นวัตกรรม : ความหวังใหม่เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา (ตอนที่ 8)

นวัตกรรม : ความหวังใหม่เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา (ตอนที่ 8)

26 พฤศจิกายน 2563บทความ4,255

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • นวัตกรรม ความหวังใหม่เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา (ตอนที่ 8) : นวัตกรรมทางสังคม หรือ Social Innovation เป็นอีกหนึ่งในนวัตกรรมที่ได้รับความสนใจในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถ ตอบสนอง และสามารถแก้ไขปัญหาทางสังคมเพื่อให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ สำหรับในบทความนี้ ได้กล่าวถึง ความหมายและความสำคัญ รวมถึงโอกาสในการพัฒนาและแนวโน้มของนวัตกรรมทางสังคม ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต



เวลาในการอ่าน 4 นาที









จากสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทางลบ ต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง “นวัตกรรม” จึงถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ว่าเป็นทางรอดทางเศรษฐกิจและเป็นความหวังที่จะฟื้นฟูประเทศไทย บทความชุด “นวัตกรรม : ความหวังใหม่เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา” นี้ได้รวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ “นวัตกรรม” มาเพื่อจะเป็นประโยชน์ในการพลิกโฉมประเทศไทย ให้หลุดพ้นจากสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน



ตอนที่ 1 : ได้พูดถึงเรื่องนวัตกรรมในแง่ของ ความหมาย ประเภท และประวัติศาสตร์ ถือเป็นการเรียนรู้อดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน และสร้างสรรค์อนาคต



ตอนที่ 2 : ทำความเข้าใจความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการสร้างให้เกิดนวัตกรรม (Process of innovation) ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เกิดนวัตกรรม ความแตกต่างระหว่าง Invention และ Innovation การแพร่ของนวัตกรรม ตลอดจนนวัตกรรมกับการประยุกต์ใช้ในธุรกิจ เพื่อที่จะสามารถรักษาและยกระดับความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจในอนาคต



ตอนที่ 3 : การสร้างนวัตกรรมในยุค Digital จำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้เทคโนโลยี เนื่องจากเป็นยุคที่คนส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีผ่านเครื่องมือต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงาน การค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการ ตลอดจนการโอนชำระเงิน ในบทความนี้จะกล่าวถึงแนวโน้มของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ตอบโจทย์กับธุรกิจในอนาคต



ตอนที่ 4 : การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ทางธุรกิจเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเป็นเนื้อหาต่อจากตอนที่ 3 ที่กล่าวถึงแนวโน้มของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ตอบโจทย์กับธุรกิจในอนาคต



ตอนที่ 5 : การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากความล้มเหลวของการพัฒนาแบบดั้งเดิมที่ผ่านมาทั้งทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศที่ยิ่งพัฒนายิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ ในบทความตอนนี้จะกล่าวถึงนวัตกรรมที่เรียกว่า “Eco-Innovation” ที่หลายธุรกิจนำมาใช้เพื่อช่วยแก้ไขและพัฒนาระบบนิเวศให้ดีขึ้น



ตอนที่ 6 : การพัฒนา Eco-Innovation ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ไขและพัฒนาระบบนิเวศให้ดีขึ้น แต่ยังส่งผลดีต่อธุรกิจอีกด้วย โดยเป็นเนื้อหาต่อจากตอนที่ 5 ที่กล่าวถึง การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้นวัตกรรมที่เรียกว่า “Eco-Innovation” พร้อมทั้งกรณีศึกษาบริษัทที่ประสบความสำเร็จจากการพัฒนา Eco-Innovation



ตอนที่ 7 : การพัฒนา Eco-Innovation เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจในปัจจุบันตระหนักและทราบดีว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น แต่การทำให้เกิดขึ้นได้นั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องใช้เงินทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งอาจทำแล้วได้ผลดีหรือล้มเหลวก็ได้ โดยเป็นเนื้อหาต่อจากตอนที่ 5 และ 6 ซึ่งได้กล่าวถึงแนวทางและข้อคิดในการดึงดูดแหล่งทรัพยากรเงินทุนพร้อมทั้งกรณีศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนา Eco-Innovation



ตอนที่ 8 : นวัตกรรมทางสังคม หรือ Social Innovation



นวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) เป็นนวัตกรรมประเภทหนึ่ง ที่มุ่งตอบสนอง และแก้ไขปัญหาทางสังคมเพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นวัตกรรมทางสังคมกำลังเป็นที่สนใจและน่าจับตามากขึ้น เนื่องจากสภาพปัญหาทางสังคมบนโลกในพื้นที่ต่างๆ ยังมีปัญหาอยู่มากและอยู่ในระดับที่รุนแรง เช่น ความยากจน สภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก มีความขาดแคลน ผู้ด้อยโอกาสไม่ได้รับการดูแลที่ดี เมื่อมองในสังคมการทำงาน สภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสม การจ้างงานที่พนักงานไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งในด้านค่าจ้างและสวัสดิการ รวมถึงการดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งใกล้และไกล เช่น ครอบครัวของพนักงาน ชุมชนใกล้เคียงที่ขาดโอกาสและอยู่ห่างไกลออกไป



1) ความหมายและความสำคัญของนวัตกรรมทางสังคม



จากข้อมูล Graduate Business School ของ Standard University ได้กำหนดความหมายของ นวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) ไว้ว่า “นวัตกรรมทางสังคมคือ กระบวนการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า effective solutions และนำไปใช้แก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่สังคมที่ก้าวหน้าขึ้นและดีขึ้น”



ในขณะที่ UNDP ให้คำจำกัดความ Social Innovation ไว้ว่า “เป็น New Solution (ซึ่งอาจจะเป็น products, services, models, markets หรือ process เป็นต้น) ที่เอาไปตอบโจทย์ความต้องการทางสังคม (Social Needs) แบบที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่า Existing solutions และนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ดีขึ้น”



ในปัจจุบันมีการนำ Social Innovation มาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางสังคมมากขึ้น จากการประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ของ UN มีเป้าหมายที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาสังคมถึง 8 ข้อ ได้แก่




  • No poverty ขจัดความยากจนทุกรูปแบบทุกสถานที่


  • Zero Hunger ขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน


  • Good Health and Well-being รับรองการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนทุกช่วงอายุ


  • Quality Education รับรองการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน


  • Gender Equality บรรลุความเท่าเทียมทางเพศ พัฒนาบทบาทสตรีและเด็กผู้หญิง


  • Reduced Inequalities ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ


  • Sustainable Cities and Communities ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัยทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน


  • Peace and Justice Strong Institutions ส่งเสริมสังคมสงบสุข ยุติธรรมไม่แบ่งแยก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน



เป้าหมายต่างๆ เหล่านี้ถูกคาดหวังจาก UN ว่าประเทศต่างๆ จะหาวิธีขับเคลื่อนเพื่อลดปัญหาในแต่ละพื้นที่ และอยากให้บรรลุเป้าหมายกันภายในปี 2030 ซึ่งหลายประเทศก็ได้ออกแบบวิสัยทัศน์เชิงนโยบายกัน เช่น Society 5.0 ของญี่ปุ่น ประเทศไทย 4.0 และ Smart Nation ของสิงคโปร์ เป็นต้น



2) โอกาสของการพัฒนานวัตกรรมทางสังคม



จากปัญหาทางสังคมที่มีอีกมาก และเป้าหมายที่ทุกคนอยากมีส่วนร่วมในการแก้ไข ทำให้เป็นโอกาสของการพัฒนานวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) ที่จะเกิดขึ้นอย่างมากมายในอนาคต ซึ่งปัจจัยแห่งโอกาส สามารถสรุปได้ดังนี้



เทคโนโลยี (Technology)



ปัจจุบันและในอนาคตจะเป็นยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีโอกาสพัฒนาสินค้า บริการ และกระบวนการใหม่ๆ มาตอบโจทย์และแก้ปัญหาสังคม ซึ่งจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่พื้นฐานในสังคม ทำให้คุณภาพชีวิต สุขภาพของผู้คนดีขึ้น



ความตื่นตัวของประเทศกำลังพัฒนา (Developing countries)



ปกติปัญหาสังคมมักจะเกิดขึ้นมากในสังคมของประเทศกำลังพัฒนา เพราะเกิดความเหลื่อมล้ำในการกระจายทรัพยากรได้อย่างเป็นธรรม ปัจจุบันนี้มีความตื่นตัวของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ซึ่งประเทศใหญ่มีจำนวนประชากรที่มาก มีความพยายามที่จะส่งเสริมให้เกิด Social Innovations เพื่อนำมาแก้ปัญหาสังคมและกระแสเหล่านี้ก็กำลังแพร่หลายอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย



ความร่วมมือระหว่างชุมชน (Community Collaboration)



ชุมชนถือว่าเป็นหน่วยสังคมย่อยๆ ที่เชื่อมต่อกัน แต่ละชุมชนมีสภาพปัญหาทางสังคมที่มีทั้งเหมือนกันและแตกต่างกัน การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายของชุมชนในปัจจุบันมีความเข้มแข็งกว่าในอดีต ซึ่งมาจากทั้งความเจริญก้าวหน้าในการเดินทาง รวมทั้งเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย ทำให้การติดต่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และเผยแพร่นวัตกรรมทางสังคมทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น



3) Social Innovation Trends



จากบทความ “8 leading social innovation trends for 2020” ของ Igone Querra (Jan 27, 2020) ใน Social Innovation Academy สรุปแนวโน้ม 8 ประการเกี่ยวกับนวัตกรรมทางสังคมที่มีโอกาสจะพัฒนาขึ้นมาไว้ดังนี้



แนวโน้มที่ 1 : Sustainable Development Goals and Social Innovation



แนวโน้มนี้มองว่า จะเป็น Social Innovation อะไรก็ได้ หากทำเพื่อตอบโจทย์เป้าหมาย SDGs 17 ข้อ ก็ถือว่าดีต่อสังคมโลกทั้งสิ้น



แนวโน้มที่ 2 : Urbanization and Social Innovation



เนื่องจากแนวโน้มสังคมโลกจะมีลักษณะเป็นสังคมเมืองมากขึ้น คนจะย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น ปัญหาในสังคมเมืองจึงต้องการ Social Innovation มาแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นโอกาสของนวัตกรรมที่จะช่วยทำให้เกิด Smart and Green Cities



แนวโน้มที่ 3 : Migration and Social Innovation



การอพยพย้ายถิ่นของมนุษย์กลับกลายมาเป็นปัญหาใหญ่หนึ่งในปัจจุบัน เช่น การอพยพลี้ภัยสงครามจากตะวันออกกลางไปยุโรป ซึ่งคาดว่ามีจำนวนสูงถึง 82 ล้านคน ประเทศที่เกี่ยวข้องต้องรับมือทั้งในส่วนความช่วยเหลือพื้นฐาน และการวางแผนเพื่อบริหารจัดการในช่วงต่อไป ซึ่งหากจัดการไม่ดีก็จะส่งผลต่อประชาชนที่อยู่เดิม และกลายมาเป็นปัญหาทางการเมืองในประเทศได้ต่อไป Social Innovation ที่จะช่วยบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนาต่อไป



แนวโน้มที่ 4 : Social System and Social Innovation



โครงสร้างประชากรในประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่กำลังเต็มไปด้วยคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป เด็กเกิดมาใหม่มีจำนวนน้อยลง กลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป บนนิยามใหม่ Young old หรือ Yold มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตความกังวลเกี่ยวกับระบบประกันสังคม ประกันสุขภาพว่าจะมีเพียงพอรองรับผู้สูงอายุหรือไม่ นวัตกรรมทางสังคมไม่ว่าจะเป็นทางการเงิน หรือสุขภาพจะเป็นสิ่งที่ต้องการอย่างยิ่ง



แนวโน้มที่ 5 : Climate Change and Social Innovation



การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เช่น สภาวะโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจก ได้นำมาซึ่งปัญหาหลายอย่าง เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เกิดความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำ และส่งผลกระทบไปเป็นปัญหาทางสังคมต่อไป นวัตกรรมทางสังคม เช่น การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การมีส่วนร่วมลดโลกร้อนของครัวเรือน และชุมชน จะเป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริมอย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้นี้



แนวโน้มที่ 6 : Technological Development and Social Innovation



ในยุคแห่ง New Digital Technologies เช่นนี้ การพัฒนานวัตกรรมต่างๆ จะเป็นโอกาสให้คนในสังคม เข้าถึงการใช้งาน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เช่น การบริจาคเงินเพื่อการกุศล Crowdfunding platform ใหม่ๆ ทำให้การรวบรวมเงินบริจาคทำได้ง่าย รวดเร็ว และสะดวกขึ้น และไปถึงมือของผู้ที่ทำการกุศลได้อย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมให้เกิด Social Innovation โดยใช้เทคโนโลยีจะเกิดมากขึ้นในอนาคต



แนวโน้มที่ 7 : Circular Economy and Social Innovation



ปัญหาการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองของมนุษย์ไม่ว่าจะมาจากภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ ล้วนแต่มีสภาพที่รุนแรงเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดขยะ ซึ่งไปส่งผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ นวัตกรรมทางสังคมที่จะช่วยทำให้เกิด การคัดแยกขยะ การนำมาหมุนเวียนใช้ หรือแปลงให้เกิดประโยชน์ เช่น พลังงานหมุนเวียน จะเป็นสิ่งที่พลเมืองโลกต้องช่วยกันคิดค้นและร่วมกันแก้ไขมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสของการพัฒนา Social Innovations



แนวโน้มที่ 8 : The Future of Work and Social Innovation



มนุษย์ที่อยู่ในสังคมจำเป็นต้องทำงาน แต่สภาพการทำงานในอนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า หรือการเจอโรคระบาดแบบ COVID-19 ทำให้เราต้องปรับวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ อาจเกิดการทำงานแบบ Work from Home กลายเป็นเรื่องปกติ มี scheme การจ้างงานในหลายลักษณะเป็น Options ให้คนเลือกได้ดีขึ้นกว่าในอดีต





ที่มา : socialinnovationacademy.eu



เขียนโดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®   



รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ