HIGHLIGHTS :
เวลาในการอ่าน 5 นาที
จากสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทางลบ ต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง “นวัตกรรม” จึงถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ว่าเป็นทางรอดทางเศรษฐกิจและเป็นความหวังที่จะฟื้นฟูประเทศไทย บทความชุด “นวัตกรรม : ความหวังใหม่เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา” นี้ได้รวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ “นวัตกรรม” มาเพื่อจะเป็นประโยชน์ในการพลิกโฉมประเทศไทย ให้หลุดพ้นจากสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ตอนที่ 8 : นวัตกรรมทางสังคม หรือ Social Innovation
บทความตอนนี้จะกล่าวถึง นวัตกรรมที่เรียกว่า “Eco-Innovation” หรือ นวัตกรรมที่ช่วยแก้ไขและพัฒนาระบบนิเวศ ซึ่งเป็นสิ่งที่มากับ “การพัฒนาความยั่งยืน (Sustainable development)” เพราะแรงกดดันที่เห็นร่วมกันผ่านองค์การสหประชาชาติว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของโลกที่ผ่านมายิ่งพัฒนาสังคมก็ยิ่งทวีความเหลื่อมล้ำ และสภาพแวดล้อมก็เสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ สาเหตุสำคัญมาจากมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมาจากมนุษย์ที่เป็นปัจเจกบุคคลหรือนิติบุคคลก็ตาม การพัฒนาในยุคต่อไปทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาครัฐจึงควรได้รับความรู้ความเข้าใจและร่วมหาหนทางเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาเหล่านี้ Eco-Innovation ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่พยายามคิดค้นกันออกมา โดยเฉพาะจากทางภาคธุรกิจเพื่อค้นหาสินค้าและบริการ หรือกระบวนการในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมไปด้วยในตัวระหว่างที่ต้องผลิตสินค้าและบริการออกสู่ระบบเศรษฐกิจไปด้วย
ผู้เขียนได้นำเนื้อหาจาก “The Business Case For Eco-Innovation” ของ UNEP และ European Commission ในปี 2014 ในหัวข้อ “Access new and emerging markets” ซึ่งมีประเด็นสำคัญ สรุปได้ดังต่อไปนี้
1) ตลาดที่ใหญ่ขึ้นของประเทศกำลังพัฒนาเอื้อต่อการทำธุรกิจที่เสนอ Eco-innovation
ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเทศกำลังพัฒนาปัจจุบันมีระดับรุนแรงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาต่างก็รู้ดี ในขณะที่ตลาดผู้บริโภคของประเทศเหล่านี้มีการขยายตัวมากขึ้น หากมีผู้นำเสนอสินค้าและบริการที่ดี และใช้ Eco-innovation เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้วย ก็มีโอกาสสูงเช่นกันที่จะประสบความสำเร็จได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
บริษัท Specialized Solar System (SSS) จากแอฟริกาใต้ที่ช่วยนำกระแสไฟฟ้าไปสู่ชุมชนที่ห่างไกล
SSS เป็นธุรกิจ Startup เล็กๆ ที่สามารถเติบโตได้ถึง 3 เท่าในช่วงเวลา 3 ปี และขยายธุรกิจไปยังอีก 4 ประเทศใกล้เคียงกับประเทศแอฟริกาใต้ SSS ทำธุรกิจเป็นผู้จัดหาไฟฟ้าในลักษณะ Renewable energy ไปยังชุมชนที่ห่างไกลชนบทที่ขาดแคลนไฟฟ้า โดยผลิต Microgrid kit ที่มีอุปกรณ์ดึงพลังแสงอาทิตย์มาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า และอุปกรณ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (Home appliance) ทำให้ง่ายต่อการใช้ และแผ่นพลังงานรับแสงอาทิตย์ก็มีประสิทธิภาพสูง สามารถทนทานต่อการใช้งานได้นานถึง 20 ปี รวมทั้งมีความสะดวกในการซ่อมแซม เนื่องจากพัฒนาระบบออนไลน์ และมีเครือข่ายจุดบริการซ่อมในท้องถิ่นอย่างเพียงพอ
บริษัท Natura ของบราซิล ที่ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกตลาดใหม่ด้วยผลิตภัณฑ์ Bath & Body
ในประเทศบราซิล บริษัท Natura ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องสำอางได้เติบโตจนครอบครองส่วนแบ่งการตลาดได้เกินกว่า 20% และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 26% ระหว่างปี 2005 - 2010 ขนาดของธุรกิจของ Natura ระหว่างปี 2007 - 2011 คาดว่าโตขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่า ทั้งนี้ Natura ระบุอย่างชัดเจนว่า ตั้งใจให้กลยุทธ์ธุรกิจมีความโดดเด่นในเรื่อง “Sustainability” และ “Market differentiation” ผลิตภัณฑ์ของ Natura มุ่งเน้นไปที่สบู่ แชมพู ที่ใช้อาบน้ำ โดยที่ตั้งใจให้เป็น “A new product to consumers” โดยในทุกขั้นตอนการผลิตจะพยายามลดผลกระทบทางลบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบส่วนผสม การหีบห่อ จะต้องระวังอย่างยิ่งตลอดห่วงโซ่คุณค่า เป็นที่น่าชื่นชมว่า Natura สามารถขยายยอดขายในตลาดใหม่ได้อย่างรวดเร็วเพราะโดนใจผู้บริโภคและราคาที่ประหยัดกว่าคู่แข่ง 20% - 40%
2) ความต้องการสินค้าที่ดูแลสังคมสิ่งแวดล้อม (Sustainable products) กำลังเติบโตอย่างมากทั่วโลก
ความต้องการสินค้าประเภทดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมกำลังเติบโตขึ้นอย่างมากทั่วทั้งโลก ในบางตลาดสินค้าประเภทนี้บางตัวที่ได้รับความนิยมถึงขนาดขาดตลาด และทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้ารักษ์โลกก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
บริษัท Ecover ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดแบบรักษ์โลก (Ecological cleaning products) ของเบลเยี่ยม สามารถขยายยอดขายได้มากขึ้นเนื่องจากตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
ในยุโรปตลาดของ Ecological cleaning product เติบโต 21% ในช่วงระหว่างปี 2007 - 2011 ซึ่งเป็นโอกาสของบริษัท Ecover ของเบลเยี่ยม Ecover สามารถเพิ่มยอดขายได้ 10% - 25% ระหว่างปี 2002 - 2013 ขณะที่คู่แข่งรายอื่นแทบไม่เติบโต Ecover ใช้กลยุทธ์ที่หานวัตกรรมใหม่ๆ (Innovative business model) และดูแลทั่วทั้ง ห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ที่แต่เดิมใช้สารเคมีที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม สูตรของการทำน้ำยาของผลิตภัณฑ์จึงถูกปรับปรุงใหม่ทุกขั้นตอนการผลิตจนถึงการจำหน่าย Ecover ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งใกล้และไกล ตัวอย่างหนึ่งของผลิตภัณฑ์ Ecover คือ น้ำยาซักผ้าซึ่งแต่เดิมต้องใช้กับน้ำร้อนในเครื่องซักผ้า ที่ต้องใช้ไฟฟ้ามาก Ecover ได้พัฒนานวัตกรรมให้น้ำยาซักผ้าที่ใช้ได้กับน้ำเย็นมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากเดิม แต่ประหยัดไฟลงได้ และเป็นการไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรไฟฟ้าด้วย ซึ่งต่อมาภายหลังบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ ที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบบนี้ก็ได้พัฒนา “Cold-wash detergent” ออกมาจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย
3) ธุรกิจผู้ผลิต Sustainable products ต้องการความโปร่งใสและข้อมูลที่ถูกต้องจากคู่ค้า (Suppliers) บนห่วงโซ่คุณค่า
การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Sustainable products จำเป็นจะต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และมีการเปิดเผยอย่างโปร่งใสจากคู่ค้า และผู้เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน เพราะผู้บริโภคสุดท้าย (End user) และผู้เกี่ยวข้อง หากต้องการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น “รักษ์โลก” จริงหรือไม่ ก็จะต้องมีสิทธิตรวจสอบได้
บริษัท Kering เจ้าของแบรนด์ “PUMA” ใช้วิธี “Environmental Profit and Loss Accounting” (E P&L) ในการชี้แจงและทำงานร่วมกับลูกค้า
บริษัท Kering ได้ใช้ E P&L ซึ่งวัดรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียด โดยได้มีการแสดงต้นทุนในลักษณะ Cost of PUMA’s negative environmental impacts สูงถึง 145 ล้านยูโร ในปี 2010 โดยเป็นต้นทุนการดำเนินงานตามปกติเพียง 8 ล้านยูโร และอีก 137 ล้านยูโร เป็นผลกระทบที่คำนวณจากคู่ค้า (Suppliers) ซึ่งมีจำนวน 195 บริษัทคู่ค้า Kering ใช้กลยุทธ์ E P&L นี้ในการดำเนินธุรกิจและหารือกับคู่ค้า เพื่อจะร่วมกันหาทางลดผลกระทบทางลบให้ลดลงต่อไปในอนาคต
บริษัท Natura ใช้หลัก Social and environmental costs and benefits ในการพิจารณาคัดเลือกคู่ค้า
ในการทำธุรกิจนั้น ปกติคำนึงถึงผลประโยชน์ (Benefits) และต้นทุน(Costs) อยู่แล้ว แต่มักจะเป็นลักษณะตัวเลขทางการเงินเท่านั้น แต่ในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนนั้นจะต้องเพิ่มเรื่องการพิจารณาผลประโยชน์และต้นทุนที่มีต่อส่วนรวมด้วยในทุกกิจกรรมของธุรกิจ บริษัท Natura ที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Body and Bath ได้นำกระบวนการวิเคราะห์ผลประโยชน์และต้นทุนต่อส่วนรวมมาพิจารณาในการคัดเลือกคู่ค้าของบริษัท ไม่ใช่เพียงแต่ใครเสนอต้นทุนทางการเงินต่ำที่สุดแก่องค์กรเท่านั้น โดยเริ่มโครงการนี้ (Strategic sourcing program) ตั้งแต่ปี 2010 คู่ค้าทุกรายของ Natura จะได้รับการอบรมความรู้เกี่ยวกับ Natura life cycle เพื่อจะได้สามารถนำเสนอวัตถุดิบและบริการที่ถูกต้องเหมาะสมกับกลยุทธ์การสร้าง “Sustainable products” ของ Natura
ที่มา : unenvironment.org
เขียนโดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®
รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย