HIGHLIGHTS :
เวลาในการอ่าน 6 นาที
จากสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง “นวัตกรรม” จึงถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ว่าเป็นทางรอดทางเศรษฐกิจและเป็นความหวังที่จะฟื้นฟูประเทศไทย บทความชุด “นวัตกรรม : ความหวังใหม่เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา” นี้ได้รวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ “นวัตกรรม” มาเพื่อจะเป็นประโยชน์ในการพลิกโฉมประเทศไทย ให้หลุดพ้นจากสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ตอนที่ 8 : นวัตกรรมทางสังคม หรือ Social Innovation
ในตอนที่ 2 นี้จะอธิบายถึงความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการสร้างให้เกิดนวัตกรรม (Process of innovation) ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อทั้งระดับองค์กรและระดับประเทศ เพื่อรักษาและยกระดับความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมทั้งสร้างให้เกิดความเติบโตและเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
โดยปกติการทำให้เกิดนวัตกรรมนั้นอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1) การคิดริเริ่มใหม่ๆ (Idea generation) 2) การแก้ปัญหา (Problem solving) และ 3) การนำไปปฏิบัติให้แพร่หลาย (Implementation) และหากเกิดขึ้นเฉพาะข้อ 1 และข้อ 2 เราจะเรียกว่าสิ่งประดิษฐ์ (Invention) แต่เมื่อเกิดข้อ 3 ขึ้นด้วยเราจึงจะเรียกว่า นวัตกรรม (Innovation) องค์กรต่างๆ สามารถสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้โดยเฉพาะในยุคที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบนี้ ใครที่คิดค้นนวัตกรรมที่เหมาะสมกับยุค Digital economy ย่อมจะได้ประโยชน์ในการสร้างความเข้มแข็งแก่ธุรกิจได้มากกว่า
1) แหล่งที่มาของนวัตกรรม
ข้อมูลจาก Wikipedia สรุปว่านวัตกรรมอาจมาจาก การริเริ่มคิดค้นของหน่วยงานต่างๆ ในองค์กร หรือมาจากความบังเอิญ หรือมาจากการล้มเหลวของระบบการทำงานเดิมก็ได้ แบบจำลองที่เรียกว่า Linear model of innovation อธิบายการเกิดขึ้นของนวัตกรรมเรียงลำดับได้จาก ขั้นการประดิษฐ์ (Invention) ขั้นนวัตกรรม (Innovation) และขั้นการแพร่นวัตกรรม (Diffusion) จุดตั้งต้นของการสร้างนวัตกรรมในหลายๆ องค์กรอาจเริ่มจากการสนับสนุนให้มีหน่วยงานและงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D)
นักวิจัยชื่อ Joseph F. Engelberger ได้สรุปไว้ว่า การเกิดขึ้นของนวัตกรรมได้ ต้องมีปัจจัยแวดล้อม 3 อย่าง ได้แก่
- ความต้องการที่ได้รับการยอมรับ (A recognized need)
- ผู้สร้างและเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Competent people with relevant technology)
- เงินทุนที่ได้รับการสนับสนุน (Financial support)
2) Invention vs Innovation
ข้อมูลจาก techsauce.co อธิบายความแตกต่างระหว่าง Invention และ Innovation ไว้ง่ายๆ ดังนี้
Invention คือ ประดิษฐกรรม ซึ่งอาจเป็นผลิตภัณฑ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา โดยมีการใช้เทคโนโลยีเป็นเบื้องหลังในการพัฒนาอีกต่อหนึ่ง
ส่วน Innovation = Invention * Commercialization
โดย Commercialization หมายถึงการนำเข้าสู่ตลาด หรือการทำให้ Invention นั้นๆ เป็นที่ต้องการจริงในตลาด
3) การแพร่นวัตกรรม (Diffusion)
นวัตกรรมจะประสบความสำเร็จได้ก็จะต้องได้รับการยอมรับและนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งจะต้องมีกระบวนการแพร่นวัตกรรม ดังนี้
- การให้ความรู้ (Knowledge)
- การเกิดขึ้นของทัศนคติ (Forming an altitude)
- การตัดสินใจว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธ (A decision to adopt or reject)
- การนำไปใช้ (Implementation and use)
- การยืนยันว่าตัดสินใจถูกต้อง (Confirmation of the decision)
เมื่อเกิดนวัตกรรมขึ้น และผ่านกระบวนการแพร่นวัตกรรมข้างต้นนี้ นวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จจะมีแนวโน้มการเติบโตตามกาลเวลาในลักษณะ S-curve โดยจะมีทั้งการเติบโตของยอดขาย (Revenue) หรือผลิตภาพ (Productivity) ที่สูงขึ้นตามเวลา เมื่อผ่านช่วงต้นแล้ว และลูกค้ากลุ่มต่างๆ ยอมรับมากขึ้น การเติบโตของยอดขายก็จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนกว่าจะถึงปลาย วัฏจักรความต้องการที่เติบโตลดลงก็จะทำให้อัตราการเติบโตของยอดขายและกำไรลดต่ำลงเมื่อเทียบกับในอดีต และทางองค์กรก็จะไปคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาอีก ทำให้ S-curve เส้นใหม่ก็จะเกิดขึ้นตามมาต่อไป
4) นวัตกรรมกับธุรกิจ
เนื่องจากนวัตกรรมจะมีส่วนช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ ในทางธุรกิจจึงอยากเห็นนวัตกรรมที่สามารถไปช่วยขยายตลาดได้ไม่ว่าจะเป็นตลาดเดิมหรือตลาดใหม่ ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จก็จะสามารถทำให้ยอดขายและกำไรเติบโตได้ในอนาคต Megan Doyle ผู้เขียน Four Types of Innovation in Business ได้สรุปไว้ว่าบริษัทหรือธุรกิจสามารถพัฒนานวัตกรรมชนิดใดชนิดหนึ่งใน 4 กรณี เพื่อช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจได้ดังนี้
Incremental innovation
คือ นวัตกรรมที่มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิม (Existing products) ให้มีประโยชน์ และมูลค่าที่ดีขึ้นแก่ลูกค้าในตลาดเดิม (Existing market) โดยอาจเป็นการแก้ไขข้อบกพร่อง (Defects) หรือการปรับปรุงการใช้งาน (Performance) ทั้งนี้ในวิธีการอาจเป็นการเพิ่มหรือขยายสายผลิตภัณฑ์ (Product line expansions) การลดต้นทุน (Cost reductions) หรือออกผลิตภัณฑ์ใหม่ (Next-generation products) เป็นต้น
Architectural innovation
คือ นวัตกรรมที่มุ่งดัดแปลง (Modification) ผลิตภัณฑ์เดิม (Existing solutions) ไปตอบโจทย์ลูกค้าในตลาดใหม่ (New market) เนื่องจากธุรกิจมีประสบการณ์จากผลิตภัณฑ์เดิมอยู่แล้วก็อาจมาดูว่าจะมีวิธีปรับเปลี่ยนรูปแบบ (Design) ของผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในตลาดใหม่ ซึ่งอาจมีทั้งความต้องการที่เหมือนและต่างจากกลุ่มลูกค้าเดิมในตลาดเดิมได้
Disruptive innovation
คือ นวัตกรรมที่มาจากเทคโนโลยีใหม่หรือผลิตภัณฑ์ (New technologies and products) ที่ถูกคิดค้นออกมาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าในตลาดเดิม (Existing market) โดยเทคโนโลยีใหม่นี้อาจทำให้ลูกค้าได้ประโยชน์จากประสิทธิภาพการใช้งานหรือการเข้าถึงที่ดีขึ้น และเหนือกว่าคู่แข่งในตลาดเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นสินค้าหรือบริการที่ยังไม่เคยดึง Unmet need มาตอบโจทย์มาก่อนเลย ผู้ที่ทำได้สำเร็จจะทำให้เกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในลักษณะพลิกโฉมและครองส่วนแบ่งการตลาดได้มาก (เป็น Market leader)
Radical innovation
คือ นวัตกรรมที่มุ่งพัฒนาออกมาเป็นเทคโนโลยีใหม่หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าในตลาดใหม่ (New market) นวัตกรรมในกลุ่มนี้อาจเป็นผลิตภัณฑ์ (Product) กระบวนการ (Process) หรือ บริการ (Service) ก็ได้ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าเดิมจนทำให้ลูกค้าหันมาใช้ และสามารถทดแทนสินค้าและบริการที่มีอยู่เดิมได้อย่างสมบูรณ์
โดยธรรมชาติการพัฒนานวัตกรรมเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนใช้ทั้งทรัพยากรและเวลา Incremental innovation ถือว่าอาจใช้เวลาในการสร้างให้เกิดได้เร็วที่สุดและไม่ต้องใช้ความสามารถ (Competency) สูงมากนัก เพราะเป็นการพัฒนานวัตกรรมบนสินค้าใหม่ ส่วน Disruption innovation และ Architectural innovation ต้องใช้เวลาและความสามารถที่มากขึ้นจึงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงผลิตภัณฑ์ได้ สำหรับ Radical innovation ถือว่าต้องใช้เวลานานที่สุด และต้องใช้ความสามารถค่อนข้างสูงทางด้านเทคโนโลยีจึงจะสร้างสิ่งใหม่ในตลาดใหม่ได้ คำถามในตอนนี้ก็คือ ธุรกิจของท่านกำลังลงทุนทำนวัตกรรมชนิดไหนอยู่ ?
ที่มา : techsauce.co
เขียนโดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®
รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย