ประเมินมูลค่าสตาร์ทอัพ ฉบับ VC (ตอนที่ 2)

ประเมินมูลค่าสตาร์ทอัพ ฉบับ VC (ตอนที่ 2)

8 กุมภาพันธ์ 2564บทความ2,513

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • การประเมินมูลค่าไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ก็ตามเป็นกระบวนการประมาณการทางการเงินที่ต้องตั้งสมมุติฐานประกอบมากมาย ผลลัพธ์ที่ได้จึงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็น ดังนั้นนักลงทุนจึงไม่ควรกังวลว่าการประมาณการนั้นถูกต้องหรือเชื่อถือได้หรือไม่ แต่ควรใช้การประเมินมูลค่าหรือการประมาณการเพื่อประเมินศักยภาพของธุรกิจและใช้ประกอบการตัดสินใจ นอกจากนี้ยังมีคำถามที่น่าสนใจเรื่องมุมมองการลงทุนและการประยุกต์ใช้วิธีการประเมินมูลค่าโดยวิธี VC


  • บทความนี้สรุปประเด็นการบรรยายในส่วน Valuation และ Dilution จากงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ Secrets of VC Valuation Revealed โดยคุณ Douglas Abrams, Founder & CEO of Expara และประเด็นคำถามสำคัญจากผู้เข้าร่วมสัมมนา ในช่วง ถาม - ตอบ



เวลาในการอ่าน  10  นาที









จากงานสัมมนาออนไลน์หัวข้อ Secrets of VC Valuation Revealed ในวันที่ 27 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการสรุปเนื้อหาสำคัญในบทความตอนที่แล้ว ซึ่งยังคงมีประเด็นสำคัญเพิ่มเติม ที่วิทยากรได้ขยายความในช่วงท้าย ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินมูลค่าธุรกิจ เช่น ระดับการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมคืออะไร จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อการประเมินมูลค่าอยู่ในระดับที่สูงเกินความเป็นจริง รวมถึงคำถามที่น่าสนใจจากผู้เข้าร่วมการสัมมนา โดยเฉพาะประเด็นการหาข้อมูลสนับสนุนการประเมินมูลค่าสตาร์ทอัพด้วยวิธี VC ความน่าเชื่อถือของประมาณการงบการเงิน และสมมุติฐานต่างๆ ที่ใช้ในการคำนวณหาข้อมูล อุตสาหกรรมที่นักลงทุนสนใจ รวมถึงปัจจัยที่คุณ Douglas พิจารณาในการคัดเลือกธุรกิจสตาร์ทอัพ บทความตอนที่ 2 นี้ จะขอนำเสนอใจความสำคัญจากช่วงถามตอบ รวมถึงคำถามที่คุณ Douglas ไม่ได้ตอบระหว่างการบรรยาย



ผ่าน 11 ประเด็นคำถามสำคัญเกี่ยวกับการร่วมทุนและประเมินมูลค่าสตาร์ทอัพ โดยมีรายละเอียดดังนี้



1. No Exit - No Return for VC แล้ว Dividend ไม่ได้ถือเป็นผลตอบแทนอย่างหนึ่งหรืออย่างไร



เริ่มต้น Q&A กันด้วยคำถามเจาะลึกประเด็นการสร้างมูลค่าทางธุรกิจ ในโลกสตาร์ทอัพ ที่ คุณ Douglas กล่าวไว้ในตอนต้นว่า สำหรับ VC นั้น No Exit คือ No Return ซึ่ง ผู้ประกอบการหลายๆ ท่านมักจะคุ้นเคยกับการสร้างธุรกิจที่เริ่มต้นโดยการรวบรวมเงินทุนของตัวเอง หรือครอบครัว หรือหุ้นส่วนทางธุรกิจ เพื่อจัดตั้งบริษัท หลังจากการดำเนินธุรกิจไประยะหนึ่งจนสามารถสร้างกระแสเงินสด และผลกำไรอย่างต่อเนื่อง ทางผู้ก่อตั้งมักจะแบ่งผลกำไรกันในรูปแบบของเงินปันผลในระยะยาว ซึ่งในประเด็นคำถามนี้ คุณ Douglas ย้ำอีกครั้งว่า วิธีการสร้างผลตอบแทนสำหรับนักลงทุนและธุรกิจในโลกสตาร์ทอัพนั้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการ Exit ด้วยเหตุผลหลักๆ ที่ว่า กองทุน VC มีอายุกองทุนจำกัด โดยเฉลี่ยแล้วมีอายุกองทุนอยู่ประมาณ 10 ปี และมีความคาดหวังในการสร้างผลตอบแทนในระดับสูง ดังนั้น VC จึงมองหาธุรกิจที่สามารถสร้างอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วและสามารถเข้าสู่กระบวนการ Exit ภายในอายุกองทุน ซึ่งนักลงทุน VC ไม่ได้มองหาผลตอบแทนในรูปแบบของ เงินปันผล เนื่องจากการจ่ายเงินปันผล นั้น ถือเป็นการลดทุนที่สตาร์ทอัพจะสามารถนำไปขับเคลื่อนการขยายธุรกิจ ส่งผลให้อัตราการเติบโตช้า และ ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุนได้ในระดับที่นักลงทุนคาดหวังไว้ นอกจากนี้ นักลงทุนที่เลือกลงทุนในกองทุน VC มองหาผลตอบแทนในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยหลายเท่า ซึ่งหากนักลงทุนต้องการได้รับผลตอบแทนในรูปแบบเงินปันผล ทางเลือกของพวกเขาคือ การลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่หลายๆ ท่านคุ้นเคย ไม่ใช่กองทุน VC



2. ผู้ประกอบการควรประเมินมูลค่าบริษัทของตนเองหรือให้นักลงทุนเป็นฝ่ายเริ่มเปิดฉากการเจรจา



Valuation หรือการประเมินมูลค่าทางธุรกิจ ถือเป็น การกำหนดราคาหุ้นในการเข้าร่วมทุน เปรียบเสมือน ราคาในการซื้อขายสินค้า ดังนั้น ผู้ประกอบการ ที่ต้องการขายหุ้นในสัดส่วนหนึ่งของบริษัทให้กับนักลงทุนเพื่อการระดมทุน ควรจะตั้งต้นด้วยการประเมินมูลค่าบริษัทของตัวเองก่อน ในหลายครั้ง คุณ Douglas มักพบผู้ประกอบการที่นำเสนอแผนธุรกิจเพื่อการระดมทุน แต่ไม่ได้ระบุ Your ASK ซึ่งหมายถึง มูลค่าธุรกิจ และสัดส่วนหุ้น ในการระดมทุนรอบนั้นๆ ซึ่งมักจะสร้างความสับสนให้นักลงทุน เปรียบเสมือนสถานการณ์ที่ผู้ขายต้องการขายสินค้าแต่ไม่ได้ระบุราคาขายสินค้าชิ้นนั้น ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ผู้ประกอบการบางท่าน มักจะบอกว่า ให้นักลงทุนประเมินมูลค่าธุรกิจได้เลย ซึ่งนั่น เป็นข้อผิดพลาดอีกประการหนึ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะการยกหน้าที่การประเมินมูลค่าธุรกิจให้นักลงทุนนั้น ก็เท่ากับว่าผู้ประกอบการเสียเปรียบตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มการเจรจา เหตุผลหลักเป็นเพราะว่า นักลงทุนอาจจะประเมินมูลค่าทางธุรกิจที่ต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ย ดังนั้นผู้ประกอบการควรประเมินมูลค่าธุรกิจของตัวเอง และตั้งมูลค่าธุรกิจในระดับที่สูงกว่าระดับที่ต้องการไว้ ในการเจรจาต่อรอง



3. Good Valuation - Fair Valuation - Overvaluation & Dilution



จากคำตอบในข้อสอง ที่ย้ำว่าผู้ประกอบการควรเป็นฝ่ายกำหนดมูลค่าธุรกิจให้สูงกว่ามูลค่าคาดหวัง ในประเด็นนี้เชื่อมโยงกับการตั้งมูลค่าธุรกิจสูงเกินจริง ซึ่งมักพบบ่อยในการเจรจาการร่วมทุน โดยมุมมองของคุณ Douglas ต่อประเด็นนี้ได้ฝากไว้ว่า การประเมินมูลค่าที่ดี คือ ระดับมูลค่าธุรกิจที่เหมาะสมและยุติธรรม (Good Valuation is Fair Valuation) แน่นอนว่า ไม่มีผู้ประกอบการท่านใดต้องการประเมินมูลค่าธุรกิจของตัวเองในระดับที่ต่ำเกินไป และการร่วมทุนที่ดีควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของมูลค่าการประเมินที่ยุติธรรมและเหมาะสม แต่โดยมากเรามักจะพบผู้ประกอบการที่ตั้งมูลค่าธุรกิจสูงเกินจากค่าเฉลี่ยไปมาก ซึ่งอาจมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น การอ้างอิงข้อมูลจากการ Exit ของสตาร์ทอัพที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศโดยไม่มีการปรับลด เป็นต้น มูลค่าธุรกิจที่สูงเกินจริงนั้น อาจจะส่งผลเสียในภายหลัง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่สตาร์ทอัพไม่สามารถ สร้างอัตราการเติบโตที่จะสนับสนุนการระดมทุนรอบใหม่ ด้วยมูลค่าธุรกิจที่สูงขึ้น ซึ่งหมายถึงการระดมทุนในรอบต่อไปด้วยมูลค่าธุรกิจที่ลดลง (Down Round) จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ก่อตั้ง และนักลงทุนในรอบก่อนหน้านี้ลดลงอย่างมาก จนอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งต่างๆ ที่อาจจะเกิดขี้นได้ เช่น นักลงทุนใช้สิทธิขัดขวางการระดมทุนรอบต่อไป เป็นต้น 



อย่างไรก็ตามวิทยากรย้ำว่า การลดสัดส่วนการถือหุ้นแบบปกติ (Normal Dilution) เป็นเรื่องปกติของกระบวนการระดมทุนและเป็นสิ่งที่นักลงทุนสนับสนุน เพราะนั่นหมายความว่าการขยายธุรกิจเป็นไปตามแผนที่วางไว้และสามารถระดมทุนได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเทคนิคการลดผลกระทบของการลดสัดส่วนการถือหุ้นมากเกินไปคือ การระดมทุนด้วยมูลค่าการประเมินธุรกิจที่สูงขึ้นในทุกๆ รอบ ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้การประเมินมูลค่าธุรกิจ เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจ อย่างลึกซึ้ง ทั้งในการวางกลยุทธ์การเจรจา รวมถึงการวางแผนการระดมทุนด้วยมูลค่าที่เหมาะสมและไม่สูงเกินความเป็นจริง



4. ความน่าเชื่อถือของการประมาณการ สมมุติฐานต่างๆ ที่ นักลงทุนให้ความสำคัญ รวมถึงแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่ควรนำมาใช้ในการประเมิน Exit Value 



ผู้เข้าร่วมงานสัมมนา ตั้งคำถามในหลายแง่มุม โดยเฉพาะประเด็นด้านความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือของข้อมูลประมาณการต่างๆ ของสตาร์ทอัพ รวมถึงแหล่งข้อมูลที่เหมาะสม เพื่อประกอบการประเมิน ซึ่งคุณ Douglas ฝากมุมมองไว้ดังนี้



การประเมินมูลค่าทางธุรกิจ หรือการประมาณการต่างๆ ในกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการประมาณการรายได้ หรือการประเมินมูลค่าการขายธุรกิจนั้น ขึ้นอยู่กับสมมุติฐานที่ใช้ แหล่งข้อมูลและวิธีการจัดทำแบบจำลองทางการเงินเพื่อประเมินมูลค่าดังกล่าว ซึ่งหากพิจารณาจากมุมมองความถูกต้องของการประมาณการงบการเงินนั้นๆ คุณ  Douglas กล่าวว่า ไม่มีทางที่จะถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นเนื่องจากเรากำลังคาดการณ์อนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครบนโลกนี้เคยทำได้ถูกต้อง แม้แต่ในกรณีของบริษัทจดทะเบียนเองก็ตาม  หากเปรียบเทียบการประมาณการกับผลประกอบการจริงของสตาร์ทอัพ เรามักพบว่าสตาร์ทอัพร้อยละ 20 จะสามารถสร้างอัตราเติบโตได้เกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ ในขณะที่กรณีอื่นๆ คือการพลาดเป้าเพียงเล็กน้อย และกรณีที่มักพบบ่อย คือไม่เข้าเป้าเลยและไปคนละทิศคนละทาง ดังนั้นนักลงทุนไม่ควรตัดสินใจร่วมทุนบนพื้นฐานความถูกต้องของการประมาณการเป็นหลัก แต่ควรใช้การประมาณภายใต้สถานการณ์จำลองต่างๆ  ด้วยสมมุติฐานที่เหมาะสม และมีแบบจำลองทางการเงินที่ค่อนข้างละเอียด เพื่อแสดงความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ หรือแสดงศักยภาพของธุรกิจนั้นๆ และใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินใจ ซึ่งนักลงทุนจะสามารถเชื่อถือข้อมูลของสตาร์ทอัพได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความถูกต้องของการประมาณการ แต่ขึ้นอยู่กับความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างนักลงทุนและผู้ประกอบการซึ่งเป็นหัวใจสำคัญอันดับต้นๆ ในการร่วมทุน



การค้นหาข้อมูลต่างๆ เพื่อประมาณการมูลค่าสตาร์ทอัพด้วยวิธี VC เช่น  Exit Value หรือ Revenue Multiples  นั้นมีข้อจำกัดด้านข้อมูลสนับสนุน ซึ่งอาจจะไม่ได้มีการเผยแพร่ในวงกว้าง โดยส่วนใหญ่ นักลงทุนหรือนักวิเคราะห์มักจะหาข้อมูลในหลายรูปแบบ การซื้อบทวิเคราะห์ต่างๆ การสอบถามข้อมูลจากสตาร์ทอัพ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียง รวมถึงการใช้ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้การอ้างอิงข้อมูลควรอ้างอิงจากประเทศที่สตาร์ทอัพกำลังประกอบธุรกิจอยู่ หากมีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากต่างประเทศ  ผู้ประกอบการควรปรับข้อมูลเพื่อความเหมาะสมกับบริบทของประเทศนั้น เช่นการนำมูลค่า M&A ของสตาร์ทอัพในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า ค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควรปรับลดมูลค่านั้นลงมา เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับบริษัทในประเทศไทย เป็นต้น



สมมุติฐานที่นักลงทุนมักให้ความสำคัญในขั้นตอนการประมาณการทางการเงินประกอบด้วย




  • ขนาดของตลาด


  • อัตราการเติบโตของตลาด


  • อัตราการเติบโตของรายได้


  • อัตราการเติบโตของผลกำไร


  • Customer’s Acquisition Cost


  • Customer’s Life Time Value เป็นต้น



วิทยากร ทิ้งท้ายประเด็นนี้ไว้ว่า โดยส่วนตัวแล้วจะทำการประเมินมูลค่าธุรกิจด้วย วิธี VC เป็นหลัก และนำวิธี DCF กับวิธี Comparables มาใช้ประกอบเพื่อทบทวน แนวทางการคำนวณและความสอดคล้องกันของตัวเลขประกอบกันในการนำไปประยุกต์ใช้



5. การประยุกต์ใช้ วิธีประเมินมูลค่าด้วยวิธี VC ในธุรกิจรูปแบบต่างๆ เช่น ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น  บริษัทกึ่งสตาร์ทอัพ กึ่ง SMEs  บริษัทจดทะเบียนผ่าน mai หรือบริษัท Biotech*  ว่าสามารถนำมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ในการประเมินอย่างไร



วิธีการประเมินมูลค่าด้วยวิธี VC สามารถประยุกต์ใช้ได้กับสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น เนื่องจากในการประเมินนั้นเราสามารถเริ่มต้นได้ที่ มูลค่าการ Exit หารด้วยอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนของ VC ซึ่งสามารถใช้ประมาณค่าธุรกิจไม่ว่าจะอยู่ในระยะการดำเนินงานปีไหนก็ตาม ผู้เข้าร่วมเสวนาตั้งคำถามเพิ่มเติมว่าสามารถใช้ วิธี VC ในการประเมิน บริษัทกึ่งสตาร์ทอัพ กึ่ง SMEs ได้หรือไม่ หรือบริษัทที่จดทะเบียนผ่าน mai ซึ่งในประเด็นนี้ วิทยากรได้ขยายความเรื่องบริษัทกึ่งสตาร์ทอัพ กึ่ง SMEs ว่า ผู้ประกอบการควรเลือกเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพ หรือ SMEs เส้นทางการเป็นสตาร์ทอัพหมายถึงการทุ่มเทเวลาและเงินทุนเพื่อสร้างธุรกิจให้สามารถเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะสั้นและสามารถขายธุรกิจนั้นเพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ก่อตั้งและนักลงทุน ในขณะที่ SMEs นั้นสามารถเติบโตไปได้เรื่อยๆ และผู้ประกอบการสามารถใช้ผลกำไรจากธุรกิจเพื่อสนับสนุนครอบครัว ซึ่งแนวทางของ SMEs นั้นมักไม่ได้สร้างอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว และผู้ก่อตั้งอาจไม่ต้องการลดทอนสัดส่วนการถือหุ้นของตัวเองให้ใคร จึงไม่เหมาะในการระดมทุนจากนักลงทุน VC ดังนั้น วิธีการประเมินมูลค่าวิธี VC จึงไม่เหมาะสำหรับ บริษัทกึ่งสตาร์ทอัพ กึ่ง SMEs  ในกรณีของบริษัทจดทะเบียนผ่าน mai วิทยากรกล่าวว่า ในกรณีนี้ถือว่า บริษัทได้ผ่านกระบวนการ EXIT หรือการนำเสนอขายหุ้นสู่ตลาด mai ไปเรียบร้อยแล้ว การประเมินมูลค่าด้วยวิธี VC จึงไม่เหมาะสม สำหรับกรณีสุดท้ายคือการประยุกต์ใช้วิธี  VC สำหรับบริษัท Biotech ที่มีทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งในประเด็นนี้ มูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญานั้น รวมอยู่ในมูลค่า Exit ที่ใช้คำนวณในวิธี VC อยู่แล้ว ซึ่งสำหรับบริษัท Biotech โดยมากมักจะไม่มี กระแสเงินสดในระหว่างกระบวนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ วิธี DCF จึงอาจจะไม่เหมาะสม



6. การปรับอัตราผลตอบแทนคาดหวังตามรอบการระดมทุน และ ความสัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ย 



กล่าวโดยทั่วไปอัตราผลตอบแทนคาดหวังที่ใช้ในการประเมินมูลค่าธุรกิจ จะปรับลดลงตามรอบการระดมทุนที่เกิดขึ้น โดยในรอบ Seed Round นั้น อัตราผลตอบแทนคาดหวังอยู่ที่ระดับร้อยละ 80 - 100 สำหรับการะดมทุน Series A จะอยู่ที่ 60 - 80 และ ลดลงอยู่ในระดับ 40 - 60 ในการระดมทุน Series B และรอบต่อๆไป ด้วยเหตุที่ว่าการระดมทุนที่เกิดขึ้นในแต่ละรอบนั้นหมายถึง โอกาสการประสบความสำเร็จของสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้น (โอกาสการล้มเหลวลดลง) ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนคาดหวังลดลงตามความเสี่ยงที่ลดลงนั่นเอง ซึ่งอัตราผลตอบแทนคาดหวังของนักลงทุน VC ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน เนื่องจากต้นทุนของ VC ไม่ได้มีส่วนที่มาจากหนี้ จึงไม่ใช้อัตราพันธบัตรรัฐบาลมาคำนวณตามสูตร Weighted Average Cost of Capital (WACC)



7. แนวทางการพิจารณาการร่วมทุน และ อุตสาหกรรมที่ VC สนใจ



หลายๆ ท่านที่ได้มีโอกาสฟังบทสัมภาษณ์ของคุณ Douglas มาก่อนหน้านี้ จะทราบว่า เกณฑ์การพิจารณาการร่วมทุนที่คุณ Douglas มักพูดถึงเป็นอันดับแรกเสมอ คือ Team, Team, Team ซึ่งคุณ Douglas กล่าวว่าความสำเร็จและทุกๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสตาร์ทอัพนั้น ย้อนกลับมาที่ ทีมสตาร์ทอัพเป็นผู้ขับเคลื่อน ปัจจัยประการที่สองที่คุณ Douglas ให้ความสำคัญคือ นวัตกรรม ในส่วนคำถามที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่ VC สนใจ ทางวิทยากรกล่าวว่า กองทุน VC ทั่วๆ ไปมักให้ความสำคัญกับ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ เทคโนโลยี พลังงานทางเลือก และ Health Tech ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะสามารถสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลา 3-5 ปี นี้ รวมถึงอาจจะพิจารณาอุตสาหกรรมอาหารที่กำลังได้รับความสนใจในขณะนี้ ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเป็นธุรกิจที่นำเทคโนโลยีมาผสมผสานแทบทั้งสิ้น



8. Case ตัวอย่างการตัดสินใจที่ผิดพลาดจากการประเมินมูลค่า



วิทยากรกล่าวว่าแนวทางการลงทุนของคุณ Douglas เชื่อมั่นในการประเมินมูลค่าและการร่วมทุนในระดับที่เหมาะสม และไม่วิ่งตามข้อเสนอการร่วมทุนที่มีมูลค่าการประเมินสูงเกินไป แต่ก็มีกรณีที่ธุรกิจดังกล่าวสามารถ Exit ได้สำเร็จ ซึ่งวิทยากรกล่าวว่าเป็นเรื่องปกติ ที่การเจรจาการร่วมทุนที่ไม่เข้าตามหลักเกณฑ์ อาจจะมีข้อเสนอที่ดีที่หลุดมือไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม



9. จากสถานการณ์ โควิดในปี 2563 - 2564 ผลประกอบการของบริษัทปรับตัวลดลงอย่างมาก เราควรข้ามสองปีนี้ ในการประเมินรายได้หรือไม่ *



ผู้ประกอบการไม่ควรข้ามปีที่ผลประกอบการได้รับผลกระทบจาก การแพร่ระบาดของโควิด เนื่องจากสถานการณ์นี้ส่งผลกระทบในวงกว้าง และนักลงทุนยอมรับและเข้าใจผลกระทบที่เกิดขี้นในบางธุรกิจ



10. ผู้ประกอบการจะทราบได้อย่างไรว่าควร Exit ธุรกิจหรือยัง เมื่ออยู่ในระดับ Series C & D *



ผู้ประกอบการจะไม่สามารถรู้ได้แน่ชัดว่า เวลาที่เหมาะสมในการ Exit คือเมื่อไหร่ โดยทั่วไป โอกาสในการเสนอซื้อธุรกิจที่น่าสนใจมักจะมาในเวลาที่ธุรกิจกำลังดำเนินไปด้วยดี ความท้าทายที่ผู้ประกอบการควรพิจารณาคือ ควรทำธุรกิจต่อไป หรือ ควร Exit ตอนนี้เลย ซึ่งย่อมมีความเป็นไปได้ว่า หากธุรกิจกำลังไปได้สวย ก็อาจจะได้รับข้อเสนอที่ดีกว่านี้ในภายหลัง ดังนั้นผู้ประกอบการควรชั่งน้ำหนักทางเลือกทั้งสองทางว่าจะเลือกความคาดหวังในอนาคต หรือ จะเลือกข้อเสนอที่ได้รับมาแล้วในวันนี้ ไม่ว่าจะทางเลือกไหนก็ตาม ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถตัดสินใจได้ง่ายๆ เลย



ปิดท้ายบทความนี้ดัวยคำถามที่ว่า ผู้ประกอบการจะสามารถระดมทุนได้ง่ายๆ จากที่ไหน ที่ประเทศไทยหรือประเทศสิงคโปร์ ซึ่งในประเด็นนี้ คุณ Douglas ฝากไว้ว่า ไม่มีคำว่า “ง่าย” ในกระบวนการระดมทุน ไม่ว่าจะประเทศไหนก็ตาม ซึ่งการระดมทุนที่ประสบความสำเร็จนั้นล้วนต้อง มีองค์ประกอบทางธุรกิจที่ พร้อม ทีมที่ใช่ ความสัมพันธ์ระหว่างนักลงทุนและผู้ประกอบการที่สามารถไว้วางใจกันได้ในการร่วมทุน การเจรจาที่เหมาะสมลงตัวทั้งสองฝ่ายซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นง่ายๆ อย่างที่อาจจะได้อ่านในตำรา การเริ่มต้นการระดมทุนนั้นควรเริ่มจากประเทศที่ผู้ประกอบการมีธุรกิจที่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยมากมักจะเป็นประเทศต้นกำเนิดของตนเองเนื่องจากนักลงทุนในประเทศนั้นๆ ย่อมมีแนวโน้มสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศของตน



ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของเนื้อหาการถาม-ตอบ ในช่วงท้ายของงานสัมมนา ซึ่งสามารถอ่านสรุปเนื้อหาในช่วงบรรยายได้ จากบทความ ประเมินมูลค่าสตาร์ทอัพ ฉบับ VC (ตอนที่ 1)  รวมถึง สามารถรับชม VDO เนื้อหาย้อนหลังได้ที่ หลักสูตรออนไลน์ Secrets of VC Valuation Revealed



หรือสามารถติดตามหลักสูตรอื่นๆ ของ Webinar Series เจาะลึกประเด็นต่างๆ ในการระดมทุนสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นได้ที่ SET Webinar Series : Common Issue in Early Stage Fund Raising



หมายเหตุ * คำถามที่ไม่ได้ตอบระหว่างงานเสวนา





สรุปเนื้อหาโดย : ดร. ธนรรภรณ์ เศรษฐ์จินดา (อ.แนน)


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ