HIGHLIGHTS :
เวลาในการอ่าน 4 นาที
บทความชุด การทำธุรกิจยุคแพลตฟอร์ม
ตอนที 1 : ความหมายความสำคัญของ “แพลตฟอร์ม” ซึ่งมีบทบาทอย่างมากกับธุรกิจในปัจจุบัน
ตอนที่ 3 : เจาะลึกเกี่ยวกับโครงสร้างและรูปแบบของ Platform Business
ตอนที่ 4 : Platform Business Model กับ Case Study ของ Microsoft ด้วยวิธีคิดแบบ “Platform Thinking”
ตอนที่ 5 : รู้จักกับผู้มีส่วนได้เสียในแพลตฟอร์ม และการสร้าง Network Effects
ตอนที่ 6 : วิธีการสร้าง Business Platform ให้ประสบความสำเร็จ
การเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจยุค 3.0 มาเป็นยุค 4.0 สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง คือ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า บางคนก็เรียกว่าเป็น Digital technology ที่นำไปสู่ความล้ำสมัยของการสื่อสาร การคมนาคม การผลิตและบริการ เป็นต้น การคิดค้นเทคโนโลยีเหล่านี้ปรากฏให้เห็นในรูปของนวัตกรรมด้านสินค้า บริการ และกระบวนการใหม่ๆ ซึ่งนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จจะนำไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ที่ทำให้เจ้าของนวัตกรรมนั้นเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็ได้สลายธุรกิจเดิมๆ ที่เคยประสบความสำเร็จและรุ่งเรืองให้กลายเป็นธุรกิจตกยุค เศรษฐกิจยุค 4.0 จึงเป็นการผสมผสานธุรกิจที่รอดมาจากยุค 3.0 และธุรกิจใหม่เอี่ยมที่จะเติบโตในยุค 4.0
ข้อสังเกตประการหนี่งคือ ธุรกิจในยุค 4.0 เป็นธุรกิจที่ใช้แพลตฟอร์ม (Platform) โดยอาศัยเทคโนโลยียุคดิจิทัลเป็นตัวเชื่อม ซึ่งแพลตฟอร์มในที่นี้ทำหน้าที่เหมือนชานชาลาที่เป็นจุดพบกันระหว่างธุรกิจกับผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่า เช่น ลูกค้า คู่ค้า และผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจ แพลตฟอร์มนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย core products / services ที่วางอยู่บนแพลตฟอร์มโดยต้องสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ เช่น แพลตฟอร์มการให้บริการรถของ Grab ซึ่งบริการเรียกรถของ Grab อยู่บนแพลตฟอร์มที่อาศัยเทคโนโลยีเชื่อมต่อให้ผู้ที่ต้องการใช้รถและผู้ให้บริการรถมาเจอกัน โดยที่ Grab ไม่ต้องมีรถยนต์ของตัวเองแม้แต่คันเดียว ลูกค้าที่ต้องการใช้บริการสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน และต้องใส่ข้อมูลของตนเองลงบนแพลตฟอร์มของ Grab ด้วย การจัดเก็บข้อมูลทำให้เกิดการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ช่วยนำข้อมูลมาวิเคราะห์จุดขาย เช่น บริการใดเป็นที่นิยมก็สามารถนำมาโปรโมทเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้ามากยิ่งขึ้น ทำให้โอกาสการเกิดกิจกรรมทางธุรกิจมีมากขึ้น เกิดการต่อยอดสินค้าและบริการใหม่ๆ สามารถทำให้ธุรกิจขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว
1) ธุรกิจยุคไหนๆ ก็ต้องใช้แพลตฟอร์ม
เวลาพูดเรื่อง Platform economy ตอนนี้ฟังดูอาจเป็นเรื่องทันสมัย แต่จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ลองนึกถึงเศรษฐกิจในอดีตก็มีลักษณะเป็น Communication platform เช่น สมัยอยุธยาจนมาถึงกรุงเทพปัจจุบัน มีที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าไปทั้งในและนอกราชอาณาจักร เมื่อศูนย์กลางมีความสำคัญขึ้นเพราะมีความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง ธุรกิจต่างๆ จึงมาอยู่รวมกัน การค้าขายก็จะขยายตัว Platform economy ในอดีตหรืออู่อารยธรรมต่างๆ จึงเกิดมาจากบริเวณลุ่มน้ำ โดยมีสินค้าเกษตรเป็นสิ่งสำคัญบนแพลตฟอร์ม
ลองนึกตามมาเร็วๆ ตอนที่เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เกิดการขนส่งทางรางมีรถไฟเกิดขึ้น Communication platform ก็ย้ายมาที่สถานีรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นโกดังสินค้า ร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีก ชานชาลาของสถานีรถไฟและรถไฟจึงเป็นนวัตกรรมสำคัญบน Communication platform เหล่านี้
อย่างไรก็ตาม พอการคมนาคมแบบถนนถูกพัฒนาไปอย่างกว้างขวาง การขนส่งเริ่มมีความก้าวหน้า และรถยนต์กลายเป็นนวัตกรรมยานยนต์ที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น Communication platform ก็ย้ายมาอยู่ที่สถานีขนส่งรถโดยสาร เช่น บ.ข.ส. และเขตความเจริญของเมืองก็มีการโยกย้ายมาอีกครั้งหนึ่งที่สถานีขนส่ง พอมาถึงยุคปัจจุบันความก้าวหน้าของการเดินทางมีทั้งรถยนต์และเครื่องบิน Communication platform ไม่ได้รวมอยู่ที่ใดที่หนึ่งอีกแล้ว แต่กระจายเป็นหย่อมๆ เป็นแพลตฟอร์มแบบเล็กๆ ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย
2) ธุรกิจยุคใหม่เป็น Borderless Platform
จะสังเกตเห็นได้ว่า Platform economy ตั้งแต่ในอดีตมามีลักษณะเป็น platform ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นทำเลทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการเป็นศูนย์กลางการคมนาคม ซึ่งต้องตั้งอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งของเทศใดประเทศหนึ่งและรัฐมักจะเป็นเจ้าของ Communication platform โดยธุรกิจต้องพึ่งพาภาครัฐในการที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มให้ได้มากที่สุด จึงดูเหมือนว่าแต่ละประเทศก็จะมี Communication platform ของตนเอง แม้ว่าจะมีการไปมาหาสู่กันแต่ก็ต้องข้ามพรมแดนแต่ละประเทศ ผ่านท่าเรือ สถานีรถไฟ และสนามบิน ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านพรมแดนที่เป็นอุปสรรคของการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างกัน
Platform economy สมัยใหม่กำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบ Communication platform แบบไม่มีข้อจำกัดเรื่องพรมแดนอีกต่อไป โดย Digital technology เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการรวบรวมนวัตกรรมการสื่อสาร การจัดการข้อมูลทั้งของลูกค้า สินค้า และบริการให้อยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน ช่วยรองรับการติดต่อสื่อสาร การซื้อขายสินค้าบริการ และการชำระเงินจบได้ในที่เดียว สามารถรองรับลูกค้าได้โดยลดข้อจำกัดด้านพื้นที่และปริมาณ เราจึงพบแพลตฟอร์มของธุรกิจบางแห่งที่สามารถเติบโตได้อย่างมหาศาล เช่น Amazon, Lazada, Grab เป็นต้น ธุรกิจที่สามารถพัฒนาและควบคุมนวัตกรรมสมัยใหม่เหล่านี้ให้เป็นที่ต้องการของผู้ใช้บริการ ก็จะกลายเป็น New communication platform ที่ทรงอิทธิพล ดึงดูดให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาสู่แพลตฟอร์มเพื่อเติบโตไปพร้อมกัน Communication platform เดิมแม้ว่าจะยังเดินต่อไปได้ แต่ความนิยมก็จะลดลงไปเรื่อยๆ เช่น แพลตฟอร์มของร้านค้า ส่งค้า ค้าปลีก ธนาคาร โรงเรียน สถานศึกษา เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าเรากำลังพบกับยุคของ New communication platform ที่ไร้พรมแดนมากขึ้นเรื่อยๆ และเจ้าของ Communication platform แบบเดิมที่ครอบครองโดยภาครัฐก็คงกำลังปวดหัวว่าจะดำเนินการอย่างไรดีทั้งในด้านการควบคุม การมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ ซึ่งการที่ภาครัฐไม่ได้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มและนวัตกรรมสำคัญนี้ ทำให้การควบคุมทำได้ยากและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การหาคำตอบเรื่องเหล่านี้คงเป็นเรื่องที่ต้องหาวิธีการกันต่อไปในอนาคต พูดได้แค่ว่า Borderless platform นี้ใครก็หยุดภาคธุรกิจได้ยาก
3) คำจำกัดความใหม่ของ Platform Economy
ข้อมูลจาก Wikipedia ให้คำจำกัดความของ Platform economy ไว้ว่าเป็น “Digital หรือ Online platform” ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ (buying) การขาย (selling) การจัดสรร (sharing) สินค้าและบริการ รวมทั้งกิจกรรมทางสังคม (social activities) คำสำคัญในที่นี้ก็คือ Digital platform หรือ Online platform ซึ่งต้องอาศัย Digital technology ที่พัฒนาขึ้นในยุคนี้ ในส่วนนี้คือความแตกต่างที่เทียบกับ Platform economy ที่เกิดขึ้นในอดีตดังที่อธิบายในหัวข้อที่แล้ว
Farrell and Greig (2016) ได้สรุปความแตกต่างไว้ดังนี้
เนื่องจากในยุคของเรานี้เป็นรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนแปลง Platform economy จากรูปแบบ Analog platform ไปเป็น Digital platform ซึ่งศาสตร์ที่เราเรียนกันมาเกี่ยวกับการทำธุรกิจ โดยมี Platform ของตนเองยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน จึงมีความจำเป็นที่องค์กรต่างๆ จะต้องเรียนรู้การสร้างแพลตฟอร์มแบบใหม่นี้และเชื่อมต่อกันให้เป็น Platform economy ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกผ่าย ดังรูปที่ใช้ปิดท้ายบทความตอนแรกนี้
ที่มา Platform economy - Wikipedia
เขียนโดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®
รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย