สมการสร้างคุณค่าทางธุรกิจ (ตอนที่ 2)

สมการสร้างคุณค่าทางธุรกิจ (ตอนที่ 2)

27 ตุลาคม 2563บทความ2,449

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • สมการสร้างคุณค่าทางธุรกิจ (ตอนที่ 2) : ทำความเข้าใจ 2 องค์ประกอบแรกของสมการ ที่ใช้วัดประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ของธุรกิจ คือ  1 “ลงทุนน้อย” เมื่อเที่ยบกับรายได้ และ 2 “กำไรดี” หลังหักค่าใช้จ่าย  



เวลาในการอ่าน 3 นาที







              



จากตอนที่แล้วที่ได้พูดถึงเรื่องการวัดความสามารถในการสร้างกำไรด้วยการเทียบกำไรกับลงทุน หากเราพิจารณาลึกลงไปและแยกองค์ประกอบของความสำเร็จนี้ ก็จะเห็นความสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ (กำไร / ลงทุน) = (รายได้ / ลงทุน) x (กำไร / รายได้) ซึ่งเป็นที่มาของ “ลงทุนน้อย” และ “กำไรดี” ในสมการสร้างคุณค่าทางธุรกิจนั่นเอง



สมการสร้างคุณค่าทางธุรกิจ





ลงทุนน้อย... เมื่อเทียบกับรายได้



ธุรกิจมีไว้เพื่อแก้ปัญหาของลูกค้า ซึ่งผู้ประกอบการต้องตัดสินใจว่าจะแก้ปัญหาของใคร ด้วยวิธีใด (ดูบทความเรื่อง Product-Market Fit) และจะนำมาสู่ความต้องการลงทุนว่าจะต้องมีทรัพยากรใดบ้างเพื่อให้ประกอบธุรกิจได้อย่างราบรื่นและสอดคล้องกับการสร้างรายได้ (ดูบทความเรื่อง Business Model Canvas) เมื่อเรานำรายได้เปรียบเทียบกับการลงทุน ก็จะเห็นได้ว่าการลงทุนน้อยเพื่อสร้างรายได้มาก หมายถึงกิจการมี “ประสิทธิภาพ” ในการสร้างรายได้จากเงินลงทุนนั่นเอง ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่ากิจการไม่ควรตระหนี่เรื่องการลงทุน แต่ควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าว่าสิ่งที่ลงทุนไปได้ใช้ประโยชน์สูงสุดแล้วหรือยังมากกว่า



ตัวอย่างเช่น เราซื้อรถยนต์มาเพื่อเดินทางไปทำงาน ซึ่งในแต่ละวันเราอาจใช้รถไม่ถึง 3 ชั่วโมง เท่ากับว่าเราใช้งานเพียง 12.5% ของเวลาที่ใช้ได้ หรือเราเช่าอาคารเพื่อเปิดสำนักงาน แต่กิจการเราไม่ได้เปิด 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ หรือพนักงานเราต้องเดินทางตลอดเวลา ทำให้ใช้งานไม่คุ้มค่าเช่า ที่ผ่านมาประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการตั้งคำถามมาเสมอ แต่ยังไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก จนกระทั่งไม่นานมานี้ เมื่อธุรกิจ เช่น Airbnb, Grab, WeWork หรือ Amazon Web Services ที่เป็นตัวแทนของแนวคิด Sharing Economy นำทรัพยากรเช่น อสังหาริมทรัพย์ ยานพาหนะ หรือเวลา ที่ใช้ไม่คุ้มค่ามาแบ่งให้คนอื่น “เช่า” ซึ่งก็มีรูปแบบทั้งตนลงทุนเองเพื่อปล่อยเช่าต่อ เช่น Co-Working Space และ Cloud Computing ไปจนถึงการจับคู่ระหว่างคนที่มีทรัพยากรเหลือและคนต้องการเช่า เช่น E-Commerce Platform ต่างๆ นั่นเอง



สำหรับผู้ประกอบการนับเป็นนิมิตหมายใหม่เนื่องจากการเข้าถึงเงินทุนเพื่อประกอบธุรกิจเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการเสมอไม่ว่าจะยุคสมัยใด Sharing Economy จึงเป็นการลด Barrier to Entry ในการประกอบธุรกิจทำให้ช่วงที่ผ่านมาจึงมีผู้ประกอบการรายเล็ก (Micro Entrepreneurs) เกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น ค้าขายออนไลน์ผ่าน Platform ต่างๆ หรือเปิดร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้านแล้วใช้ Delivery Platform ไปจนถึงการเปิด Startup แล้วใช้ Cloud Computing แทนการลงทุนระบบคอมพิวเตอร์ด้วยทุนก้อนใหญ่ เป็นต้น ซึ่งผู้ให้บริการ Platform เองก็มีการให้ความรู้และสนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้ด้วยเช่นกัน



ความท้าทายอย่างหนึ่งในยุคปัจจุบันคือเราควรวัดปริมาณการลงทุนอย่างไร ในอดีตเรามักลงทุนกับสินทรัพย์มีตัวตน จับต้องได้ (Tangible Assets) เช่น ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ วัตถุดิบ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนซื้อมา เพราะธุรกิจส่วนมากมักใช้ทรัพยากรในรูปแบบนั้น แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจที่ในปัจจุบันมีธุรกิจที่เน้นความคิด (Knowledge Economy) มากขึ้น ทำให้สินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangible Assets) อย่าง แบรนด์ หรือนวัตกรรม มีบทบาทมากขึ้น ก่อให้เกิดคำถามว่าอะไรคือค่าใช้จ่าย อะไรคือการลงทุน



ตัวอย่างเช่น หากเราให้ส่วนลดแก่ลูกค้าเพื่อหวังว่าจะมาเป็นลูกค้าประจำ ส่วนลดนั้นควรเป็นค่าใช้จ่าย หรือคือการลงทุนกันแน่




  • หากนำมาเป็นค่าใช้จ่าย  ก็จะส่งผลต่ออัตรากำไรที่ลดลง


  • หากนำไปเป็นการลงทุน ก็จะเป็นการเพิ่มเงินลงทุน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในสร้างรายได้ที่ลดลง ในขณะที่อัตรากำไรไม่ลดลง



นอกจากนี้ ธุรกิจที่เลือกการเช่าสินทรัพย์จะดูมีเงินที่ต้องใช้ลงทุนน้อย ทำให้การวัดประสิทธิภาพในการสร้างรายได้และความสามารถในการสร้างกำไรได้สูงกว่าธุรกิจที่เลือกซื้อสินทรัพย์ ถึงแม้ว่าการเช่านั้นจะเป็นการเช่าที่มีสัญญาผูกพันระยะยาวที่ในทางปฏิบัติแล้วแทบไม่แตกต่างกับการซื้อเลยก็ตาม สินทรัพย์ที่เช่านั้นก็ไม่ถือว่าเป็นการลงทุน ปัจจุบันมีการพูดคุยเรื่องประเด็นเหล่านี้อย่างแพร่หลายมากขึ้น รวมถึงการปรับมาตรฐานบัญชีให้สอดคล้องถูกต้องเป็นสิ่งที่ควรต้องพิจารณาด้วยโดยเฉพาะหากต้องการวิเคราะห์เปรียบเทียบว่าการใช้ Business Model ที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ความสามารถในการสร้างกำไรแตกต่างกันจริงหรือไม่



กำไรดี... หลังหักค่าใช้จ่าย



การขายให้ได้กำไรดีเป็นเรื่องที่ธุรกิจมักอยากให้เกิดขึ้น แต่ผู้ประกอบการควรระมัดระวังอย่ามองว่าการสร้างกำไรต้องมุ่งเน้นลดต้นทุนแต่อย่างเดียว เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราไม่ได้สนใจเพียงแค่ต้นทุน แต่สนใจส่วนต่างระหว่างรายได้กับต้นทุนต่างหาก ซึ่งธุรกิจมักวัดว่ากำไรดีหรือไม่ โดยการนำกำไรมาเปรียบเทียบกับรายได้ หรือที่เรียกว่า Profit Margin ของธุรกิจนั่นเอง



ทำให้การเพิ่มต้นทุนไม่ได้เป็นเรื่องแย่เสมอไปหากเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการให้ลูกค้าพึงพอใจมากขึ้น และสร้างรายได้กลับมามากกว่าต้นทุน ตัวอย่างเช่น การขายเค้กเป็นก้อนใหญ่ กับการแบ่งขายเป็นชิ้น หาก Pain Point ของลูกค้าคือไม่ต้องการรับประทานหมดก้อน หรือมีงบประมาณจำกัดและต้องการความหลากหลาย แม้การแบ่งขายจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็มีกลุ่มลูกค้าที่ยินดีจ่ายในราคาที่สูงขึ้น (เมื่อเทียบกับปริมาณ) ถือเป็นกลยุทธ์ในการสร้างกำไรได้เช่นกัน เหมือนเค้กจิ๋วของร้าน Bake A Wish ราคาเริ่มต้นชิ้นละ 10 บาท ที่ได้รับความนิยมมากในหมู่นักเรียนนักศึกษา เป็นต้น



ทั้งสององค์ประกอบ “ลงทุนน้อย” และ “กำไรดี” ถือเป็นจุดตั้งต้นที่ดีที่ทำให้ธุรกิจสามารถทำกำไรได้สูง แต่หากธุรกิจไม่ได้เข้าใจเรื่องต้นทุนที่แท้จริง อาจทำให้ “กำไร” ที่เห็นว่าดีนั้น เป็นกำไรที่คลาดเคลื่อน และมีโอกาสให้ตั้งราคาผิดพลาด นำมาสู่ปัญหาทางธุรกิจในอนาคตได้  ซึ่งในบทความตอนต่อไปจะพูดถึงต้นทุนสำคัญที่กิจการมักมองข้ามไป คือ “ค่าเสียโอกาส” และ “ต้นทุนจม”



บทความชุด สมการสร้างคุณค่าทางธุรกิจ



ตอนที่ 1 :   ทำความรู้จักกับ “สมการสร้างคุณค่าทางธุรกิจ” รวมถึงเข้าใจหลักการการวัดคุณค่าทางธุรกิจ



ตอนที่ 2 :  2 องค์ประกอบแรกของสมการ ที่ใช้วัดประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ของธุรกิจ คือ  1 “ลงทุนน้อย” เมื่อเที่ยบกับรายได้ และ 2 “กำไรดี” หลังหักค่าใช้จ่าย



ตอนที่ 3 :  “กำไรที่ดี” ต้องมาจากการวัดต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งบทความนี้จะทำให้เห็นภาพว่าค่าเสียโอกาสทางเวลา และต้นทุนจมนั้นสำคัญอย่างไรต่อการนำมาพิจารณาเป็นต้นทุน



ตอนที่ 4 : “ความเสี่ยงที่เหมาะสม” ในมุมมองของการลงทุนในธุรกิจ มาจาก “ค่าเสียโอกาสของเงินลงทุน” และพฤติกรรมของคนที่ “ไม่ชอบความเสี่ยง” ซึ่งส่งผลต่อผลตอบแทนที่คาดหวังและการตัดสินใจลงทุนในรายบุคคลที่ไม่เหมือนกัน



ตอนที่ 5 : “มีอนาคต” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดการให้มูลค่าของนักลงทุนที่คำนึงถึงอนาคตมากกว่าปัจจุบัน ซึ่งมักมาจาก ศักยภาพของการเติบโต และ โอกาสของกำไรในอนาคต





เขียนโดย : รศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ



ตำแหน่ง อาจารย์ประจำภาคการธนาคารและการเงิน



คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี



จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ