นวัตกรรม : ความหวังใหม่เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา (ตอนที่ 3)

นวัตกรรม : ความหวังใหม่เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา (ตอนที่ 3)

28 กันยายน 2563บทความ6,091

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • นวัตกรรม ความหวังใหม่เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา (ตอนที่ 3) : การสร้างนวัตกรรมในยุค Digital จำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้เทคโนโลยี เนื่องจากเป็นยุคที่คนส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีผ่านเครื่องมือต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงาน การค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการ ตลอดจนการโอนชำระเงิน ในบทความนี้จะกล่าวถึงแนวโน้มของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ตอบโจทย์กับธุรกิจในอนาคต



 เวลาในการอ่าน 4 นาที









จากสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทางลบ ต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง “นวัตกรรม” จึงถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ว่าเป็นทางรอดทางเศรษฐกิจและเป็นความหวังที่จะฟื้นฟูประเทศไทย บทความชุด “นวัตกรรม : ความหวังใหม่เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา” นี้ได้รวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ “นวัตกรรม” มาเพื่อจะเป็นประโยชน์ในการพลิกโฉมประเทศไทย ให้หลุดพ้นจากสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน



ตอนที่ 1 : ได้พูดถึงเรื่องนวัตกรรมในแง่ของ ความหมาย ประเภท และประวัติศาสตร์ ถือเป็นการเรียนรู้อดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน และสร้างสรรค์อนาคต



ตอนที่ 2 : ทำความเข้าใจความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการสร้างให้เกิดนวัตกรรม (Process of innovation) ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เกิดนวัตกรรม ความแตกต่างระหว่าง Invention และ Innovation การแพร่ของนวัตกรรม ตลอดจนนวัตกรรมกับการประยุกต์ใช้ในธุรกิจ เพื่อที่จะสามารถรักษาและยกระดับความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจในอนาคต



ตอนที่ 3 : การสร้างนวัตกรรมในยุค Digital จำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้เทคโนโลยี เนื่องจากเป็นยุคที่คนส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีผ่านเครื่องมือต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงาน การค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการ ตลอดจนการโอนชำระเงิน ในบทความนี้จะกล่าวถึงแนวโน้มของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ตอบโจทย์กับธุรกิจในอนาคต



ตอนที่ 4 : การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ทางธุรกิจเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเป็นเนื้อหาต่อจากตอนที่ 3 ที่กล่าวถึงแนวโน้มของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ตอบโจทย์กับธุรกิจในอนาคต



ตอนที่ 5 : การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากความล้มเหลวของการพัฒนาแบบดั้งเดิมที่ผ่านมาทั้งทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศที่ยิ่งพัฒนายิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ ในบทความตอนนี้จะกล่าวถึงนวัตกรรมที่เรียกว่า “Eco-Innovation” ที่หลายธุรกิจนำมาใช้เพื่อช่วยแก้ไขและพัฒนาระบบนิเวศให้ดีขึ้น



ตอนที่ 6 : การพัฒนา Eco-Innovation ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ไขและพัฒนาระบบนิเวศให้ดีขึ้น แต่ยังส่งผลดีต่อธุรกิจอีกด้วย โดยเป็นเนื้อหาต่อจากตอนที่ 5 ที่กล่าวถึง การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้นวัตกรรมที่เรียกว่า “Eco-Innovation” พร้อมทั้งกรณีศึกษาบริษัทที่ประสบความสำเร็จจากการพัฒนา Eco-Innovation



ตอนที่ 7 : การพัฒนา Eco-Innovation เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจในปัจจุบันตระหนักและทราบดีว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น แต่การทำให้เกิดขึ้นได้นั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องใช้เงินทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งอาจทำแล้วได้ผลดีหรือล้มเหลวก็ได้ โดยเป็นเนื้อหาต่อจากตอนที่ 5 และ 6 ซึ่งได้กล่าวถึงแนวทางและข้อคิดในการดึงดูดแหล่งทรัพยากรเงินทุนพร้อมทั้งกรณีศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนา Eco-Innovation



ตอนที่ 8 : นวัตกรรมทางสังคม หรือ Social Innovation



การสร้างนวัตกรรมในยุค Digital นั้นหลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยีไม่ได้เลย เพราะเป็นยุคที่คนส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีผ่านเครื่องมือสื่อสารทั้งในชีวิตประจำวัน และในการทำงานแบบขาดไม่ได้ ใช้ทั้งในการสืบค้นข้อมูลการค้นหาสินค้าบริการ การโอนเงินชำระเงิน เป็นต้น ในตอนนี้เราจะมาดูว่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญมองดูแนวโน้มของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อไปตอบโจทย์ในธุรกิจต่างๆ อย่างไร



ข้อมูลจาก Consultancy.eu ในบทความ “12 disruptive business and technology trends for 2020” ได้อธิบายแนวโน้ม 12 ประการของการพัฒนาเทคโนโลยีไปตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภคเอาไว้อย่างน่าสนใจ แม้ว่าขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ในไตรมาส 3 ของปี 2020 แล้วก็ยังคิดว่าไม่ล้าสมัย เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มีความสมบูรณ์ยังต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง



1) Conscious consumerism: from wealth to wellbeing



ผู้บริโภคยุคใหม่จะใส่ใจผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อยากให้เกิดการกินดีอยู่ดีของทั้งตนเอง ครอบครัว และคนอื่นๆ ในสังคม ดังนั้นจะสนับสนุนสินค้าบริการที่นอกจากจะทำให้ดีต่อสุขภาพแล้วยังต้องมีส่วนช่วยทำให้โลกดีขึ้นด้วย ตัวอย่างสินค้าด้านอาหารในซุปเปอร์มาร์เก็ต คนจะหาสินค้าที่ปลอดจากการใช้พลาสติก หรือมีภาชนะที่หันกลับมาใช้หมุนเวียนได้อีก สินค้าประเภทที่เรียกว่า “Sustainable goods” จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าผู้บริโภคจะไม่ถึงขนาดที่เรียกว่า “Zero-waste consumer” แต่ในระยะยาวๆ อาจพัฒนาไปถึงแบบนี้ได้ บริษัทหรือธุรกิจที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ในลักษณะดังกล่าวได้ดีและก่อนคนอื่นจะสามารถใช้ประโยชน์จากกระแสเรื่อง “Green” นี้ และทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันได้รวดเร็วกว่า



2) Biotech : at the forefront of superhumans?



จากปัจจุบันไปจนถึงอนาคต มนุษยชาติจะมีความตระหนักใส่ใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น จะมีความพยายามคิดค้นหาวิธีป้องกันหรือเอาชนะโรคภัยต่างๆ ที่มนุษย์เผชิญอยู่ เทคโนโลยีจะถูกบูรณาการเข้าไปกับความรู้ทางด้านชีววิทยา โดยเฉพาะบรรดาสถาบันทางการแพทย์ต่างๆ ที่จะเข้ามาคิดค้นและวิจัยมากขึ้นแบบก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อาหาร ยารักษาโรค กีฬา และศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ การพัฒนา “Biotechnology” จะเจริญขึ้นผ่านทั้งสถาบันวิจัย (Research Institutions) และหน่วยวิจัยเล็กๆ ที่จะเกิดขึ้นจากภายนอก (Outside laboratories) ในอนาคตอันใกล้นี้การเติม Gene ลงไปให้นักกีฬา หรือ การสร้างมดลูกเทียม เพื่อเป็นตัวอ่อนของเด็กทารกเข้าไปอยู่อาศัยได้เสมือนท้องแม่จริงๆ ถูกคาดการณ์ว่าอาจทำให้เกิดจริงได้ อย่างไรก็ดีการพัฒนาเรื่อง Biotechnology นี้ต้องสร้างความสมดุลในด้านจริยธรรมด้วย บริษัทที่สนใจเรื่องนี้สามารถเริ่มจากการพัฒนานวัตกรรมจาก Biotechnology ได้ โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นประโยชน์ในทางบวกต่อสุขภาพของมนุษย์ เช่น ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น หรือช่วยรักษาให้หายจากโรคภัยต่างๆ เป็นต้น ซึ่งยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก



3) Internet of robotic things



เรื่อง Internet of Things (IoT) และเรื่องหุ่นยนต์ (Robotics) จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถ้า 2 สิ่งนี้นำมารวมกันจะถูกเรียกว่า IoRT ซึ่งสามารถเปลี่ยนเกมไปได้เลย คนส่วนใหญ่ทราบดีอยู่แล้วว่า IoT สะท้อนถึงการมีเครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นพันล้านเครื่องทั่วโลก การเชื่อมโยงเครือข่ายนี้เข้าด้วยกัน จะตามมาด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาลที่คนสามารถเข้าถึงและแลกเปลี่ยนกัน ส่วน IoRT ถือว่าเป็น IoT ที่ถูกพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง โดยนำ Robot และ Artificial Intelligence (AI) เข้ามาในลักษณะที่เรียกว่า “Robotics System” เพื่อจะสังเกต แปล ประเมินผลข้อมูลในมิติต่างๆ และนำไปใช้ประโยชน์เพื่อตัดสินใจต่อไป การเชื่อมต่อระหว่าง Robotics และ AI ใช้เทคโนโลยี “Sensor Technology” หรือถูกเรียกว่า “Embodies Connection” ในการทำหน้าที่จัดการข้อมูลดังกล่าวซึ่งมีอยู่มากมายหลายมิติ ธุรกิจต่างๆ สนใจการพัฒนาเรื่อง IoRT นี้ เพราะสามารถติดตามความต้องการของลูกค้าได้ในเชิงลึก สามารถนำมาวิเคราะห์คู่แข่ง เป็นต้น



ในอนาคตอันใกล้ไม่กี่ปีข้างหน้าเราอาจพบหุ่นยนต์ที่วิเคราะห์ข้อมูลและส่งผลกระทบต่อวิธีทำธุรกิจทั้งในลักษณะ B2B และ B2C ได้ เราอาจได้เห็นหุ่นยนต์ที่สามารถเชื่อมโลหะ และวาดภาพที่ผนังได้ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่เรียกว่า “Collaborative robots” ที่มนุษย์สามารถนำมาช่วยงานต่างๆ ได้มากขึ้น และแก้ปัญหาแรงงานบางชนิดที่ขาดแคลนได้ นอกจากนี้โลกในอนาคตตั้งแต่ปี 2020 - 2050 จำนวนประชากรโลกที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จะมีการสร้าง “Domestic robot” เพื่อช่วยทำงาน หรือดูแลผู้สูงอายุเหล่านี้ เราจะสามารถเห็นพัฒนาการเรื่องหุ่นยนต์ดีขึ้นเรื่อยๆ



4) Voice technology as the new way to pay



ปัจจุบันการเกิดขึ้นของ Voice Technology ก็มีให้เห็นบ้างแล้วไม่ว่าจะเป็น Apple’s Siri, Amazon’s Alexa, Google’s Assistant เป็นต้น Voice Technology เป็นการผสานระหว่าง อุปกรณ์ บริการ และคนเข้าด้วยกัน ถือเป็นขั้นการพัฒนาที่สูงขึ้นที่ทางธุรกิจสามารถนำมาใช้ประโยชน์กรณีที่ลูกค้าสามารถสั่งการกับเครื่องโดยใช้เสียงได้ Voice Technology เป็นการรวมเอาเทคโนโลยีหลายอย่างเข้าด้วยกัน เช่น Artificial Intelligence, Data Collection, Cloud Computing และ Internet of Things และสร้างขึ้นมาเป็น Voicebot ปัจจุบันคาดการณ์ว่าผู้ใหญ่ 1 ใน 5 คน ของสหรัฐอเมริกาเริ่มคุ้นเคยกับการใช้ Voicebot นี้ และในอนาคตต่อไปการค้นหาสิ่งต่างๆ รวมทั้งสินค้าและบริการจะสามารถใช้ Voice Technology เพิ่มขึ้น องค์กรธุรกิจต่างๆ จึงหันมาลงทุนเรียนรู้เทคโนโลยีจากเสียงนี้มากขึ้น เพราะนอกจาก Voice Technology จะทำหน้าที่เป็น An Information Tool แล้ว ยังทำหน้าที่เป็น A Transaction Tool ในการสั่งซื้อและชำระค่าสินค้าบริการด้วย



5) Urban versus rural innovation



จากข้อมูลของ UN คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 ประมาณ 70% ของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดความต้องการต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น พลังงาน การรักษาสุขภาพ น้ำ การเดินทาง ที่อยู่อาศัย เป็นต้น ซึ่งจะเข้ามากดดันทำให้บริการสาธารณะ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่เพียงพอ รวมทั้งผลกระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ลดทอนสภาพการกินดีอยู่ดีของมนุษยชาติลงไปได้



สภาพปัญหาข้างต้นจะกดดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้เข้ามาช่วยแก้หรือลดปัญหาที่ท้าทายดังกล่าว และขับเคลื่อนไปสู่วิถีการดำรงชีวิตแบบใหม่ในเมือง จะมีความพยายามด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ไปสู่ “Smart City” ซึ่งมีทั้งความทันสมัยและน่าอยู่ไปด้วยพร้อมกัน



ในอีกด้านหนึ่งพื้นที่ชนบท (Rural) ก็จะยังเป็นเขตที่ประชากรอยู่ในลักษณะไม่หนาแน่น อาจเป็นพื้นที่เป้าหมายในการพักผ่อนของคนเมืองที่ต้องการใกล้ชิดธรรมชาติ หรือเป็นพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุพักผ่อนยามเกษียณ และเนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสารที่สามารถทำงานได้ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบท เราอาจได้เห็นคนทำงานบางประเภทที่สามารถทำงานที่ชนบท แต่สามารถติดต่อและทำงานร่วมกับคนที่อยู่สำนักงานในเมืองได้ ซึ่งถือว่าเป็นการลดปัญหาการแยกตัวของพื้นที่ชนบท (Rural Isolation) และช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างในเมืองกับชนบทลงได้ระดับหนึ่ง ในมิติการพัฒนาเพื่อสร้างความเจริญให้พื้นที่ที่ด้อยโอกาสมาแต่เดิม แต่การจะเกิดสถานการณ์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รัฐบาลและภาคเอกชนจะต้องมีการร่วมกันคิดถึง Roadmap ในการพัฒนาพื้นที่ทั้งในเมืองและชนบทต่อไปในอัตราเร่งที่เร็วขึ้น





ที่มา : Consultancy.eu



เขียนโดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®   



รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน



ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ