นวัตกรรม : ความหวังใหม่เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา (ตอนที่ 7)

นวัตกรรม : ความหวังใหม่เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา (ตอนที่ 7)

4 พฤศจิกายน 2563บทความ1,796

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • นวัตกรรม ความหวังใหม่เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา (ตอนที่ 7) : การพัฒนา Eco-Innovation เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจในปัจจุบันตระหนักและทราบดีว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น แต่การทำให้เกิดขึ้นได้นั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องใช้เงินทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งอาจทำแล้วได้ผลดีหรือล้มเหลวก็ได้ ในบทความนี้ยังคงเป็นเนื้อหาต่อจากตอนที่ 5 และ 6 ซึ่งจะกล่าวถึงแนวทางและข้อคิดในการดึงดูดแหล่งทรัพยากรเงินทุนพร้อมทั้งกรณีศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนา Eco-Innovation



เวลาในการอ่าน 4 นาที









จากสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทางลบ ต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง “นวัตกรรม” จึงถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ว่าเป็นทางรอดทางเศรษฐกิจและเป็นความหวังที่จะฟื้นฟูประเทศไทย บทความชุด “นวัตกรรม : ความหวังใหม่เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา” นี้ได้รวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ “นวัตกรรม” มาเพื่อจะเป็นประโยชน์ในการพลิกโฉมประเทศไทย ให้หลุดพ้นจากสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน



ตอนที่ 1 : ได้พูดถึงเรื่องนวัตกรรมในแง่ของ ความหมาย ประเภท และประวัติศาสตร์ ถือเป็นการเรียนรู้อดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน และสร้างสรรค์อนาคต



ตอนที่ 2 : ทำความเข้าใจความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการสร้างให้เกิดนวัตกรรม (Process of innovation) ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เกิดนวัตกรรม ความแตกต่างระหว่าง Invention และ Innovation การแพร่ของนวัตกรรม ตลอดจนนวัตกรรมกับการประยุกต์ใช้ในธุรกิจ เพื่อที่จะสามารถรักษาและยกระดับความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจในอนาคต



ตอนที่ 3 : การสร้างนวัตกรรมในยุค Digital จำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้เทคโนโลยี เนื่องจากเป็นยุคที่คนส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีผ่านเครื่องมือต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงาน การค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการ ตลอดจนการโอนชำระเงิน ในบทความนี้จะกล่าวถึงแนวโน้มของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ตอบโจทย์กับธุรกิจในอนาคต



ตอนที่ 4 : การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ทางธุรกิจเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเป็นเนื้อหาต่อจากตอนที่ 3 ที่กล่าวถึงแนวโน้มของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ตอบโจทย์กับธุรกิจในอนาคต



ตอนที่ 5 : การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากความล้มเหลวของการพัฒนาแบบดั้งเดิมที่ผ่านมาทั้งทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศที่ยิ่งพัฒนายิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ ในบทความตอนนี้จะกล่าวถึงนวัตกรรมที่เรียกว่า “Eco-Innovation” ที่หลายธุรกิจนำมาใช้เพื่อช่วยแก้ไขและพัฒนาระบบนิเวศให้ดีขึ้น



ตอนที่ 6 : การพัฒนา Eco-Innovation ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ไขและพัฒนาระบบนิเวศให้ดีขึ้น แต่ยังส่งผลดีต่อธุรกิจอีกด้วย โดยเป็นเนื้อหาต่อจากตอนที่ 5 ที่กล่าวถึง การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้นวัตกรรมที่เรียกว่า “Eco-Innovation” พร้อมทั้งกรณีศึกษาบริษัทที่ประสบความสำเร็จจากการพัฒนา Eco-Innovation



ตอนที่ 7 : การพัฒนา Eco-Innovation เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจในปัจจุบันตระหนักและทราบดีว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น แต่การทำให้เกิดขึ้นได้นั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องใช้เงินทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งอาจทำแล้วได้ผลดีหรือล้มเหลวก็ได้ โดยเป็นเนื้อหาต่อจากตอนที่ 5 และ 6 ซึ่งได้กล่าวถึงแนวทางและข้อคิดในการดึงดูดแหล่งทรัพยากรเงินทุนพร้อมทั้งกรณีศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนา Eco-Innovation



ตอนที่ 8 : นวัตกรรมทางสังคม หรือ Social Innovation



การพัฒนา Eco-Innovation ก็คล้ายกับการพัฒนานวัตกรรมทั่วไปที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเงินทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในขั้นการวิจัยและพัฒนา (R&D) การสร้างและทดสอบต้นแบบ ซึ่งอาจได้ผลดีหรือล้มเหลวก็ได้ ในขณะที่หากผ่านด่านนี้ไปได้ ก็จำเป็นต้องได้รับเงินทุนสนับสนุนมากขึ้นหากต้องการขยายขนาด (Scaling up) และเริ่มทดลองไปใช้ในการทำธุรกิจจริง และนี่คือแนวทางและข้อคิดในการดึงดูดแหล่งทรัพยากรที่จำเป็นพร้อมทั้งกรณีศึกษา ที่ได้รวบรวมมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนา Eco-Innovation ให้เกิดขึ้น



1) โอกาสสำหรับบริษัท



ปัญหาความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่แผ่ขยายไปทั้งโลกนั้นทุกคนทราบดีและต้องเร่งช่วยกันแก้ปัญหา ภาคธุรกิจเองก็ต้องยอมรับว่ามีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดปัญหานี้ด้วยเช่นกัน ในกระบวนการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืนนั้น มีคำแนะนำให้บริษัทกลับไปพิจารณาดูว่าใน Value chain หรือ ห่วงโซ่คุณค่าของกระบวนการผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการจากต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ และมาวิเคราะห์ดูว่าในแต่ละขั้นตอนนั้นได้ส่งผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องทั้งใกล้และไกลอย่างไร ซึ่งบริษัทที่ทำธุรกิจสามารถนำมาวางแผนกำหนดกลยุทธ์และวิธีการปฏิบัติเพื่อลดผลกระทบทางลบดังกล่าว ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประหยัดน้ำ พลังงาน การลดปัญหาขยะ และการลดโลกร้อน เป็นต้น



แน่นอนว่าในการลดปัญหาดังกล่าวสามารถใช้ Eco-Innovation เป็นตัวช่วย ซึ่งบริษัทอาจใช้หน่วย R&D ภายในเป็นตัวช่วย หรืออาจร่วมมือกับบริษัทภายนอกที่คิดค้น Eco-Innovation ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมเกิดขึ้นรุนแรงมากขึ้นในโลกแทบทุกพื้นที่ รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ก็ตื่นตัวเข้ามาสนับสนุนให้มีการคิดค้นวิจัยนวัตกรรม Eco-Innovation มากขึ้น โดยเฉพาะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้ตั้ง Eco-Innovative Startups เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็สามารถเติบโตขึ้น ขยายกิจการ และมีกำลังมากขึ้นไปช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมในระบบได้



หน่วยงานทางการในหลายประเทศได้จัดตั้งองค์กรภาครัฐที่ให้ความรู้และส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม เช่น ในประเทศไทยมีการจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation Agency หรือ NIA) สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุดมศึกษา เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว และหน่วยงานอื่นๆ ของภาครัฐต่างก็ตื่นตัวในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม รวมไปถึงการให้ทุน (Funding Programmes) ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ การแข่งขันเพื่อคัดเลือกผู้คิดค้นนวัตกรรมที่ดี มีความเป็นไปได้สูง และได้รับเงินทุน พร้อมทั้งโอกาสหาผู้ร่วมทุนเพื่อไปต่อยอดธุรกิจต่อไป ซึ่งนับวันก็จะมีความเข้มข้น เพราะภาคธุรกิจมีความต้องการนำ Eco-Innovation มาใช้มากขึ้น นอกจากความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกด้าน Sustainability ที่มีมากขึ้นแล้วยังถูกกดดันจากนักลงทุนที่สนใจว่าบริษัทจะดูแลแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไร และด้วยวิธีการอะไร



บริษัท Natura ของ Brazil ที่มีชื่อเสียงในด้านผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตโดยดูแลสิ่งแวดล้อมในขณะที่ยังเป็น Startup อยู่ เคยได้รับเงินทุนสนับสนุนถึง 43 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพื่อมาช่วยพัฒนาธุรกิจให้เติบโต เพราะ Eco-Innovation ของ Natura มีความน่าสนใจดึงดูดแหล่งเงินทุนมาได้อย่างมากมาย หรือตัวอย่างบริษัท Specialized Solar Systems ใน South Africa บริษัท Multibox ของไทย KUO Industrial Group ของ Mexico ซึ่งแต่ละบริษัทมี Eco-Innovation ที่โดดเด่น ล้วนแต่ได้รับการสนับสนุนทั้งเงินทุนและด้านอื่นๆ จากภาครัฐ สถาบันการเงิน และบริษัทเอกชนที่มีความสนใจทั้งสิ้น อาจสรุปได้ว่าผู้ที่คิดค้น Eco-Innovation ที่ตอบโจทย์และสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ จะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ซึ่งยังมีอีกมากมาย และถ้านวัตกรรมนี้มีความเป็นไปได้ จะถูกนำมาพัฒนาต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ ทำให้บริษัทมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ สามารถดึงดูดให้มีคนเข้ามาสนับสนุนและมีโอกาสทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น



2) Green Financing



เมื่อกระแสการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมกำลังเป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน บรรดาสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารก็ต้องเริ่มปรับตัว เพราะหน้าที่หลักของธนาคารที่รับเงินฝาก แล้วไปปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจนั้น ก็เริ่มเกิดคำถามว่าธุรกิจนั้นเอาเงินทุนไปเป็นทรัพยากรหนึ่งร่วมกับทรัพยากรอื่นๆ ในการผลิตสินค้าและบริการ แต่ธุรกิจได้ดูแลปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่คุณค่าอย่างไร ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ เริ่มออกกฏเกณฑ์การดูแลสินเชื่อโดยผนวกเรื่องการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืนเข้าไป (Sustainable Finance Guidelines)



ในตลาดทุน ซึ่งมีสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ก็เล็งเห็นปัญหานี้เช่นกัน หน่วยงานดังกล่าวในหลายประเทศเข้าร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากภาคธุรกิจ โดยผ่านบริษัทจดทะเบียนซึ่งเป็นสมาชิก โดยกำหนดให้มีคู่มือและแนวทางปฏิบัติด้าน ESG (Environment, Social, Governance) และส่งเสริมความรู้ การให้คำปรึกษา และที่สำคัญที่สุดคือกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูล การดำเนินธุรกิจโดยบูรณาการด้าน ESG เข้าไป (ESG Information Disclosure) รวมทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักลงทุนเพื่อให้มีจิตสำนึกการลงทุนแบบมีความรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งจะเป็นคนคอยกดดันให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจอย่างมีความระมัดระวัง และรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย



ในต่างประเทศ เริ่มมีสถาบันการเงินที่หันมาเพิ่มหรือ Segment ตนเองให้ปล่อยสินเชื่อหรือสนับสนุนเงินทุนแก่กิจการที่ดำเนินธุรกิจแบบ “Green” เป็นพิเศษ เช่น Triodos Bank ของ Netherland จนกลายเป็นธนาคารชั้นนำในกลุ่ม “Sustainable Bank” Triodos Bank พยายามค้นหาบริษัทในลักษณะ “Eco-Innovative Companies” และปล่อยสินเชื่อ แม้ว่าจะเป็นไปอย่างยากลำบากในช่วงเริ่มต้น แต่ในที่สุดเมื่อกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมได้เกิดขึ้นตามมา Triodos Bank ก็สามารถเติบโตได้เป็นเท่าตัว จากผลของการปล่อยสินเชื่อและลงทุนใน “Sustainability Initiatives” เช่นนี้ สถานการณ์ดังกล่าวนี้ยังเกิดขึ้นกับธนาคารหลายแห่งทั่วโลกที่มีการมุ่งเน้น “Green Financing” เช่น YES Bank ใน India CIBanco ใน Mexico Bancolombia และ Bancoldex ใน Colombia เป็นต้น



3) กรณีศึกษา : Three Wheels United



Three Wheels United (TWU) เป็น Startup สัญชาติ India ที่ทำธุรกิจปล่อยเช่าซื้อรถสามล้อเครื่อง ให้กับผู้ขับสามล้อเครื่องในอินเดีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย และเกี่ยวข้องกับชีวิตคนทั้งในเมืองและชนบท ในการช่วยให้การเดินทางเกิดความคล่องตัว เป็นทางเลือกหนึ่งของคนอินเดีย ซึ่งคาดว่ามีผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน โดยปกติรถสามล้อเครื่องที่ใช้ก็มีสภาพเสื่อมโทรมและไม่ได้รับการดูแล ใช้เชื้อเพลิงคุณภาพต่ำก่อให้เกิดมลพิษสูง แต่ละวันผู้ขับสามล้อเครื่องต้องทำงานถึงวันละ 12 ชั่วโมง โดยได้รับรายได้เพียงประมาณ 3 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันบนสภาพแวดล้อมการทำงานที่ย่ำแย่ TWU ได้พัฒนา Business Model โดยหาแหล่งเงินทุนจากธนาคารท้องถิ่น และจัดหารถสามล้อเครื่องที่มีคุณภาพและนวัตกรรมที่ช่วยลดปัญหามลพิษในราคาที่รับได้ ทำให้ผู้ขับขี่สามล้อเครื่องสามารถเปลี่ยนรถและผ่อนระยะยาวทำให้เป็นเจ้าของรถได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในที่สุดผู้ขับขี่สามล้อเครื่องมีรายได้เพิ่มขึ้น 70% เพราะลูกค้าก็ชอบด้วย ช่วยลดมลพิษด้วย เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว ก็สามารถผ่อนรถได้ มีข้อมูลสนับสนุนว่า การคืนหนี้เงินกู้เช่าซื้อรถสามล้อเครื่องประสบความสำเร็จถึง 100%





เขียนโดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®   



รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน



ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ