปดาห์สุดท้ายของหลักสูตร Venture Deals Summers 2020 ครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเข้าซื้อกิจการ (Acquisition) เช่น Structure of LOI (Letter of Intent), Asset Deals vs Stock Deals, Form of Consideration, Assumptions of Stock Options, Escrow, Employees/ Acquisitions & Condition to Close สำหรับงานกลุ่มประจำสัปดาห์ กำหนดให้แต่ละกลุ่ม ค้นหาบริษัทที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ในการเข้าซื้อธุรกิจของแต่ละกลุ่ม รวมถึงนำเสนอทีมงานที่มีความเหมาะสมในการรับผิดชอบธุรกิจหลังจาการเข้าซื้อกิจการ โดยกระบวนการทำรายงานครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงการวิเคราะห์ Synergy และมูลค่าเพิ่มที่ Acquirer จะได้รับ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานการวิเคราะห์โอกาสและความเป็นไปได้ที่การเข้าซื้อกิจการนั้นจะประสบความสำเร็จ



กิจกรรมเสริมพิเศษ AMA (Ask Me Anything)



นอกจากบทเรียนและการเรียนรู้ผ่านการทำรายงานกลุ่มแล้ว ทางทีม Techstars และ Koeffman Fellows ยังได้จัดกิจกรรม Ask Me Anything ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการทุกคนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วม Webinars และสามารถตั้งคำถามผ่าน Live Chat โดยกิจกรรม AMA สำหรับ Venture Deals Summers 2020 จัดขึ้นทั้งหมดสามครั้ง โดยเรามีโอกาสได้ฟังมุมมองจาก คุณ David Cohen ผู้ก่อตั้ง Techstars คุณ Jeff Harback, CEO Koeffman Fellows และ คุณ Brad Feld, Co-Founder TechStars และผู้ก่อตั้ง Foundry Group ที่เป็น Idol ของหลายๆ คน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา หลายๆ นที่อยู่ในประเทศแถบเอเชียก็ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องอดหลับอดนอน เพราะเราสามารถชมย้อนหลังระบบผ่าน Crowd Cast ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่ใช้ลงทะเบียนในการเข้าร่วมกิจกรรม AMA นั่นเอง



ได้อะไรจาก Venture Deals Summer 2020




  • ผู้เขียนได้เห็นความซับซ้อนของ Term Sheet ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ผ่านการทำรายงานเดี่ยว โดยเฉพาะเครื่องมือต่างๆที่สามารถลองกำหนด ข้อต่อรองต่างๆ เช่น Valuation Cap, Option Pool และการคำนวณ Liquidation Preference เมื่อมีนักลงทุนที่ร่วมสนับสนุนการลงทุนทั้ง Seed และ Series A ซึ่งทำให้เห็นว่าการเจรจาต่อรองข้อกำหนดในการลงทุนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวังและที่สำคัญควรพึ่งพาที่ปรึกษากฎหมายที่เชี่ยวชาญ รวมถึงขอคำแนะนำจากพี่ๆเพื่อนๆ ที่มีประสบการณ์ระดมทุนมาก่อน


  • ได้เจอเพื่อนใหม่ในทีม และเรียนรู้จากประสบการณ์ของเพื่อนๆ ที่มีความรับผิดชอบและพร้อมที่จะสละเวลาประชุมร่วมกันและสามารถสรุปงานกลุ่มได้ภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การเรียน Venture Deal ผ่านไปด้วยดี


  • ได้เห็นศักยภาพของ Virtual World ที่สามารถดึงดูดผู้คนที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมโลกให้เข้ามารวมตัวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง และความคิดเห็น ผ่านกระบวนการ Peer Review ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถให้คะแนนและให้ความคิดเห็นต่อรายงานต่างๆ ที่ทีมอื่นๆ ส่งเข้าระบบ



องค์ประกอบต่างๆ นี้เอง คงเป็นเสน่ห์ของ Venture Deals ที่ทำให้หลายๆ คนที่เคยเรียนแล้ว ก็เข้าไปลงทะเบียนเรียนอีกนับครั้งไม่ถ้วนเพราะนอกจากจะได้รอลุ้นว่าจะมีโอกาสได้ฟังนักลงทุนคนไหนในกิจกรรม AMA ก็ยังมีโอกาสลุ้นว่าจะได้เจอเพื่อนใหม่ๆ บนโลกผู้ประกอบการและการลงทุนในสตาร์ทอัพต่อไป…..แล้วพบกับใหม่ Venture Deals Spring 2021!!





อ้างอิง https://kftechstars.novoed.com/#!/courses/venture-deals-summer20/flyer



*Koeffman Fellows (www.kauffmanfellows.org/program) คือโครงการอบรมนักลงทุน Venture Capital ระดับสูง



สรุปโดย ดร.ธนรรภรณ์ เศรษฐ์จินดา (อ.แนน)


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

คุณอาจจะสนใจ