นวัตกรรม : ความหวังใหม่เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา (ตอนที่ 1)

นวัตกรรม : ความหวังใหม่เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา (ตอนที่ 1)

12 กันยายน 2563บทความ3,749

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • นวัตกรรม ความหวังใหม่เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา (ตอนที่ 1) : จากสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง “นวัตกรรม” จึงถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ว่าเป็นทางรอดทางเศรษฐกิจและเป็นความหวังที่จะฟื้นฟูไทย ในตอนที่ 1 นี้จะพูดถึงเรื่องนวัตกรรมในแง่ของ ความหมาย ประเภท และประวัติศาสตร์ ถือเป็นการเรียนรู้อดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน และสร้างสรรค์อนาคต



เวลาในการอ่าน 4 นาที







                       



สถานการณ์ COVID-19 ที่กำลังเกิดขึ้นถือว่าเป็นเหตุการณ์ “ช็อก” โลกและไทยทั้งในมิติเศรษฐกิจสังคมและการสาธารณสุข ในทางเศรษฐกิจถือว่าส่งผลกระทบทางลบอย่างรุนแรง เพราะประเทศไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวอย่างมาก อีกทั้งก่อนเหตุการณ์ COVID-19 เองโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยก็อยู่ในขั้นอ่อนแออยู่แล้ว เนื่องจาก Disruptive Technologies ได้ทำให้สินค้าและบริการของไทยหลายชนิดเกิดความล้าสมัย ธุรกิจหลายประเภทเกิดความตกต่ำ และบางกรณีถึงขั้นตายจากไป  “นวัตกรรม” ถูกพูดถึงว่าจะเป็นทางรอดเป็นความหวังใหม่ที่จะฟื้นฟูไทยให้กลับมาผงาดได้ แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมา ไทยอาจจะไม่ใช่ประเทศที่ยิ่งใหญ่ในการประดิษฐ์หรือสร้างนวัตกรรมเท่าใดนัก แต่การที่สินค้าไทยหลายชนิด เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค บริการด้าน Hospitality เป็นต้น มีความโดดเด่นมากๆ มันคือ นวัตกรรมรูปแบบหนึ่ง ที่คนไทยสามารถภูมิใจได้ เพียงแต่ในยุค Digital Economy ที่กำลังมาถึงนี้ คนไทยต้องหันกลับมาทบทวนว่าเราจะสร้างหรือยกระดับนวัตกรรมครั้งใหม่ของเราอย่างไรบ้าง ชุดบทความ “นวัตกรรม : ความหวังใหม่เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา” ต่อไปนี้ จะลองพยายามหาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ “นวัตกรรม” มาเพื่อจะเป็นประโยชน์ในการพลิกโฉมประเทศไทย ให้หลุดพ้นจากสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน



1) ความหมาย



ข้อมูลจาก Wikipedia อธิบายว่า นวัตกรรม (Innovation) หมายถึง “ความคิดสร้างสรรค์หรือจินตนาการที่แสดงออกมาในรูปแบบของสิ่งประดิษฐ์ (Device) หรือวิธีการ (Method)” บ่อยครั้งอาจแสดงเป็นคำสมัยใหม่ของยุคนี้ คือ “Application of better solutions” เพื่อตอบสนองความต้องการที่มีอยู่ทั้งที่ชัดแจ้ง (Existing) และไม่ชัดเจน (Uncerticulated หรือ Unmet) นวัตกรรมอาจอยู่ในลักษณะของผลิตภัณฑ์ (Product) บริการ (Service) กระบวนการ (Process) หรือแบบจำลองทางธุรกิจ (Business model) ก็ได้



นวัตกรรม อาจเป็นสิ่งที่คิดขึ้นมาใหม่ (Something Original) หรือปรับปรุงของเดิมขึ้นมาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น (More effective) แต่ควรจะเป็นสิ่งที่สร้างให้เกิดผลกระทบทางบวกในวงกว้างต่อเศรษฐกิจและสังคม “Breaks into market or society” เช่นการเกิดขึ้นของหลอดไฟ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือยุค Analog โทรศัพท์มือถือ Smart phone ยุค Digital เป็นต้น



2) Sustaining Innovation และ Disruptive Innovations



ประเภทของนวัตกรรมนอกจากจะมองเป็นแบบ product ,service, process แล้วสามารถเพิ่มความลึกออกเป็น Sustaining Innovation และ Disruptive Innovation



Sustaining Innovation เป็นการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์หรือบริการจากความต้องการในลักษณะ “known needs” ของลูกค้า เช่น ทีวีจอแบน หรือ Smart phone ที่มีกำลังหรือฟังก์ชันที่ทำงานได้ดีขึ้น



Disruptive Innovation เป็นการพัฒนานวัตกรรมผ่าน “กระบวนการแบบใหม่” เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือ บริการใหม่ ที่ช่วยสร้างตลาดใหม่หรือลูกค้าใหม่ เช่น การเกิดขึ้นของวิทยุทรานซิสเตอร์ในอดีต และ Smart phone อย่าง iPhone ครั้งแรก ที่คนคาดไม่ถึงว่า จะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกของโทรศัพท์มือถือไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และยังส่งผลต่อธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองตามมาอีกมากมาย และ Disruptive Innovation นี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ธุรกิจต่างๆ พากันลงทุนทำวิจัย เพราะจะมีผลต่อความสำเร็จในระยะยาวของธุรกิจ



3) ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ นวัตกรรม



“นวัตกรรม” ที่มนุษยชาติได้สร้างขึ้นมีส่วนสำคัญในการ “เปลี่ยนโลก” มาได้หลายครั้ง เช่น การปฏิรูปที่ดินริมลุ่มแม่น้ำและใช้เทคนิคการปลูกธัญพืชเป็นแปลง ทำให้ได้ผลผลิตมากๆ เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อห้าพันปีก่อน ทำให้เกิด “Green Revolution” และส่งผลให้เกิดแหล่งอารยธรรมโบราณตามลุ่มแม่น้ำต่างๆ ในโลก เช่น ลุ่มแม่น้ำไนล์ในอียิปต์ ลุ่มแม่น้ำเมโสโปเตเมียในอิรัก ลุ่มแม่น้ำสินธุและคงคาในอินเดีย ลุ่มแม่น้ำฮวงโหและแยงซีเกียงในจีน เป็นต้น



“นวัตกรรม” ครั้งใหม่ๆ ที่เปลี่ยนโลกได้อีกครั้ง ก็คือ ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่เรียกว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” ซึ่งกินเวลาต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ตั้งแต่การคิดเครื่องจักรไอน้ำไฟฟ้า รถไฟ รถยนต์ เป็นต้น ส่งผลต่อการเดินทาง ขนส่ง การผลิต ทำให้ประเทศที่คิดค้นสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะทางซีกโลกตะวันตก กลายเป็นมหาอำนาจ เพราะนวัตกรรมส่วนหนึ่งที่ตามมา เช่น เรือรบ ปืน อาวุธ ต่างๆ จึงใช้เพื่อล่าอาณานิคมให้ป้อนวัตถุดิบแก่ประเทศของตน ในมิติทางเศรษฐศาสตร์ นวัตกรรมซึ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ได้ก่อให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างมหาศาล มีการใช้วัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น แรงงานมนุษย์ถูกโยกย้ายจากภาคการเกษตร เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อทำงานร่วมกับเครื่องจักร เกิดสินค้าและบริการที่นำออกมาสู่ตลาดอย่างมากมาย ตลาดการเงินก็ได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับปริมาณการค้าที่มีมากขึ้น เศรษฐกิจของโลกจึงมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับอดีต



“นวัตกรรม” ที่กำลังเกิดขึ้นครั้งใหม่ต่อจากนี้ไปถึงอนาคต เป็นร่องรอยจากการค่อยๆ พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้ทันสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะช่วยทำให้การประมวลผลข้อมูลทำได้ง่าย และเมื่อเชื่อมไปสู่การพัฒนาการสื่อสารในรูปแบบใหม่ๆ ทำให้ทั้ง Computer, Information Technology, Telephone, Telecom Technology บูรณาการเข้าหากันจนสามารถเริ่มเปลี่ยนโลกอุตสาหกรรมเดิมที่พัฒนามา 300 ปี และเรียกยุคนี้ว่า Analog Economy เข้าสู่ยุค “Digital Economy”



นักวิชาการหลายท่าน เห็นว่า Analog Economy ผ่านการเปลี่ยนผ่านการปฏิวัติโดยอาศัยนวัตกรรมมา 3 ช่วง จึงเรียกเป็นช่วงอุตสาหกรรม 1.0 2.0 และ 3.0 และเรียกยุค Digital Economy นี้ว่า โลกอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเรากำลังเดินทางเข้าสู่ยุคใหม่ และนวัตกรรมก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้ยุคนี้ต่างจากยุคที่ผ่านมา คำถามก็คือ คนไทยจะได้เรียนรู้ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในยุคใหม่นี้ เพื่อไปสู่จุดที่ดีกว่าของเศรษฐกิจและสังคมของเราอย่างไร



บทความ ซีรีส์ "นวัตกรรม ความหวังใหม่เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา"



ตอนที่ 1 : ได้พูดถึงเรื่องนวัตกรรมในแง่ของ ความหมาย ประเภท และประวัติศาสตร์ ถือเป็นการเรียนรู้อดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน และสร้างสรรค์อนาคต



ตอนที่ 2 : ทำความเข้าใจความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการสร้างให้เกิดนวัตกรรม (Process of innovation) ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เกิดนวัตกรรม ความแตกต่างระหว่าง Invention และ Innovation การแพร่ของนวัตกรรม ตลอดจนนวัตกรรมกับการประยุกต์ใช้ในธุรกิจ เพื่อที่จะสามารถรักษาและยกระดับความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจในอนาคต



ตอนที่ 3 : การสร้างนวัตกรรมในยุค Digital จำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้เทคโนโลยี เนื่องจากเป็นยุคที่คนส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีผ่านเครื่องมือต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงาน การค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการ ตลอดจนการโอนชำระเงิน ในบทความนี้จะกล่าวถึงแนวโน้มของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ตอบโจทย์กับธุรกิจในอนาคต



ตอนที่ 4 : การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ทางธุรกิจเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเป็นเนื้อหาต่อจากตอนที่ 3 ที่กล่าวถึงแนวโน้มของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ตอบโจทย์กับธุรกิจในอนาคต



ตอนที่ 5 : การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากความล้มเหลวของการพัฒนาแบบดั้งเดิมที่ผ่านมาทั้งทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศที่ยิ่งพัฒนายิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ ในบทความตอนนี้จะกล่าวถึงนวัตกรรมที่เรียกว่า “Eco-Innovation” ที่หลายธุรกิจนำมาใช้เพื่อช่วยแก้ไขและพัฒนาระบบนิเวศให้ดีขึ้น



ตอนที่ 6 : การพัฒนา Eco-Innovation ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ไขและพัฒนาระบบนิเวศให้ดีขึ้น แต่ยังส่งผลดีต่อธุรกิจอีกด้วย โดยเป็นเนื้อหาต่อจากตอนที่ 5 ที่กล่าวถึง การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้นวัตกรรมที่เรียกว่า “Eco-Innovation” พร้อมทั้งกรณีศึกษาบริษัทที่ประสบความสำเร็จจากการพัฒนา Eco-Innovation



ตอนที่ 7 : การพัฒนา Eco-Innovation เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจในปัจจุบันตระหนักและทราบดีว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น แต่การทำให้เกิดขึ้นได้นั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องใช้เงินทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งอาจทำแล้วได้ผลดีหรือล้มเหลวก็ได้ โดยเป็นเนื้อหาต่อจากตอนที่ 5 และ 6 ซึ่งได้กล่าวถึงแนวทางและข้อคิดในการดึงดูดแหล่งทรัพยากรเงินทุนพร้อมทั้งกรณีศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนา Eco-Innovation



ตอนที่ 8 : นวัตกรรมทางสังคม หรือ Social Innovation





เขียนโดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®   



รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน



ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ