HIGHLIGHTS :
เวลาในการอ่าน 5 นาที
ข่าวใหญ่ในแวดวงฟินเทคเมื่อวันอังคารที่ 3 พ.ย. 63 คือการที่ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ได้ระงับการเข้าจดทะเบียนใน STAR Market ของ Ant Group ซึ่งเดิมมีแผนจะเข้าซื้อขายในวันพฤหัสที่ 5 พ.ย. 63 และส่งผลให้ตลาดหุ้นฮ่องกงก็ต้องระงับการจดทะเบียนตามแผนการทำ Dual Listing ด้วยเช่นกัน
เกิดอะไรขึ้นกับ Ant Group ฟินเทคที่กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ ด้วยมูลค่าการระดมทุนสูงสุดถึง 34.5 พันล้านดอลลาร์ (1.1 ล้านล้านบาท) มากกว่า Saudi Aramco ที่เป็นบริษัทน้ำมัน
Ant Group คือใคร ทำธุรกิจอะไร
Ant Group หรือเดิมคือ Ant Financial ถือหุ้นโดย Alibaba ให้บริการชำระเงินผ่านแอป Alipay ที่คนจีนคุ้นเคย ด้วยส่วนแบ่งถึง 54.9% ในประเทศจีน
ความสะดวกในการจ่ายเงินผ่าน Alipay ทำให้เกิดธุรกรรมจำนวนมาก บริษัทจึงมีข้อมูลการใช้จ่ายของบุคคล ทำให้เข้าใจพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนจีน รู้ถึงกำลังซื้อ และความสามารถในการชำระเงิน จึงขยายธุรกิจสู่การปล่อยสินเชื่อรายย่อย (Microfinancing) โดยใช้ AI พิจารณาเครดิตจากประวัติการใช้จ่ายผ่าน Alipay ที่เก็บใน Big Data
ผลคือ อนุมัติได้เร็ว ถูกใจคนจีน ซึ่งแตกต่างจากธนาคารแบบดั้งเดิมที่พิจารณาจากสลิปเงินเดือน รายการเดินบัญชี หลักทรัพย์ค้ำประกัน ขั้นตอนการอนุมัติล่าช้า
นอกจากธุรกิจชำระเงินและสินเชื่อรายย่อยแล้ว Ant Group เล็งเห็นโอกาสจากปริมาณเงินคงค้างใน Wallet ของ Alipay ด้วยการเพิ่มบริการรลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทน (Wealth) และบริการประกัน (Insurance) เพื่อให้ผู้ใช้ Alipay คงเงินในระบบให้นานที่สุด ส่งผลเกิดการย้ายเงินจากระบบธนาคารเข้าสู่ Wallet ได้จำนวนมหาศาล
ปัจจุบัน Ant Group มีจำนวนผู้ใช้บริการถึง 1 พันล้านรายทั่วโลกและมีมูลค่าธุรกรรมต่อปีถึง 15 ล้านล้านดอลลาร์ (470 ล้านล้านบาท) รายได้ปีล่าสุด 120.6 พันล้านหยวน (560,000 ล้านบาท) เติบโตปีละ 40% จึงไม่น่าแปลกใจที่จะได้รับความสนใจอย่างล้นหลามเมื่อมีแผนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งทำให้มียอดจองซื้อหุ้นมากกว่าจำนวนหุ้นจัดสรรเป็นร้อยเท่า
ตลาดสินเชื่อในจีนเป็นอย่างไร?
จากการเปิดเผยของธนาคารกลางของจีน (PBOC) มีผู้ให้บริการ Microfinance ในจีนจำนวน 7,227 ราย มีวงเงินสินเชื่อรวม 902 พันล้านหยวน (4.2 ล้านล้านบาท) โดยมีผู้ให้บริการที่เป็นที่นิยมได้แก่ Alipay, WeChat
ฟินเทคอย่าง Alipay, Wechat มีรูปแบบการทำธุรกิจร่วมกับธนาคารโดยทำหน้าที่วิเคราะห์เครดิต ผ่าน Big Data และส่งผลให้กับธนาคารเพื่อทำการปล่อยสินเชื่อตามวงเงินที่ได้รับ ธนาคารจะจ่ายผลตอบแทนให้ฟินเทคเป็นค่าธรรมเนียม
คาดว่าปริมาณการปล่อยสินเชื่อของธนาคารผ่านฟินเทค มีมูลค่าสูงถึง 1,430 พันล้านหยวน (6.6 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งถึง 22% ของมูลค่าสินเชื่อส่วนบุคคล
เมื่อมูลค่าธุรกรรมเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ขาดการกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยง โดยความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อและภาระหนี้เสียอยู่ที่ธนาคาร ในขณะที่บริษัทฟินเทคเป็นเพียงผู้หาลูกค้าให้ ไม่ต้องรับความเสี่ยงใดๆ
ในสภาวะเศรษฐกิจหลังยุคโควิด ที่กำลังซื้อของบุคคลธรรมดาหดตัวลง ทำให้ทางการจีนมีความกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้และการควบคุมหนี้เสีย
ทางการจีนมีปฎิกริยาอย่างไร?
เมื่อวันจันทร์ที่ 2 พ.ย. 63 ธนาคารกลางของจีน (PBOC) และหน่วยงานกำกับประกัน (CBIRC) ได้เชิญ Jack Ma และทีมงานเข้าพบ และในช่วงเวลาเดียวกันก็ได้ออก Consultation Paper เพื่อกำกับดูแล Microfinance โดยมีสาระสำคัญคือ
1. กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 5,000 ล้านหยวน (23,250 ล้านบาท) สำหรับผู้ที่ปล่อยสินเชื่อข้ามพื้นที่ และ 1,000 ล้านหยวน (4,650 ล้านบาท) สำหรับผู้ที่ปล่อยสินเชื่อในพื้นที่
2. กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจต้องลงเงินร่วมปล่อยสินเชื่อกับธนาคารในสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30
3. กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจต้องนำส่งข้อมูล credit risk ให้แก่ธนาคารกลาง
4. กำหนดให้มีการต่ออายุใบอนุญาต Microfinance ทุก 3 ปีและห้ามรายใหม่ปล่อยสินเชื่อข้ามพื้นที่
5. กำหนดให้ปล่อยสินเชื่อต่อครัวเรือนได้ไม่เกิน 300,000 หยวน (1.4 ล้านบาท) และไม่ให้เกิน 1 ใน 3 ของรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 3 ปี สำหรับนิติบุคคลปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกิน 1 ล้านหยวน (4.65 ล้านบาท)
6. ห้ามผู้กู้นำเงินกู้ที่ได้รับไปลงทุนในตราสารต่างๆ ซื้อบ้าน หรือจ่ายคืนสินเชื่ออื่น
ทั้งนี้จะสิ้นสุดการเปิดรับฟังความเห็นต้นเดือนธันวาคม โดยให้เวลาในการปรับตัว 12 เดือนหลังจากมีผลบังคับใช้
ผลต่อ Ant Group เป็นอย่างไร?
จากการปรับการกำกับดูแลดังกล่าว ทำให้ Ant Group ต้องปรับโครงสร้างบริษัทให้สอดคล้อง เช่นการเพิ่มทุน Huabei บริษัทในเครือที่ให้บริการ microfinancing
นอกจากนี้อาจต้องตั้งสำรองเงินเพิ่มขึ้นอีก 30% เพื่อให้ครอบคลุมสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อร่วมกับธนาคาร ซึ่งอาจกระทบต่อการประเมินรายได้และมูลค่าบริษัท
ภายหลังการปรับให้สอดคล้องกับกฎใหม่ หาก Ant Group ยังต้องเข้าสู่ตลาดหุ้น สามารถยื่น IPO ใหม่ได้ แต่มูลค่าจะสูงเท่าเดิมหรือไม่ ต้องรอดู
บทสรุป
Ant Group ไม่ได้ถูกยกเลิกการ IPO เพียงต้องทำการปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎใหม่ แต่ผลจากการปรับปรุงกฎเกณฑ์ของ PBOC ในครั้งนี้ คงส่งผลถึงอุตสาหกรรมฟินเทคในหลายประเทศ
ธนาคารกลางต้องกลับมาทบทวนหลักเกณฑ์การให้อนุญาตประกอบธุรกิจ Microfinance ให้มากขึ้น
ในประเทศไทยเอง ธุรกิจ Food Delivery ธุรกิจสะดวกซื้อ ที่ขยายมาจาก Mobile Payment ก็ไม่ได้รับความเสี่ยงแต่ได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งความเสี่ยงในการให้สินเชื่อก็ยังคงอยู่ที่ธนาคารพานิชย์
ดังนั้น ฟินเทคจะไม่ใช่เพียงช่องทางการตลาดในการหาลูกค้าเท่านั้น แต่ต้องมีการบริหารความเสี่ยงเพื่อให้คัดกรองลูกค้ารอบคอบมากขึ้น สุดท้ายต้นทุนทางธุรกรรมคงสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เขียนโดย : พงศ์ปิติ เอกเธียรชัย
ผู้จัดการ
บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด (LiVE)