9 สตาร์ทอัพไทย เดินหน้าท้าชนปีวัว

9 สตาร์ทอัพไทย เดินหน้าท้าชนปีวัว

19 มกราคม 2564บทความ2,256

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • ผ่านมาแล้วกับปี 2020  ซึ่งเป็นปีที่เหนื่อยและยากลำบากสำหรับทุกธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่ต้องการเงินทุนมาเร่งการเติบโต ทั้งด้านลูกค้า และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่พวกเขาเหล่านี้ก็พร้อมปรับตัว รับการเปลี่ยนแปลง หาโอกาสใหม่ๆ เพื่อผ่านพ้นวิกฤตเหล่านั้นมาได้ มาเรียนรู้แนวคิด และวิธีการต่างๆ จากพวกเขา ได้ในบทความนี้



เวลาในการอ่าน 7  นาที








  1. รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ CEO & Co-Founder – QueQ


  2. ผรินทร์ สงฆ์ประชา CEO & Co-Founder – Nasket


  3. รัชวุฒิ พิชยาพันธ์ Co-Founder – Fixzy 


  4. ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ CEO & Co-Founder – Eventpop


  5. พงศธร ธนบดีภัทร CEO & Co-founder – Refinn 


  6. พริษฐ์ วัชรสินธุ  CEO – StartDee


  7. อุกฤษ อุณหเลขกะ CEO & Co-Founder – Ricult


  8. นรินทร์ คูรานา CEO – School Bright (Jabjai Corporation)


  9. ธนวิชญ์ ต้นกันยา CEO & Co-Founder – Horganice





รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ CEO & Co-Founder  QueQ



การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด คือตัวเร่งที่แท้จริงของโลกและมนุษย์ที่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองแบบทันทีทันใด เทคโนโลยีหลายตัวจากที่เคยเป็นแค่ของเจ๋งๆ แต่ไม่ได้จำเป็น กลายเป็นของจำเป็นที่ไม่ใช่แค่เพื่อใช้ชีวิต แต่เพื่อการมีชีวิตอยู่รอดเลยในทันที ทุกอย่างเหมือนถูกกดสวิตช์รีเซ็ตใหม่หมด



การเป็นผู้ประกอบการแบบสตาร์ทอัพอาจจะได้เปรียบเรื่องความเคยชินในการปรับตัวอย่างรวดเร็วและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ยังจำเป็นต้องอ่านกระแส และทิศทางหลายๆ อย่างให้ออกโดยไว แต่ความยากคือมันเปลี่ยนตลอดเวลา แทบจะวันต่อวัน ต้องใช้ทุกๆ ประสบการณ์และทุกๆ แนวทางที่เคยเรียนรู้มา ทั้งแนวทางแบบสตาร์ทอัพและแนวทางอื่นๆ อย่างแนวคิดแบบ SMEs ผสมผสาน มาเพื่อให้ปรับตัวได้ทัน โดยมีเดิมพันอย่างเดียวเลยคือการอยู่รอด



สำหรับที่ QueQ เราปรับตัวได้ไว เปลี่ยนวิธีการทำงาน ทำความเข้าใจระหว่างทีมทุกคน ถึงบทบาท และวิธีการที่ต้องเปลี่ยนไป รวมถึงภารกิจที่เปลี่ยนไป เข้าโหมดการเอาตัวรอดเต็มตัว ยังมีความโชคดีที่เทคโนโลยีที่เราสร้างมีโอกาสมากขึ้นในสถานการณ์แบบนี้ แต่ถ้าเราไม่เอาตัวให้รอดให้ได้ก่อน เราอาจจะไม่มีสิทธิ์เลยในการคว้าโอกาสนั้น



ดังนั้น ถ้าจะมีอะไรให้ฝากถึงผู้ประกอบการอื่นๆ เรื่องสำคัญคือ การทำงานร่วมกันที่เปลี่ยนไป และการจับกระแสตลาดให้ถูกต้องโดยไว โดยระลึกเสมอว่าเดิมพันมันคือชีวิตรอดของธุรกิจ ที่เดินคู่ขนานไปกับชีวิตรอดของตัวเราเอง สู้ๆ นะครับ





ผรินทร์ สงฆ์ประชา CEO & Co-Founder – Nasket



การกระโดดไปออนไลน์ ปี 2021 บังคับให้ต้องรีบไปออนไลน์กันมากขึ้น อย่ากระโดดไปออนไลน์ โดยไม่มีกลยุทธ์​ หรือไม่ก็คิดเยอะเกินไป จนไม่ลงมือ กลยุทธ์ปรับตัวไปออนไลน์ที่ดี คือ หาพื้นที่ จุดแข็งที่เรามี ลูกค้าต้องการ แต่คู่แข่งทำตามไม่ได้ การลงมือที่ดี คือ ทำเล็ก ทำเร็ว วัดผล และคัดตัวที่พ่าย ขยายตัวที่ชนะ





รัชวุฒิ พิชยาพันธ์ Co-Founder – Fixzy 



จากสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน แต่มันมาพร้อมกับความระมัดระวังในการใช้เงินของลูกค้า ดังนั้นวิธีการที่ Fixzy ศึกษาธุรกิจเพื่อการอยู่รอดและการเติบโตของบริษัท คือการตัดใจทิ้ง Business Model ที่มันไม่ใช่ออกและหาแนวทางการปรับตัวให้ไวที่สุด ราคาและเหตุผลเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ดังนั้น การศึกษา ค้นหา ช่องทางรายได้ใหม่ๆ บวก ความเร็วในการเข้าถึง แหล่งเงินใหม่ๆ สำคัญมากๆ   สุดท้ายต้องเลือกไม่เปลี่ยนก็ตายแล้วไปเริ่มใหม่ ธุรกิจมันก็เป็นแบบนี้





ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ CEO & Co-Founder – Eventpop



วิกฤตหรืออุปสรรคไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับสตาร์ทอัพและ SMEs แต่สิ่งที่สำคัญ คือทักษะการตัดสินใจเมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรค ว่าเราจะเลือกมุ่งหน้าเข้าหาอุปสรรคหรือจะวิ่งหนีอุปสรรค เพราะไม่ว่าเราจะเลือกทางเดินไหนก็ตาม หัวใจสำคัญของการตัดสินใจ คือการที่เรายังต้องมีชีวิตอยู่รอดเพื่อต่อสู้ในวันถัดไปให้ได้ และสิ่งที่ต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอในฐานะผู้นำองค์กร คือห้ามหยุดเดิน และต้องมุ่งหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้เราเข้าใกล้เป้าหมายของเรายิ่งๆ ขึ้นไป





พงศธร ธนบดีภัทร CEO & Co-founder – Refinn



จากช่วงเวลาในปีที่ผ่านมาทำให้เราได้เห็นว่าในทุกวิกฤตมีโอกาสอยู่เสมอเพราะหลายบริษัทที่ปรับตัวไม่ทันสถานการณ์ก็ต้องปิดตัวลงไป ในขณะที่หลายธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้ บางแห่งก็อยู่รอด บางแห่งก็เติบโตกว่าเดิมหลายเท่า



ผมคิดว่าทักษะและปัจจัยสำคัญของความอยู่รอดนั้นจำเป็นกับทุกธุรกิจไม่ใช่แค่เฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด แต่วิกฤตเศรษฐกิจและสถานการณ์แบบนี้สามารถเกิดได้ทุกเมื่อซึ่งอาจจะเล็กหรือใหญ่แต่เราก็ต้องฝ่าฟันไปให้ได้ทุกครั้ง เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือการรู้และตื่นตัวให้ไว ว่าเราอยู่ในสถานการณ์นี้แล้วธุรกิจเราเป็นอย่างไรบ้าง ต้องวิเคราะห์ตลาดและลูกค้าให้เข้าใจใหม่ทั้งหมด



เหมือนตอนที่เราเริ่มธุรกิจเราก็วิเคราะห์ว่าเราจะสร้างตลาดกับลูกค้าและสังคมไทยอย่างไร แต่ในวันนี้ที่เกิดสถานการณ์โควิดขึ้นมันก็เหมือนทุกอย่างรีเซ็ตใหม่ สิ่งที่เราต้องทำก็คือเริ่มตั้งต้นใหม่ คิดเสียว่าข้อมูลเดิมลูกค้าเดิมและตลาดเดิมที่เราเคยมีอาจจะเปลี่ยนไป เราแค่ต้องรีบยอมรับว่ามันเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ แล้วอย่าเสียเวลาจมอยู่กับความเสียใจนาน รีบลุกขึ้นมาศึกษาตลาดและวางแผนใหม่ว่าจะทำธุรกิจด้วยการเริ่มต้นเกมใหม่แบบนี้ได้อย่างไร



เพราะถ้าเราเริ่มใหม่ได้ก่อนคนอื่นก็มีโอกาสที่จะทิ้งห่างคู่แข่งและประสบความสำเร็จในตลาด แต่ถ้าเรารอให้เวลาผ่านพ้นไปจมอยู่กับความเสียใจเราก็อาจจะ Game over ตลอดไปเลยก็เป็นได้





พริษฐ์ วัชรสินธุ   CEO  StartDee



ปฏิเสธไม่ได้ ว่าวิกฤตโควิดทำให้คนมีความจำเป็นต้องหันมาพึ่งโลกออนไลน์มากขึ้น  ในมุมหนึ่ง บริษัทในแวดวงเทคโนโลยี จึงอาจโชคดีกว่าอีกหลายธุรกิจ เช่น ร้านอาหาร ร้านค้า โรงแรม หรือ ผู้ประกอบการอีกหลายอุตสาหกรรม 



แต่ในอีกมุมหนึ่ง บริษัทด้านเทคโนโลยีอย่างเรา ยิ่งต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมที่สูงขึ้น ในการเร่งพัฒนาให้เทคโนโลยีของเราเข้าถึงคนจำนวนมากที่สุด (Digital access) และ ทุกกลุ่มใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Digital literacy)



มิเช่นนั้น เทคโนโลยีจะไม่ได้เป็นตัวช่วยให้ทุกคนสามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤตนี้ได้ แต่กลับเป็นกำแพงที่ตอกย้ำอีกความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่ทำให้ช่องว่างระหว่างคุณภาพชีวิตของคนที่เข้าถึงและเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี กว้างขึ้นกว่าเดิม (Digital divide)





อุกฤษ อุณหเลขกะ CEO & Co-Founder  Ricult



สถานการณ์โควิดได้สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลกไม่เว้นประเทศไทย ถึงแม้จะเป็นวิกฤตที่ทำให้หลายธุรกิจปิดตัวลงแต่ก็เป็นโอกาสสำหรับสตาร์ทอัพ เพราะโควิดเป็นตัวเร่งให้เกิด Digital Transformation อย่างรวดเร็วทำให้คนมาอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน



คำถามคือเราจะปรับตัวและปรับโมเดลธุรกิจอย่างไรเมื่อเจอทั้งปัญหาและโอกาสนี้



สิ่งสำคัญคือคิดเร็ว ทำเร็ว เรียนรู้เร็ว แก้ไขข้อผิดพลาดเร็ว แต่ไม่ประมาท เราต้องอย่าลืมมีความหวังและสู้ไปข้างหน้า เพราะโอกาสมีอยู่เสมอสำหรับคนที่พร้อมจะรับมัน





นรินทร์ คูรานา CEO School Bright (Jabjai Corporation)



ปีนี้ถือเป็นปีที่กระทบกระเทือนไปทั้งประเทศ แต่สำหรับผม เรามองเห็นโอกาสในการปรับตัว และช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าของเราให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ ผมจำได้ว่าในช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ ในไทย ในเดือนมีนาคมนั้น ทีมงานเราอดหลับอดนอน เพื่อเร่งพัฒนาสิ่งที่อาจจะต้องใช้เวลาในการพัฒนา 2-3 เดือน แต่พวกเราเร่งทำกันในเวลา 1 สัปดาห์ได้เสร็จ เพื่อให้ทันก่อนการล็อกดาวน์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ตัวนั้นก็เป็นโอกาสในช่วงโควิดนี้ ที่ทำให้เราได้ช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าของเรา และสามารถขยายตลาดออกไปมากกว่า 3 เท่าของปีที่ผ่านมา  ดังนั้น สำหรับนักธุรกิจ นักสู้ และผู้นำ เราต้องมองหาโอกาสในทุกๆ ปัญหาเสมอ





ธนวิชญ์ ต้นกันยา CEO & Co-Founder  Horganice



ในการเป็นผู้ประกอบการเราคงหนีไม่พ้นกับ กับคำว่า วิกฤต ในอดีตก็มี วิกฤตต้มยำกุ้ง มาวันนี้หลายคนกำลังเจอกับวิกฤตจากสถานการณ์โควิด และ ในอนาคตเราก็มีโอกาสจะเจอกับคำว่า วิกฤต อีกครั้ง แต่อย่าลืมว่า ในวิกฤต มักมีโอกาส อย่าตื่นตระหนก แต่ให้สร้างโอกาสใหม่ๆ อย่างมีสติ และ ทรัพยากรณ์คนคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ผ่านวิกฤตไปได้




เราควรใช้โอกาสขับเคลื่อนทีมด้วยความกล้า และ สร้างความหวังร่วมกัน อย่านำทีมด้วยความกลัว สุดท้ายการทำลายกำแพงความกลัวเพื่อให้ได้โอกาสใหม่ๆ มันมีความเสี่ยงเสมอ และเพราะความเสี่ยงที่สุด คือการไม่กล้าเสี่ยงอะไรเลย เราจึงต้องลงมือทำและกล้าเสี่ยงเพื่อจะรอดจากวิกฤตให้ได้





ทั้งหมดนี้คือ มุมมองและแนวคิด การปรับตัว และการแสวงหาโอกาสในช่วงวิกฤต จากสตาร์ทอัพทั้ง 9 ท่าน ทางห้องเรียนผู้ประกอบการ ก็ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกท่าน ที่กำลังประสบปัญหาได้มีกำลังใจ ลุกขึ้นฮึดสู้ และขอให้ผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปให้ได้ 




 


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

คุณอาจจะสนใจ