ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 7)

ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 7)

23 มิถุนายน 2564บทความ3,470

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 7) : เทรนด์ใหม่ๆ เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในปัจจุบัน และพลังงานหมุนเวียนกับเป้าหมายการลดโลกร้อนของไทย



เวลาในการอ่าน 5 นาที









บทความชุด “ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน”



ตอนที่ 1 : ทำความเข้าใจกับก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ ภาวะโลกร้อนและผลกระทบ ตลอดจนข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่จะมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ



ตอนที่ 2 : ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลกจากสถาวะโลกร้อน รวมทั้งสรุปสถานการณ์ในมิติสังคมโลกที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ที่จะช่วย “ชี้เป็นชี้ตาย” ในการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนนี้



ตอนที่ 3 : แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย รวมถึงมาตรการในด้านต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งภาคธุรกิจควรได้รับทราบจะได้สามารถวางแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องไปได้อย่างเหมาะสม



ตอนที่ 4 : บทสรุปของการใช้พลังงานฟอสซิลที่ทำให้โลกร้อน และในมิติของภาคธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานฟอสซิล จะสามารถมีส่วนร่วมในการลดใช้พลังงานฟอสซิล เพื่อความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งจะย้อนกลับมาส่งผลดีต่อมูลค่าและความยั่งยืนขององค์กรในอนาคต



ตอนที่ 5 : การตระหนักถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เริ่มได้โดยการเก็บข้อมูลการใช้พลังงานของธุรกิจ เพื่อนำไปวิเคราะห์วางแผนในการลดผลกระทบดังกล่าว ถือเป็นการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง และส่งผลดีต่อการเติบโตและความยั่งยืนขององค์กรในอนาคต



ตอนที่ 6 : รู้จักกับพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ประเภทต่างๆ ที่ธุรกิจควรหันมาให้ความสำคัญ และสามารถเลือกนำมาใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิลเพื่อลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมได้



ตอนที่ 7 : เทรนด์ใหม่ๆ เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในปัจจุบัน และพลังงานหมุนเวียนกับเป้าหมายการลดโลกร้อนของไทย



ตอนที่ 8 : สรุปเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ของกระทรวงพลังงาน



ตอนที่ 9 : ศักยภาพวัตถุดิบพลังงานทดแทนในประเทศ ทั้งในส่วนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น ชีวมวล ขยะ ก๊าซชีวภาพ ไบโอดีเซล ไบโอเอทานอล รวมถึงพลังงานทดแทนในรูปแบบใหม่ๆ อย่างไม้โตเร็ว



ตอนที่ 10 : แนวทางการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมต่อประเทศชาติในหลายมิติ



ตอนที่ 11 : รู้จักกับ “คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)” ถึงความหมายและความสำคัญ ตลอดจนการนำมาสู่ ตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งกำลังพัฒนาในประเทศไทย และจะเป็นกลไกสำคัญที่สามารถช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้



ตอนที่ 12 :  เข้าใจประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ “คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)  รวมถึงรู้จักกับวิธีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในลักษณะของ Carbon Emission Trading Schemes (ETS) ซึ่งเป็นที่นิยมกันในยุโรปและอีกหลายประเทศ



ตอนที่ 13 :  รู้จักกับกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทั้งในตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Market / Compliance Market / Regulated Market)  และในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Market)



ตอนที่ 14 : รู้จักกับ Cap and Trade กลไกที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Market) รวมถึงรู้จักกับกฎหมายที่เกี่ยวกับ Cap and Trade ในสหรัฐอเมริกา



ตอนที่ 15 :  เงื่อนไขสำคัญของการเข้าซื้อขาย Carbon Credits ระหว่างประเทศ และพัฒนาการด้าน Cap and Trade ในประเทศออสเตรเลียและแคนนาดา



ตอนที่ 16 : พัฒนาการเกี่ยวกับ Carbon Emission และ Carbon Credits ในประเทศจีน นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น รวมถึงในกลุ่มสหภาพยุโรป



หลังจากที่ได้นำเสนอความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพลังงานทดแทน หรือพลังงานหมุนเวียน ประเภทต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าพลังงานจากฟอสซิล ซึ่งมีผลต่อภาวะโลกร้อนเป็นอย่างมากในบทความตอนที่แล้ว ในตอนนี้จะนำเสนอเทรนด์ใหม่ๆ เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในปัจจุบัน และพลังงานหมุนเวียนกับเป้าหมายการลดโลกร้อนของไทย



1. เทรนด์ใหม่ในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน



ข้อมูลจาก EGAT Biznews ใน www.egat.co.th เมื่อ 23 มิถุนายน 2563 ได้สรุปความก้าวหน้าและแนวโน้มใหม่ในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนไว้ 5 แนวทางดังนี้



การก้าวสู่ตลาดพลังงานหมุนเวียนแบบ Real Time



เนื่องจากตลาดพลังงานหมุนเวียนกำลังพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ระบบการจัดการและการซื้อขายจึงต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย จึงเกิด Trend ของตลาดพลังงานหมุนเวียนแบบ Real Time ซึ่งจะกลายเป็นทิศทางหลักในอนาคต รายงานด้านพลังงานหมุนเวียน ปี ค.ศ. 2019 ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA: International Energy Agency) คาดการณ์ว่าตลาดพลังงานหมุนเวียนจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วอีก 50% ภายในปี ค.ศ. 2024 การเปลี่ยนขั้วในเวลาอันสั้นจากพลังงานแบบดั้งเดิมไปสู่พลังงานแบบใหม่ที่ยังขาดความสม่ำเสมอแน่นอน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะตลาดพลังงานต้องการพัฒนาระบบตลาดพลังงานระหว่างวัน (Intraday Market) ให้อยู่ในลักษณะที่ใกล้เคียง สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในเวลาจริง (Real Time) มากที่สุด จะเห็นว่ามีหลายตลาดที่นำข้อกำหนดระยะเวลาในการตกลงชำระค่าพลังงานระยะสั้น (Short Energy Settlement Period) มาใช้มากขึ้น



ความไม่แน่นอนของผลผลิตคือจุดอ่อนสำคัญของพลังงานหมุนเวียน เพราะสภาวะธรรมชาติที่อาจควบคุมไม่ได้ในบางครั้งผู้ประกอบการจึงต้องหาวิธีรับมือ เช่นในวันที่มีแสงแดดน้อย โรงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ต้องหาทางชดเชยพลังงานที่ผลิตได้ไม่พอ โดยใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อให้มีการส่งพลังงานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ปัจจัยในทำนองนี้นำไปสู่ความผันผวนด้านราคาพลังงานระหว่างวัน ด้วยเหตุนี้ประเทศออสเตรเลียจึงมีนโยบายสร้างตลาดแบบ Real Time โดยเปลี่ยนระยะเวลากำหนดราคาซื้อขายทันทีของพลังงานไฟฟ้า (Electricity Spot Prices) จากเดิมที่ตั้งราคาทุก 30 นาที เป็นทุก 5 นาที โดยจะมีผลในปี 2021 ออสเตรเลียเชื่อว่าข้อบังคับนี้จะช่วยให้พลังงานหมุนเวียนมีราคาที่เหมาะสมไม่แพงเกินไป และทำกำไรได้มากขึ้น



การค้าผ่านระบบ Algorithm และโปรแกรมต่างๆ



เมื่อตลาดพลังงานก้าวไปสู่ระบบตลาดแบบ Real Time สิ่งที่ตามมาก็คือ ข้อมูลจำนวนมหาศาลหรือ Big Data และการใช้ระบบ Algorithm เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและนำมาใช้ในการตัดสินใจซื้อขายจากระบบเดิมที่มีข้อมูลการเพิ่มต้นทุน (Increment) เพียง 24 รอบต่อวัน และการกำหนดราคา (Cost Settlement) เป็นรายชั่วโมง เมื่อตลาดเข้าสู่ระบบ Real Time ข้อมูลจะเพิ่มขึ้นจนเมื่อถึงที่สุดแล้ว ก็จะกลายเป็นการเพิ่มต้นทุน 288 รอบต่อวันและกำหนดราคาทุก 5 นาที (ปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้น 1,100%)



ระบบ Algorithm จะช่วยรับมือ ในสถานการณ์เช่นนี้และช่วยให้ผู้ค้าด้านพลังงานทำกำไรได้ดีขึ้นรวมถึงช่วยลดต้นทุนทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) ที่เกิดขึ้นแบบ 24 ชั่วโมงต่อวัน ตลาดพลังงานในยุโรปกำลังเป็นผู้นำในการประยุกต์ใช้ระบบใหม่ๆ เหล่านี้ บรรดาผู้ค้าพลังงานจะตั้งค่าตัวแปรต่างๆ เช่น ฐานราคาต่ำสุด และเพดานราคาสูงสุดในการซื้อขาย แล้วใช้ระบบคิดคำนวณตามที่ตั้งโปรแกรมไว้ออกมาเป็นกลยุทธ์การขาย การตั้งออร์เดอร์การซื้อขายเปลี่ยนถ่ายพลังงาน เป็นต้น แล้วส่งผ่านข้อมูลเหล่านั้นด้วย Software ในกลุ่ม ETRM (Energy Trade and Risk Management) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่คำนวณและบริหารจัดการความเสี่ยงในการซื้อขายพลังงานไปยังผู้เกี่ยวข้อง



การขยายตัวของการค้าเสรีในตลาดพลังงานโลก



เมื่อแนวโน้มพลังงานเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วทั้งภูมิภาคทำให้เป้าหมายของตลาดเป็นใปในทิศทางเดียวกัน กระทั่งประเทศที่เคยแข่งขืนก็ไม่สามารถต้านกระแสแห่งอนาคตได้ และจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดค้าพลังงานระหว่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นในประเทศญี่ปุ่นหลังจากเหตุสลดใจที่เกิดขึ้นกับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะเมื่อ 9 ปีก่อน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนด้านพลังงาน ญี่ปุ่นต้องกลับไปพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงเริ่มคิดถึงตลาดการค้าพลังงานแบบเสรี ซึ่งเปิดโอกาสให้เอกชนรายย่อยมาร่วมลงทุน และเริ่มกระบวนการผลักดันอย่างจริงจังตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 นอกจากนี้ประเทศต่างๆ เช่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ใต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์และไทย ก็ล้วนแต่ให้ความสนใจตลาดพลังงานเสรีเช่นกัน โดยกำหนดให้มีนโยบายส่งเสริมให้เอกชนลงทุนด้านพลังงานรูปแบบใหม่ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เพื่อรองรับความต้องการพลังงานที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า



การเติบโตของ Prosumer แห่งตลาดพลังงาน



ปัจจุบันจำนวนของ “Prosumer” หรือที่เราเรียกว่าเป็น “ผู้บริโภคมืออาชีพ” ในตลาดต่างๆ ทั่วโลกนั้นเพิ่มขึ้นทุกวัน ผู้บริโภคประเภทนี้มีความรู้ในสินค้าที่ตัวเองซื้อเป็นอย่างดี หลายครั้งที่พวกเขามีบทบาทในการผลิตสินค้า หรือกลายเป็นผู้ร่วมผลิตในตลาดพลังงานก็ไม่ต่างกัน เมื่ออุปกรณ์ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเริ่มมีราคาถูกลง รวมถึงมีขนาดเล็กลง เช่นแผงโซลาร์เซลล์ ผู้บริโภครายย่อยที่มีกำลังทรัพย์มากพอก็สนใจที่จะมีแหล่งผลิตพลังงานขนาดเล็กเป็นของตนเอง ในบางประเทศมีแนวคิดสนับสนุนให้ตามบ้านเรือนอาคารหลายแห่งติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ จุดประสงค์แรกเริ่มอาจเป็นการทดลองผลิตไฟฟ้าเองเพื่อลดค่าใช้จ่าย ต่อมาก็มีผลพลอยได้เมื่อผู้บริโภครายย่อยเหล่านี้สามารถผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการและขายคืนให้ผู้ค้าหลักได้



ความก้าวหน้าในการจัดเก็บและสำรองพลังงาน



หนึ่งในปัญหาใหญ่ของโครงการพลังงานหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็นโครงการเล็กหรือใหญ่ก็คือปัญหาเรื่องราคาและประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ หรืออุปกรณ์เก็บสำรองพลังงาน นักวิจัยพยายามคิดค้นว่าจะทำอย่างไรให้แบตเตอรี่เก็บพลังงานเหล่านี้มีขนาดเล็ก แต่สามารถเก็บบรรจุพลังงานได้จำนวนมากโดยที่ราคาไม่สูงเกินไป เมื่อใดที่แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ตลาดพลังงานหมุนเวียนก็จะยิ่งเติบโต เพราะอุปกรณ์สำรองพลังงานเหล่านี้จะช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้ระบบ Grid ไฟฟ้า หรือระบบเครือข่ายการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีของแบตเตอรี่สามารถสำรองไฟฟ้าให้ระบบ Grid ขนาดเล็กระดับ Micro โดยเป็นแหล่งไฟฟ้าสำรองในช่วง Peak หรือช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด และเป็นแหล่งเก็บพลังงานส่วนเกินในช่วงที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่ำ



2. พลังงานหมุนเวียนกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย



ข้อมูลจาก www.bangkokbiznews.com ในบทความเรื่อง “พลังงานทดแทนอนาคตไทยสู่เป้าลดก๊าซเรือนกระจก เมื่อ 11 มิถุนายน 2564 สรุปไว้ว่า ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ได้กำหนดเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก “พลังงานทดแทน (หรือพลังงานหมุนเวียน)” ให้ได้ร้อยละ 37 ภายในปี พ.ศ. 2580 โดยจะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงพลังงานสะอาดเหล่านี้ ช่วยลดมลพิษทางอากาศ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น โดยต้องทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนที่สอดประสานกับทิศทางนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของรัฐบาล และนโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีสร่วมกันอย่งเป็นรูปธรรมอีกด้วย



กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียน



ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ) ได้จัดตั้ง “กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนให้มีการบริการไฟฟ้าไปยังท้องถิ่นต่างๆ อย่างทั่วถึง กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น พัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย



กองทุนแสงอาทิตย์ Thailand Solar Fund



ข้อมูลเรื่อง “พลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย” ใน www.greenpeace.org ชี้ให้เห็นความก้าวหน้าในเรื่องนี้ว่า กองทุนแสงอาทิตย์นี้ เป็นการระดมทุนครั้งใหญ่ของเครือข่ายภาคประชาชนในการสร้าง Solar Rooftop ให้กับโรงพยาบาล การรวมตัวครั้งนี้เกิดขึ้นในนาม “เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์” โดยจะติดตั้ง Solar Rooftop ใหกับโรงพยาบาลรัฐ 7 แห่งที่เป็นโรงพยาบาลนำร่อง ได้แก่ โรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก โรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลศรีอุดม จ.อุบลราชธานี โรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น โรงพาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี โรงพยาบาลสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และโรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร โครงการมีเป้าหมายเพื่อนำเงินที่ลดค่าไฟฟ้าไปใช้ในการรักษาชีวิตผู้ป่วยและเพิ่มขีดความสามารถในการบริการประชาชนอย่างเต็มที่ต่อไป และแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมถึงศักยภาพของการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้มีข้อมูลว่า Solar Rooftop ขนาด 30 เมมกะวัตต์ในโรงพยาบาล 1 แห่งนั้นจะช่วยลดค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลได้ถึง 2 แสนบาทต่อปี โครงการดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์ ไม่เพียงลดค่าใช้จ่ายด้านการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบเดิมเท่านั้น แต่การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ยังช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย หากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศได้เข้าร่วมโครงการรวมทั้งขยายผลไปยังองค์กรต่างๆ ที่ใช้ไฟฟ้า ได้เข้าร่วมก็จะเป็นพลังที่มากขึ้นที่การช่วยลดลภาวะโลกร้อนลงได้





เขียนโดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®    



รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ