ธุรกิจแบบไหน ที่ใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ดี

ธุรกิจแบบไหน ที่ใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ดี

24 พฤษภาคม 2564บทความ1,758

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • หลายคนอาจจะมีคำถามว่าธุรกิจแบบไหนที่เหมาะกับการใช้ตลาดทุนเพื่อการเติบโต และจะต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถนำบริษัทเข้าสู่ตลาดทุนได้ คำตอบของคำถามแบบนี้คงจะชี้เฉพาะลงไปไม่ได้ว่าธุรกิจแบบใดหรือธุรกิจอะไรที่เหมาะสม ในบทความนี้จะขอนำเสนอหลักการเบื้องต้นในการพิจารณาเพื่อความเข้าใจในเวลาไม่นานนัก



เวลาในการอ่าน 2 นาที









การเติบโตของธุรกิจสามารถใช้เงินทุนได้หลายรูปแบบ ตลาดทุนถือเป็นช่องทางหนึ่งที่มีความน่าสนใจ แต่ขณะเดียวกันก็มีกฎเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติให้ได้ดามที่กำหนด แล้วธุรกิจแบบไหนล่ะ ที่จะใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ดี



กรอบที่ใช้ในการพิจารณาว่าธุรกิจนั้นเหมาะที่จะใช้ตลาดทุนในการเติบโตก็คือ




  1. เป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมาย เป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และมีระบบการจัดการที่ดี


  2. เป็นธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรและมีแนวโน้มการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนมองหาและพร้อมที่จะเข้าร่วมลงทุนด้วย



ก่อนที่จะใช้ตลาดทุนในการเติบโตนั้น ธุรกิจอาจจะอยู่ในรูปแบบเจ้าของคนเดียว หรือเป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งถ้าเงินทุนของตนเองที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการขยายกิจการแล้ว ก็จะใช้การพึ่งพาการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน หากมีภาระหนี้สินสูง จะส่งผลให้สัดส่วนของหนี้ต่อทุนอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะก่อให้เกิดภาระผูกพันตามมาคือ ดอกเบี้ย หากเมื่อใดที่เกิดวิกฤติการณ์ที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น จะส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจหรือบริษัท และอาจเกิดปัญหาสภาพคล่องตามมา ผลกระทบทางลบจะเกิดขึ้นเร็ว และจะฟื้นตัวได้ช้า ถึงแม้จะเป็นบริษัทที่ดี มีผลการดำเนินงานที่ดี ซึ่งการฟื้นตัวได้ช้านี้ อาจทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสหรือสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจไป



การระดมทุนถือเป็นการใช้เครื่องมือทางการเงินคือ ตราสารทุน ในการปรับโครงสร้างทางการเงินให้มีความเหมาะสม คือปรับสัดส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมนั่นเอง เมื่อเกิดภาวะวิกฤติ ธุรกิจหรือบริษัทเหล่านี้จะสามารถปรับตัวได้ดีกว่า เป็นภูมิคุ้มกันให้บริษัทสามารถดำรงธุรกิจได้อย่างยั่งยืน



บริษัทที่ต้องการระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น จะต้อง




  1. ยื่นแบบคำขออนุญาตกับสำนักงานก.ล.ต. โดยยื่นร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงานก.ล.ต.)


  2. นำหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่ได้รับการอนุญาตจากสำนักงานก.ล.ต. นั้นมาเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO: Initial Public Offering) และ


  3. ขออนุญาตนำหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์



ที่ปรึกษาทางการเงินเป็นผู้มีบทบาทในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับ กฎเกณฑ์ กฎระเบียบ ที่บริษัทต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้มีคุณสมบัติเป็นไปตามที่กำหนด  โดยมีประเด็นสำคัญ 4 ส่วนคือ




  1. ต้องมีรายงานทางการเงินที่เป็นมาตรฐานงบการเงินสาธารณะ (Publicly Accountable Entities หรือ PAEs)


  2. ต้องมีระบบควบคุมภายในที่เพียงพอ ที่จะทำให้เชื่อได้ว่า การบริหารจัดการมีระบบ Check and Balance มีกฎเกณฑ์ นโยบาย วิธีปฏิบัติ ที่มีรูปแบบเป็นมาตรฐาน


  3. ต้องมีโครงสร้างการถือหุ้น โครงสร้างการจัดการธุรกิจ ที่จะทำให้เชื่อได้ว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่มีโอกาสในการใช้บริษัทหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง


  4. ธุรกิจของบริษัทต้องมีความมั่นคง น่าเชื่อถือ มีแนวโน้มการเติบโตที่ยั่งยืน



การเตรียมความพร้อมใน 4 ประเด็นนี้ ส่วนมากใช้ระยะ 2-3 ปี การใช้เวลามากหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละบริษัท





Credit : คลิปความรู้ IPO Roadmap EP2: The Process of Going Public โดย คุณสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด



สรุปและเรียบเรียงโดย : ปิยารมย์ ปิยะไทยเสรี



ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ประกอบการ



ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

คุณอาจจะสนใจ