ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 8)

ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 8)

9 กรกฎาคม 2564บทความ3,353

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 8) : สรุปเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจที่อาจใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนและตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกต่อไป



เวลาในการอ่าน 5 นาที









บทความชุด “ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน”



ตอนที่ 1 : ทำความเข้าใจกับก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ ภาวะโลกร้อนและผลกระทบ ตลอดจนข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่จะมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ



ตอนที่ 2 : ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลกจากสถาวะโลกร้อน รวมทั้งสรุปสถานการณ์ในมิติสังคมโลกที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ที่จะช่วย “ชี้เป็นชี้ตาย” ในการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนนี้



ตอนที่ 3 : แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย รวมถึงมาตรการในด้านต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งภาคธุรกิจควรได้รับทราบจะได้สามารถวางแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องไปได้อย่างเหมาะสม



ตอนที่ 4 : บทสรุปของการใช้พลังงานฟอสซิลที่ทำให้โลกร้อน และในมิติของภาคธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานฟอสซิล จะสามารถมีส่วนร่วมในการลดใช้พลังงานฟอสซิล เพื่อความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งจะย้อนกลับมาส่งผลดีต่อมูลค่าและความยั่งยืนขององค์กรในอนาคต



ตอนที่ 5 : การตระหนักถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เริ่มได้โดยการเก็บข้อมูลการใช้พลังงานของธุรกิจ เพื่อนำไปวิเคราะห์วางแผนในการลดผลกระทบดังกล่าว ถือเป็นการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง และส่งผลดีต่อการเติบโตและความยั่งยืนขององค์กรในอนาคต



ตอนที่ 6 : รู้จักกับพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ประเภทต่างๆ ที่ธุรกิจควรหันมาให้ความสำคัญ และสามารถเลือกนำมาใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิลเพื่อลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมได้



ตอนที่ 7 : เทรนด์ใหม่ๆ เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในปัจจุบัน และพลังงานหมุนเวียนกับเป้าหมายการลดโลกร้อนของไทย



ตอนที่ 8 : สรุปเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ของกระทรวงพลังงาน



ตอนที่ 9 : ศักยภาพวัตถุดิบพลังงานทดแทนในประเทศ ทั้งในส่วนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น ชีวมวล ขยะ ก๊าซชีวภาพ ไบโอดีเซล ไบโอเอทานอล รวมถึงพลังงานทดแทนในรูปแบบใหม่ๆ อย่างไม้โตเร็ว



ตอนที่ 10 : แนวทางการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมต่อประเทศชาติในหลายมิติ



ตอนที่ 11 : รู้จักกับ “คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)” ถึงความหมายและความสำคัญ ตลอดจนการนำมาสู่ ตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งกำลังพัฒนาในประเทศไทย และจะเป็นกลไกสำคัญที่สามารถช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้



ตอนที่ 12 :  เข้าใจประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ “คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)  รวมถึงรู้จักกับวิธีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในลักษณะของ Carbon Emission Trading Schemes (ETS) ซึ่งเป็นที่นิยมกันในยุโรปและอีกหลายประเทศ



ตอนที่ 13 :  รู้จักกับกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทั้งในตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Market / Compliance Market / Regulated Market)  และในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Market)



ตอนที่ 14 : รู้จักกับ Cap and Trade กลไกที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Market) รวมถึงรู้จักกับกฎหมายที่เกี่ยวกับ Cap and Trade ในสหรัฐอเมริกา



ตอนที่ 15 :  เงื่อนไขสำคัญของการเข้าซื้อขาย Carbon Credits ระหว่างประเทศ และพัฒนาการด้าน Cap and Trade ในประเทศออสเตรเลียและแคนนาดา



ตอนที่ 16 : พัฒนาการเกี่ยวกับ Carbon Emission และ Carbon Credits ในประเทศจีน นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น รวมถึงในกลุ่มสหภาพยุโรป



บทความตอนนี้จะสรุปเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องต่างๆ รวมทั้งภาคธุรกิจที่จะได้เห็นทิศทางการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเหล่านี้ของไทยและอาจใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนและตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกต่อไป



1. ข้อมูลพื้นฐาน



ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกสรุปไว้ในตารางที่ 1 ดังต่อไปนี้





จากข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นว่าการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยตลอด ในช่วงปี 2559-2561 ทั้งในส่วนการสร้างพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อน โดยแหล่งของพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม และชีวมวลมีบทบาทมากที่สุด อย่างไรก็ดียังมีโอกาสที่จะเพิ่มกำลังการสร้างพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกได้มากขึ้นอีกในอนาตคเนื่องจากข้อมูลสัดส่วนพลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ณ ปี 2561 มีอัตราส่วนเพียง 15.48% เท่านั้น



2. นโยบายที่เกี่ยวข้อง



ในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก มีนโยบายที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้



2.1 นโยบายและแผนงานที่มีผลกระทบต่อการจัดหาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก




  • ยุทธศาสตร์มันสำปะหลัง พ.ศ. 2558-2569


  • ยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2558-2569


  • ยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ พ.ศ. 2560-2579


  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศไทย พ.ศ. 2560


  • กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอและพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฎิรูปที่ดิน พ.ศ. 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์



2.2 นโยบายและแผนงานที่มีผลกระทบต่อการส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก




  • นโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก


  • แผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579


  • พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562


  • ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระยะ 20 ปี ( พ.ศ. 2561-2580)


  • นโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า



3. สาระสำคัญของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580



3.1 เป้าหมายและตัวชี้วัด



แผนพัฒนาฯ นี้กำหนดเป้าหมายไว้ดังนี้



“เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในรูปของพลังงานไฟฟ้า ความร้อนและเชื้อเพลิงชีวภาพ ต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายที่ร้อยละ 30 ในปี 2580”



ตัวชี้วัดตามเป้าหมาย



“การใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายร้อยละ 30 ในปี 2580”



ทั้งนี้มีการพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ณ ปี 2580 อยู่ที่ระดับ 126,867 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) ซึ่งจะเป็นฐานเพื่อคำนวณเป้าหมาย (30%) สำหรับให้เป็นการจัดหาและใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก



3.2 การประเมินศักยภาพและแนวทางการจัดหาเชื้อเพลิง



พลังงานแสงอาทิตย์



ในการวัดปริมาณแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบบนพื้นที่หนึ่งๆ ในเวลาหนึ่งวันจะวัดเป็นหน่วยที่เรียกว่า “เมกะจูลต่อตารางเมตร-วัน (MJ/m²-day)” ซึ่งจะสะท้อนค่าความเข้ารังสีอาทิตย์เฉลี่ยตลอดทั้งปี จากข้อมูลปี 2560 พบว่าประเทศไทยมีค่าความเข้มรังสีอาทิตย์เฉลี่ยเท่ากับ 17.6 MJ/m²-day ซึ่งถือว่ามีค่าสูง สามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นพลังงานได้ทุกพื้นที่ของประเทศทั้งในการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน



พลังงานลม



ข้อมูลสรุปได้ว่า ประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตรจึงมีความเร็วลมค่อนข้างต่ำ ดังนั้นการใช้พลังงานลมจะต้องคัดเลือกหรือพัฒนาเทคโนโลยีกังหันลมที่เหมาะสมกับสภาพของลมในประเทศไทย เช่นบริเวณพื้นที่แคบๆ ที่เกิดจากภูมิประเทศเฉพาะที่ เช่น เนินเขา ช่องเขา หรือยอดเขา ซึ่งจะช่วยเร่งให้ความเร็วลมสูงขึ้น ในพื้นที่ภาคใต้มีความเร็วลมค่อนข้างสูงกว่าภาคอื่น โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่างและด้านตะวันตกของภาคใต้ตอนบน เนื่องจาก ได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลอันดามันและลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากอ่าวไทยและมีสิ่งกีดขวางทางลมน้อย



สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและด้านตะวันออกของภาคที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นช่องเขาจะมีความเร็วลมเฉลี่ยที่ดี ส่วนภาคเหนือพื้นที่จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมค่อนข้างน้อยและภาคกลางเนื่องจากเป็นที่ราบลุ่ม ลมค่อนข้างสงบตลอดทั้งปี ดังนั้นการพัฒนาพลังงานลมจึงต้องดูพื้นที่ที่มีศักยภาพของพลังงานลมด้วย



พลังงานน้ำ



จนถึงปี 2561  ไทยมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดใหญ่ทั้งสิ้น 2,920 เมกะวัตต์  แม้ว่าปัจจุบันจะไม่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ขึ้นมาได้อีก ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ แต่ยังคงมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กอยู่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าเดิมด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ และพัฒนาโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กระหว่างปี 2561-2580 ดังนี้





พลังงานความร้อนใต้ภิภพ



แหล่งน้ำพุร้อนจากความร้อนใต้ภิภพของประเทศไทยมีจำนวน 120 แหล่งมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 43,000 กิโลวัตต์ กว่าร้อยละ 90 ของศักยภาพทั้งประเทศกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำพุร้อนจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของอุณหภูมิ อัตราการไหล และคุณสมบัติทางเคมีของน้ำพุร้อนในแต่ละแหล่ง



จากการประเมินศักยภาพของแหล่งพลังงานทดแทนที่มาจากแหล่งธรรมชาติต่างๆ รวมถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและลักษณะของภูมิประเทศ ภาคธุรกิจสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ประกอบเพื่อวางแผนพัฒนาพลังงานทดแทนเหล่านี้นำมาผลิตเป็นพลังงานทางเลือกใว้ใช้เองได้  ซึ่งก็จะถือว่าเป็นการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงานอีกด้วย





เขียนโดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®   



รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ