HIGHLIGHTS :
เวลาในการอ่าน 1.5 นาที
แต่ละคนมักมีนิยามความสำเร็จในการทำธุรกิจเป็นของตนเอง บ้างก็ทำเพื่อความสุข เพื่อดูแลคนรอบข้าง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยธุรกิจที่ดีคือธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนได้คุ้มค่าเหนื่อย สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจเพื่อหาเลี้ยงชีพย่อมต้องการกำไร ซึ่งในบทความชุดนี้จะกล่าวถึงแนวทางในการออกแบบกลยุทธ์ธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ผ่าน “สมการสร้างคุณค่าทางธุรกิจ” ที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ “ลงทุนน้อย” “กำไรดี” “มีอนาคต” และ “ความเสี่ยงเหมาะสม” ที่มีความสัมพันธ์กันดังสมการ
การวัดคุณค่าทางธุรกิจ
ก่อนอื่นเราจะมาพูดถึงแนวทางในการวัด “คุณค่า” ทางธุรกิจกันก่อน ทุกครั้งที่เราตัดสินใจจ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ เรากำลังตัดสินใจเสมอว่าเงินที่จ่ายไปคุ้มค่ากับประโยชน์ที่ได้รับมาหรือไม่ การจ่ายเงินไปแล้วใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า จึงถือว่าเป็นการจ่ายเงินซื้อของ “แพง” อย่างเช่น อาหารมื้อละ 5,000 บาท อาจจะจัดว่าราคาถูกก็ได้ หาก “คุณค่า” ของอาหารมื้อนั้น มากกว่า “ราคา” อาหารที่จ่ายไป เช่น ความพึงพอใจที่ได้ลิ้มรสวัตถุดิบหายาก หรือได้ชิมฝีมือของเชฟชื่อดังที่รังสรรค์รสชาติเหนือจินตนาการให้กับผู้ทาน ในทางตรงกันข้ามอาหารมื้อละ 5,000 บาท นี้ก็อาจจะจัดว่าแพงมากก็ได้ ถ้าหากเราไม่เห็นคุณค่าของประโยชน์เหล่านั้น ดังที่ Warren Buffett ได้กล่าวไว้ว่า “Price is what you pay, value is what you get.” ของราคาสูงก็ถูกได้ ส่วนของราคาต่ำก็แพงได้ สิ่งที่สำคัญคือส่วนต่างระหว่างคุณค่าที่ได้รับกับราคาที่จ่ายไปต่างหาก
การวัดคุณค่าทางธุรกิจก็สามารถใช้แนวคิดนี้ในการวิเคราะห์ได้ เนื่องจากการลงทุนสร้างกิจการก็ถือว่าเป็นการซื้อประโยชน์ในรูปแบบของกำไร ในบริบทนี้ คุณค่าของกิจการก็คือกำไรที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต และราคาก็คือต้นทุนหรือเงินทุนที่ต้องลงไปกับกิจการ หากคุณค่าที่ประเมินจากกำไรในอนาคตของกิจการ มากกว่าราคาการลงทุน ก็ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าน่าทำนั่นเอง ดังนั้นหากเราต้องการวัดความสามารถในการสร้างกำไรของกิจการ ก็ควรจะเทียบกำไรที่กิจการสร้างได้กับเงินลงทุน (ความสำเร็จ = กำไร / ลงทุน) ซึ่งในการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินก็มาจากแนวคิดความสำเร็จนี้ เช่น Return on Assets (ROA) หรือ Return on Invested Capital (ROIC) เป็นต้น
จะเห็นได้ว่ามีการกล่าวถึงคำว่า “ลงทุน” “กำไร” และ “อนาคต” ซึ่งเป็น 3 ส่วนของสมการสร้างคุณค่าทางธุรกิจไปแล้ว ในบทความตอนต่อๆ ไปเราจะมาพิจารณารายละเอียดขององค์ประกอบเหล่านี้ให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น
บทความชุด สมการสร้างคุณค่าทางธุรกิจ
ตอนที่ 1 : ทำความรู้จักกับ “สมการสร้างคุณค่าทางธุรกิจ” รวมถึงเข้าใจหลักการการวัดคุณค่าทางธุรกิจ
เขียนโดย : รศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ
ตำแหน่ง อาจารย์ประจำภาคการธนาคารและการเงิน
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย