เหตุผลสำคัญที่ผู้ประกอบการควรเข้าใจการประเมินมูลค่าธุรกิจ

เหตุผลสำคัญที่ผู้ประกอบการควรเข้าใจการประเมินมูลค่าธุรกิจ

16 กรกฎาคม 2564บทความ5,663

HIGHLIGHTS :


HIGHLIGHTS :




  • สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากจะมีกลยุทธ์ Product Market Fit ที่ดีแล้ว มักจะต้องมีกลยุทธ์การเงินการระดมทุน (Funding Strategy) ที่ดีด้วย จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม การทำความเข้าใจวิธีการสร้างแบบจำลองทางการเงิน จะช่วยให้ผู้ประกอบการเห็นภาพความเชื่อมโยงระหว่างแผนธุรกิจ ฐานะทางการเงินของบริษัท เข้าใจที่มาที่ไปของมูลค่าประเมินทางธุรกิจ (Valuation) และเป็นพื้นฐานที่สำคัญของกลยุทธ์การระดมทุน


  • บทความนี้นำเสนอภาพรวมหลักสูตรอบรม Startup Valuation Workshop หลักสูตรอบรมออนไลน์ 4 ครั้ง ซึ่งเป็นส่วนหนื่งของโครงการอบรม Common issues in early stage fund raising เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีความเข้าใจกระบวนการร่วมทุนและความคาดหวังของนักลงทุน VC ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยห้องเรียนผู้ประกอบการ และ Expara ประเทศไทย ภายใต้โครงการการรับมือและฟื้นฟูธุรกิจอย่างเร่งด่วน โครงการสนับสนุนผู้ประกอบการระดับโลกภายใต้การดำเนินการของ Youth Business International ด้วยการสนับสนุนจาก Google.org



เวลาในการอ่าน 5 นาที









จากการอบรม Secrets of VC Valuation Revealed ที่จัดขึ้นในเดือนมกราคม 2564 ทางผู้เข้าร่วมอบรมที่ร่วมตอบแบบประเมินความพึงพอใจ หลายๆ ท่านให้ความเห็นต่อการจัดอบรมในหัวข้อดังกล่าว โดยส่วนใหญ่ขอให้ขยายเวลาในการอบรมและปรับรูปแบบเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการที่มุ่งเน้นขั้นตอนการประเมินมูลค่าสตาร์ทอัพตั้งแต่ต้นจนจบ จากข้อเสนอแนะดังกล่าวตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยห้องเรียนผู้ประกอบการ และ Expara ประเทศไทย ภายใต้โครงการการรับมือและฟื้นฟูธุรกิจอย่างเร่งด่วน จึงได้จัดหลักสูตรอบรม Startup Valuation Workshop ซีรีย์ออนไลน์ 4 ครั้ง โดย คุณ Douglas Abrams Founder & CEO of Expara ผู้เชี่ยวชาญด้านการระดมทุนสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นและอาจารย์พิเศษวิชา Venture Creation มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เป็นผู้ออกแบบหลักสูตรและเป็นวิทยากรแบ่งปันความรู้และให้คำแนะนำตลอดการอบรมที่จัดขึ้น เมื่อวันที่ 19, 21, 27 และ 29 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรมร่วมถามคำถามและสนทนาสดกับวิทยากรแล้ว การอบรมในครั้งนี้ยังมีระบบออนไลน์ Inside Venture Capital – Startup Valuation ที่วิทยากรพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการอบรม ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อต่างๆ ส่งแบบฝึกหัด พร้อมดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย



ในส่วนเนื้อหาการอบรมในหลักสูตร Startup Valuation Workshop ถือเป็นการขยายความการประมาณการทางการเงินและวิธีการประเมินมูลค่าสตาร์ทอัพทั้งสามวิธี จากการบรรยาย Secrets of VC Valuation Revealed โดยวิทยากรได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมขั้นตอนการประเมินมูลค่าสตาร์ทอัพ เริ่มต้นตั้งแต่หลักการประเมินมูลค่าธุรกิจที่ครอบคลุม การประมาณการรายได้ การประมาณการรายจ่าย และการประเมินมูลค่าธุรกิจทั้งสามวิธี โดยเน้นการบรรยายพร้อมแสดงตัวอย่างจากแบบจำลองทางการเงินของ Expara ที่ใช้ในการวิเคราะห์การร่วมทุน และให้แบบฝึกหัดประกอบการอบรมในครั้งที่ 1-3 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมทำความเข้าใจขั้นตอนการประเมินมูลค่าธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ทางวิทยากรยังได้อธิบายเหตุผลประกอบขั้นตอนการประเมินมูลค่าต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพในเชิงปฏิบัติ แนวคิดของนักลงทุนที่มีต่อการวิเคราะห์การร่วมทุนในสตาร์ทอัพตลอดจนเทคนิคในการเจรจามูลค่าประเมินทางธุรกิจกับนักลงทุน VC



 





ที่มา Startup Valuation Workshop หลักสูตรอบรมออนไลน์ 4 ครั้ง ในวันที่ 19, 21, 27 และ 29 เมษายน 2564



จากภาพรวมเนื้อหาการอบรมทั้งสี่ครั้งนี้ หากผู้ประกอบการเป็นมือใหม่ที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านการเงินหรือการบัญชี อาจมองว่ากระบวนการทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องยากและถอดใจไปเสียก่อน ซึ่งในประเด็นนี้วิทยากรได้ฝากข้อคิดสำคัญไว้ในระหว่างการบรรยาย Module 1 ในหัวข้อ Why start-ups need to own their financial model ดังนี้



ความสำเร็จของสตาร์ทอัพขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ Product Market Fit + กลยุทธ์การเงิน



หัวใจสำคัญเบื้องหลังสตาร์ทอัพที่สามารถสร้างธุรกิจได้ประสบความสำเร็จนั้น มักจะมีกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ (Product Market Fit) ควบคู่ไปกับกลยุทธ์ด้านการเงินและการระดมทุน (Funding Strategy) ซึ่งผู้ประกอบการระยะเริ่มต้นมือใหม่หลายท่าน มักเริ่มต้นธุรกิจจากความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ จึงทำให้พวกเขามักให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ด้าน Product Market Fit และมองข้ามความสำคัญของกลยุทธ์การเงินและการระดมทุนไป จึงไม่แปลกใจที่การขาดเงินทุนจึงกลายเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพจำนวนมากไม่สามารถไปต่อได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง โดยกลยุทธ์การเงินและการระดมทุนเป็นแผนงานที่สตาร์ทอัพสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง ซึ่งหากได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว สตาร์ทอัพย่อมสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ธุรกิจล้มเหลวเนื่องจากขาดเงินทุน ซึ่งแตกต่างจากกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจด้านอื่นๆ ที่ความสำเร็จหรือความล้มเหลวอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่นๆ ที่อยู่เหนือการควบคุมของผู้ประกอบการ



กลยุทธ์ด้านการเงิน ใครก็ทำแทนไม่ได้



บ่อยครั้งที่วิทยากรถามผู้ประกอบการว่ากลยุทธ์การระดมทุนคืออะไร และมักได้รับคำตอบว่า “เรื่องการเงินเรา outsource ให้บริษัทบัญชี” หรือ “เราว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินช่วยดูแล” ซึ่งคำตอบทั้งสองข้อนี้สะท้อนความคาดหวังที่มีต่อหน้าที่ และขอบเขตความรับผิดชอบของบริษัทบัญชีหรือที่ปรึกษาทางการเงินที่คลาดเคลื่อนจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงไปค่อนข้างมาก ความจริงแล้วบริษัทบัญชีมีหน้าที่รวบรวมรายการทางการเงิน ลงรายการทางบัญชีและจัดเตรียมงบการเงินให้เท่านั้น ซึ่งขอบเขตงานของบริษัทบัญชีนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการวางแผนการเงินหรือการวางกลยุทธ์การระดมทุนของบริษัทแต่อย่างไร เช่นเดียวกับที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานใดงานหนึ่ง เช่นการสร้างแบบจำลองทางการเงิน แต่สุดท้ายแล้วความเข้าใจกลยุทธ์ทางธุรกิจซึ่งเป็นเหตุผลหลักในการสนับสนุนการวางสมมุติฐานต่างๆ ของแบบจำลองทางการเงิน การพบปะหารือและเจรจากับนักลงทุนในกระบวนการระดมทุนนั้น ถือเป็นหน้าที่สำคัญภายใต้ความรับผิดชอบของ CEO และ CFO ทั้งสิ้น วิทยากรจึงได้ทิ้งท้ายไว้ว่าหากท่านผู้ประกอบการไม่สามารถ outsource product market fit ได้ เรื่องการเงินและการประเมินมูลค่าทางธุรกิจ ก็ไม่สามารถ outsource ได้เช่นกัน



การสร้างแบบจำลองทางการเงิน ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ ขอแค่ใช้เวลาศึกษาจริงจัง



ก่อนที่จะเข้าสู่โลกการระดมทุนระยะเริ่มต้นในภูมิภาคเอเชียนั้น วิทยาการทำงานในสายงานเทคโนโลยีและไม่ได้มีพื้นฐานการเงินเช่นกัน ในช่วงแรกที่ต้องศึกษาการประมาณการงบการเงินและการประเมินมูลค่าธุรกิจก็ต้องใช้พอสมควร แบบจำลองทางการเงินที่พัฒนาขึ้นในการวิเคราะห์การร่วมทุนของ Expara นั้นก็มีการพัฒนาปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง การทำความเข้าใจขั้นตอนการประมาณการงบการเงิน และสร้างแบบจำลองทางการเงินที่สะท้อนศักยภาพของธุรกิจที่มีความเป็นไปได้นั้น ผู้ประกอบการต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 200 ชั่วโมง และไม่มีทางลัดหรือตัวช่วยใดๆ เมื่อผู้ประกอบการเข้าใจการประมาณการงบการเงินและการสร้างแบบจำลองทางการเงินแล้ว จะช่วยให้ผู้ประกอบการเห็นภาพความเชื่อมโยงระหว่างแผนธุรกิจ ฐานะทางการเงินของบริษัท เข้าใจที่มาที่ไปของมูลค่าประเมินทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการบริหารการเงินในธุรกิจ ป้องกันการรั่วไหล และที่สำคัญคือการวางกลยุทธ์การระดมทุนอีกด้วย



ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่เนื้อหาจากหลักสูตรการอบรมในครั้งนี้ ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง ทางผู้จัดโครงการจึงเรียบเรียงประเด็นสำคัญระหว่างการบรรยายทั้งสี่ครั้ง จัดทำมาเป็นบทความสรุปใจความสำคัญ ในหัวข้อหลักเพื่อให้ผู้อ่านสามารถเลือกบทความได้ตามความสนใจ หรือใช้ทบทวนประกอบกับการรับชมการบรรยายหลักสูตรอบรม Startup Valuation Workshop ย้อนหลัง โดยบทความในซีรีย์นี้ประกอบด้วย




หลักสูตรอบรม Startup Valuation Workshop นี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ รวมถึงนักลงทุนที่คุ้นเคยกับการลงทุนในตลาดทุนและผู้สนใจทุกท่านในการทำความเข้าใจกระบวนการประเมินมูลค่าธุรกิจระยะเริ่มต้น สำหรับผู้ประกอบการที่คุ้นเคยกับกระบวนการประเมินมูลค่าธุรกิจเป็นอย่างดีแล้ว ท่านอาจจะได้รับข้อคิดดีๆ จากประสบการณ์ของวิทยากรเพื่อนำไปเสริมแบบจำลองทางการเงินที่ใช้ในการประเมินมูลค่าสตาร์ทอัพและหากท่านมีข้อเสนอแนะใดๆ ในเนื้อหาการอบรมของหลักสูตรนี้ ทางสามารถให้คำแนะนำติชมเพื่อนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป





สรุปและเรียบเรียงเนื้อหาโดย : ธนรรภรณ์ เศรษฐ์จินดา (อ.แนน) 


ข้อมูลอ้างอิง

:

เขียนโดย

:

แบ่งปัน :

เเสดงความคิดเห็น

คุณอาจจะสนใจ