สตาร์ทอัพ เตรียมตัวอย่างไรพิชิตใจ Angel Investor

สตาร์ทอัพ เตรียมตัวอย่างไรพิชิตใจ Angel Investor

8 กุมภาพันธ์ 2564บทความ1,359

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • Angel Investor หรือนักลงทุนนางฟ้า คือกลุ่มนักลงทุนที่มีบทบาทและความสำคัญอย่างมากต่อสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น ซึ่งสตาร์ทอัพที่ระดมทุนจาก Angel Investor ได้สำเร็จนั้น นอกจากจะทำให้ธุรกิจน่าสนใจแล้ว ยังต้องเข้าใจสิ่งที่ Angel ต้องการ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับ Angel Investor ด้วย


  • บทความนี้สรุปจากงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ Connecting with the angels โดยคุณ Robert Lomnitz, Director, Bangkok Venture Club และ คุณ Ivan Yong, Co-Founder of Nanyang Angelz ซึ่งได้แนะนำถึงประเด็นสำคัญด้านการสร้างความสัมพันธ์กับ Angel Investor ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ



เวลาในการอ่าน  5 นาที









ในโลกการระดมทุนสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะฝั่ง ecosystem ที่ค่อนข้างสมบูรณ์เช่นอเมริกา หรือ ยุโรป พวกเรามักจะคุ้นกับแหล่งเงินทุนสนับสนุน จาก Angel Investors ซึ่งเป็นนักลงทุนภายนอกกลุ่มแรก ถัดจากแหล่งเงินทุนเริ่มต้นของผู้ก่อตั้ง และเงินทุนสนับสนุนจากเครือญาติและเพื่อนรัก (FFF) 



แต่ทว่าในความเป็นจริง การเข้าหา Angel Investor นั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆ อย่างที่เขียนในตำราเสมอไป โดยส่วนมากผู้ประกอบการที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกลุ่ม Angel มักจะได้รับการแนะนำจากเครือข่ายที่มีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และในหลายกรณี การให้เงินทุนสนับสนุนนั้นมักไม่ได้รับการเปิดเผย จึงทำให้ผู้ประกอบการส่วนมากยังคงสงสัยว่า  Angel Investor มีอยู่จริงหรือไม่ จะสามารถเข้าหาพวกเขาได้อย่างไร และข้อเสนอในการร่วมทุนจะใจดีตามที่เรียกว่า Angel หรือเปล่า 



เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีความเข้าใจในเครือข่าย Angel Investor ให้มากยิ่งขึ้น ทาง Expara (ประเทศไทย) ภายใต้โครงการการรับมือและฟื้นฟูธุรกิจอย่างเร่งด่วน ได้จัดสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ Connecting with the angels เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก คุณ Robert Lomnitz, Director, Bangkok Venture Club และ คุณ Ivan Yong, Co-Founder of Nanyang Angelz ร่วมเสวนาประเด็นสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์กับ Angel Investor ในประเทศไทยและต่างประเทศ วิธีการประเมินการลงทุน พร้อมตอบทุกคำถามที่ผู้ประกอบการทุกท่านสงสัย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้



ในช่วงต้นของการเสวนาทั้งสองท่านกล่าวว่า Angel Investor คือบุคคลธรรมดาที่มีการจัดสรรสินทรัพย์การลงทุนของตนเองบางส่วนเพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพ โดยที่การลงทุนในสตาร์ทอัพนั้นถือเป็นการลงทุนประเภทความเสี่ยงสูง แต่ละท่านมักจะจำกัดสัดส่วนการลงทุน โดยสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ เช่น หุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ ยังคงเป็นสินทรัพย์หลักในกลุ่มสินทรัพย์การลงทุนของ Angel Investor วิทยากรกล่าวว่า Angel Investor มีเหตุผลการลงทุนในสตาร์ทอัพที่แตกต่างกันไป ตามสถานะของแต่ละบุคคล อาทิ Angel Investor ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรใหญ่ อาจจะต้องการลงทุนเพื่อสร้างทางเลือกให้ตนเองแต่ไม่ต้องการใช้เวลามากมายในการเข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของประเด็นสำคัญ 2 เรื่องสำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่กำลังมองหาเงินทุนจาก Angel Investor คือ



1. ให้ความสำคัญกับการหาข้อมูลและทำความรู้จัก Angel Investor



ใครคือ Angel Investor ที่คุณมองหา ปัจจุบันผู้ประกอบการสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับ Angel Investor ผ่านเครือข่ายต่างๆ สิ่งที่ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจให้ชัดๆ คือ แรงบันดาลใจในการลงทุนในสตาร์ทอัพของนักลงทุน ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ รวมถึงแนวทางการร่วมทุนที่แตกต่างกัน



หลักสำคัญในการพิจารณารับเงินทุนสนับสนุนจาก Angel Investor นั้น ไม่ควรจะจำกัดอยู่ที่เงินทุนสนับสนุนเพียงอย่างเดียว ผู้ประกอบการควรมองหา Smart Money ซึ่งหมายถึง Angel Investor ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจของคุณ และให้เงินทุนสนับสนุนตามเงื่อนไขมาตรฐานของการร่วมทุนสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นมาเป็นผู้ถือหุ้น จะเป็นใบเบิกทางของความสำเร็จในการระดมทุนครั้งต่อไปได้เลย



วิธีการมองหา Deal Flow ของนักลงทุนท่านนั้นๆ เป็นแบบไหน นักลงทุนบางท่านจะพิจารณาข้อเสนอการร่วมทุนผ่านการแนะนำจากคนสนิท หรือเครือข่ายนักลงทุนเท่านั้น การติดต่อนักลงทุนโดยตรง (cold call) อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับนักลงทุนบางท่าน แต่โอกาสในการระดมทุนให้สำเร็จด้วยวิธีนี้นั้น ต่ำมาก ดังนั้นผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการเข้าร่วม networking ที่จัดขึ้นโดยเครือข่าย Angels และควรศึกษาข้อกำหนดในการเข้าร่วม events ต่างๆ ให้ดี



ผู้ประกอบการควรระลึกเสมอว่าเหล่า Angel Investor มีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายเพื่อการกระจายความเสี่ยง ตามหลักการจัดสรรสินทรัพย์อย่างรอบคอบ เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการควรถามตัวเองว่า ทำไมนักลงทุนต้องสนับสนุนการลงทุนในสตาร์ทอัพของคุณ 



การสร้างความไว้ใจ (Trust) เป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การร่วมทุน วิทยากรฝากข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า การใช้เวลาทำความรู้จักกันระหว่างนักลงทุนและผู้ประกอบการนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แต่การ pitching เท่านั้น แต่เป็นการใช้เวลาเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเรียนรู้ตัวตนที่แท้จริง การที่คุณบอกว่า คุณมี passion ในการสร้างธุรกิจหรือแก้ปัญหาบางอย่างนั้น การกระทำและคำพูดของคุณสอดคล้องกันหรือเปล่า ซึ่งคุณ Ivan ได้ยกตัวอย่างเทคนิคที่เขาใช้สังเกตความสอดคล้องของการกระทำและคำพูด โดยจะพิจารณาว่าผู้ประกอบการใช้เวลาในยามว่างอย่างไร หรือได้เข้าร่วมงานอาสาสมัครที่สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้ประกอบการกล่าวถึงหรือไม่ เป็นต้น วิทยากรทั้งสองท่านย้ำว่า การสร้างความไว้ใจนั้น ใช้เวลาค่อนข้างมาก อาจกินเวลาหลายเดือนหรือเป็นปีเลยทีเดียว



ระหว่างการเสวนา ผู้ประกอบการได้ขอคำแนะนำในการติดต่อกับ Angel Investor ซึ่ง คุณ Robert แนะนำว่าให้เริ่มต้นจาก Social Network เช่น LinkedIn หรือช่องทางอี่นๆ คุณอาจจะมีคนรู้จักในกลุ่มเดียวกัน หรือคนที่คุณคุ้นเคยที่รู้จักกันกับนักลงทุนท่านนั้นๆ อยู่แล้ว ทางคุณ Ivan เสริมว่า การเริ่มต้นที่ network ของศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยอาจจะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ได้ริเริ่มโครงการสนับสนุนเงินทุนเริ่มต้นระหว่างนักศึกษาและกลุ่มนักลงทุนที่อาจจะเป็นศิษย์เก่า ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการหน้าใหม่อีกด้วย



2. เข้าใจสิ่งที่ Angel Investor มองหาในสตาร์ทอัพ



นักลงทุนที่รอบคอบย่อมมีหลักการลงทุนและเหตุผลที่ชัดเจนทั้งในรูปแบบการร่วมทุนในรูปแบบหุ้น หรือหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Notes) บางท่านอาจจะไม่สนับสนุน การระดมทุนในรูปแบบบางอย่างเช่น Crowd Funding นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรเข้าใจจำนวนเงินทุนที่ Angel Investor สามารถให้การสนับสนุน (Check Size) ได้ในแต่ละครั้งของการร่วมทุน เนื่องจากจำนวนเงินทุนสนับสนุนก็จะแตกต่างกันไป และหากต้องการเงินทุนสนับสนุนในจำนวนที่สูงกว่า Angel Investor คนใดคนหนึ่ง Angel Syndicate หรือการร่วมลงทุนของกลุ่ม Angel อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการ นอกจากนั้น นักลงทุนยังให้ความสำคัญต่อพื้นฐานของธุรกิจและคุณลักษณะของผู้ประกอบการเพื่อประกอบการตัดสินใจ ดังนั้น ผู้ประกอบการ จึงควรทำความเข้าใจข้อเสนอการร่วมทุนต่างๆ รวมถึงเตรียมความพร้อมตอบคำถาม ตามประเด็นสำคัญ ที่นักลงทุนมองหาดังนี้



องค์ประกอบพื้นฐานของธุรกิจ



ทีมที่แข็งแกร่งและมีประสบการณ์



นวัตกรรม



กลุ่มตลาดเป้าหมาย



ขนาดของตลาด 



ประมาณการณ์การเงิน 



จำนวนเงินที่ต้องการระดมทุน



วัตถุประสงค์การใช้เงินทุน



มูลค่าประเมินของธุรกิจ 



โครงสร้างการถือหุ้น เอกสารการจดทะเบียนบริษัท เป็นต้น



Be realistic ในการประมาณการขนาดตลาดหรือองค์ประกอบอื่นๆ ในการนำเสนอแผนงาน สตาร์ทอัพควรศึกษาข้อมูลให้ดีและต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ของการประมาณการณ์ดังกล่าวทั้งทางด้านการสร้างผลกำไร หรือขนาดตลาด  และมี solution ที่ตอบโจทย์ปัญหาธุรกิจได้ตรงจุด



คุณลักษณะที่สำคัญ



ความซื่อสัตย์ เป็นคุณลักษณะสำคัญที่นักลงทุนมองหา  



ประสบการณ์สร้างธุรกิจของผู้ประกอบการ ท่านที่ได้สร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาแล้วย่อมมีคะแนะนำผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นสร้างธุรกิจครั้งแรก 



Angel Investor ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการที่ปรับตัวได้ไว เรียนรู้ ตลอดเวลา และเป็นผู้ที่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและนำไปปรับใช้อย่างเหมาะสม (Coachable & Growth Mindset) 



ในช่วงท้ายของการเสวนา มีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสนใจของ Angel Investor ในสถานการณ์ Covid-19 วิทยากรทั้งสองท่าน ให้ความเห็นว่า Angel Investor ต่างหลีกเลี่ยงการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง และหันไปให้ความสำคัญกับตัวเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำในช่วงเวลานี้ อย่างไรก็ตาม Angel Investor ยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจ โดยมุ่งเน้นกลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านอาหาร สุขภาพและความเป็นอยู่ เป็นต้น 





สรุปใจความสำคัญโดย : สริตา วงษ์วิจารณ์ และ ชนากานต์ โชติวีระสถานนท์



เรียงเรียงเนื้อหาโดย : ดร. ธนรรภรณ์ เศรษฐ์จินดา (อ.แนน) 


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ