HIGHLIGHTS :
เวลาในการอ่าน 9 นาที
บทความชุด การประเมินมูลค่าธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งได้จากสรุปประเด็นสำคัญจากหลักสูตรอบรมออนไลน์ Startup Valuation Workshop ทั้ง 4 ครั้ง ได้สรุปเนื้อหาสำคัญไว้ทั้งหมด 7 ตอนได้แก่
ในกระบวนการการร่วมทุนนั้น เมื่อสตาร์ทอัพผ่านการทำความรู้จักและการประเมินเบื้องต้นแล้ว หากทั้งสองฝ่ายมีความสนใจในการพูดคุยข้อเสนอการร่วมทุน นักลงทุนจะเชิญสตาร์ทอัพเข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารกองทุนเพื่อนำเสนอแผนธุรกิจ ซึ่งในการเข้าประชุมครั้งนี้ นักลงทุนมีความคาดหวังว่าสตาร์ทอัพจะแสดงประมาณการงบการเงินที่แสดงประมาณการรายได้ ตัวชี้วัดทางธุรกิจที่สำคัญในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า รวมถึงรายละเอียดสนับสนุนข้อเสนอร่วมทุนทางธุรกิจต่างๆ เช่น Your Ask หรือจำนวนเงินที่ต้องการระดมทุน มูลค่าประเมินทางธุรกิจ (Valuation) และสัดส่วนหุ้น (Equity to Investor) ที่เสนอขายในรอบการระดมทุนนั้น
ข้อมูลต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ล้วนเป็นผลลัพธ์จากกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างแบบจำลองทางการเงิน (Financial Model) ทั้งสิ้น ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือนักลงทุนก็จะมีทีมนักวิเคราะห์ที่ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนที่จะสร้างแบบจำลองทางการเงินเพื่อประเมินความน่าสนใจในการร่วมทุนในสตาร์ทอัพเช่นกัน ดังนั้นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิธีการสร้างแบบจำลองทางการเงินจะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจความคาดหวัง และเกณฑ์การพิจารณาของนักลงทุนได้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของเนื้อหาการอบรมหลักสูตร Startup Valuation Workshop ในวันที่ 19 เมษายน ที่มุ่งเน้นเรื่องแบบจำลองทางการเงิน และการประมาณการรายได้ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของขั้นตอนการสร้างแบบจำลองทางการเงินและการประเมินมูลค่าธุรกิจ
ในช่วงแรกของการอบรม วิทยากรได้ทบทวนแนวคิดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการประเมินมูลค่าธุรกิจสตาร์ทอัพ อาทิ แนวทางการสร้างผลตอบแทนของนักลงทุน VC เหตุผลสำคัญที่วิธีการประเมินมูลค่าที่คุ้นเคยไม่สามารถใช้ประเมินมูลค่าสตาร์ทอัพ รวมถึงสถิติการ Exit ธุรกิจของสตาร์ทอัพที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากนักลงทุน VC ที่ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ในการใช้ประเมินมูลค่าสตาร์ทอัพตามวิธี VC โดยท่านสามารถทบทวนองค์ประกอบสำคัญของการประเมินมูลค่าธุรกิจระยะเริ่มต้น ได้จากบทความ การประเมินมูลค่าฉบับ VC ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 จากนั้นจึงเข้าสู่เนื้อหาการอบรมที่มีใจความสำคัญดังนี้
แบบจำลองทางการเงินคืออะไร
โดยทั่วไปการอธิบายธุรกิจด้วยคำพูดหรือการเล่าเรื่องเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหลายคนคุ้นเคยและมักจะมีโอกาสนำเสนออยู่บ่อยๆ ผ่านการพูดคุยกับกลุ่มคนต่างๆ เช่นลูกค้าหรือคู่ค้า รวมถึงการนำเสนอแผนธุรกิจ (Pitching) ต่อนักลงทุน เป็นต้น ในทำนองเดียวกัน แบบจำลองทางการเงิน ก็ถือเป็นวิธีการรูปแบบหนึ่งที่ใช้อธิบายธุรกิจโดยจำลองภาพแผนธุรกิจและรูปแบบธุรกิจ ผ่านการกำหนดสมมุติฐานต่างๆ เพื่อให้ได้ตัวเลขที่สะท้อนองค์ประกอบทางธุรกิจในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้า และนำเสนอออกมาในรูปแบบของการประมาณการงบการเงิน (Pro forma Financial Statements) ซึ่งประกอบด้วยงบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด
แบบจำลองทางการเงินสำคัญอย่างไร
แบบจำลองทางการเงินมีความสำคัญต่อกระบวนการร่วมทุนธุรกิจระยะเริ่มต้นเป็นอย่างมาก หากพิจารณาจากลักษณะการร่วมทุนสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น จะพบว่ามูลค่าธุรกิจของสตาร์ทอัพนั้นไม่สามารถอ้างอิงจากองค์ประกอบทางธุรกิจในปัจจุบันได้มากเท่าไหร่นัก มูลค่าธุรกิจของสตาร์ทอัพนั้นขึ้นอยู่กับศักยภาพการสร้างการเติบโตและผลประกอบการใน 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดมูลค่าธุรกิจที่ใช้ในการเจรจาการระดมทุนระยะเริ่มต้น ดังนั้นแบบจำลองทางการเงิน จึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้สะท้อนศักยภาพธุรกิจที่เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ การวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ รวมถึงกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลสนับสนุนการตั้งสมมุติฐานของผู้ประกอบการ นอกจากเหตุผลที่กล่าวมาแล้วนี้ ผลลัพธ์จากแบบจำลองทางการเงินที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ มูลค่าประเมินทางธุรกิจ (Valuation) จึงทำให้แบบจำลองทางการเงินเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่นักลงทุนใช้ในการวิเคราะห์และพิจารณาการร่วมทุน
เป้าหมายของแบบจำลองทางการเงิน
จากการอบรมที่เกี่ยวข้องกับการประเมินมูลค่าทางธุรกิจระยะเริ่มต้นที่ผ่านมา มักพบประเด็นคำถามของผู้เข้าร่วมอบรมที่สะท้อนถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับแบบจำลองทางการเงิน เช่น นักลงทุนจะเชื่อถือข้อมูล หรือความถูกต้องของแบบจำลองทางการเงินได้มากน้อยขนาดไหน ผู้ประกอบการและนักลงทุนหลายท่านมักมองว่าการสร้างแบบจำลองทางการเงินนั้นขึ้นอยู่กับการตั้งสมมุติฐานมากมาย แหล่งข้อมูลที่ใช้ประกอบการตั้งสมมุติฐานก็ไม่ได้รับการเปิดเผยในวงกว้าง ทำให้มีผู้ประกอบการและนักลงทุนบางท่านมองว่าตัวเลขที่ได้มานั้นไม่ต่างอะไรกับการนั่งเทียน โดยในประเด็นนี้วิทยากรได้ขยายความเพิ่มเติมว่า การสร้างแบบจำลองทางการเงินไม่ใช่การทำนายเหตุการณ์ในอนาคต ที่จะสามารถตัดสินว่าตัวเลขประมาณการจากแบบจำลองทางการเงินนั้น ถูกหรือผิด และในความเป็นจริงการประมาณการมูลค่าในอนาคตให้ถูกต้อง 100% เป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถทำได้ ไม่ว่าการประมาณการนั้นจะเป็นการประมาณการสำหรับสตาร์ทอัพหรือบริษัทจดทะเบียนก็ตาม แน่นอนว่าหลายท่านมักจะสงสัยแล้วว่าจะทำแบบจำลองทางการเงินไปทำไม รวมถึงเกณฑ์การพิจารณาที่นักลงทุนใช้ในการวิเคราะห์แบบจำลองทางการเงิน
เพื่อขยายความข้อสงสัยดังกล่าววิทยากรอธิบายเพิ่มเติมว่า เป้าหมายของการสร้างแบบจำลองทางการเงินคือ การจำลองสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้จากแผนธุรกิจของสตาร์ทอัพโดยใช้ตัวเลขการประมาณการต่างๆ ในการอธิบาย ผลลัพธ์ที่ได้จากแบบจำลองทางการเงินที่ได้มาตรฐานการวิเคราะห์การร่วมทุนธุรกิจระยะเริ่มต้น ผนวกกับการตั้งสมมุติฐานที่สมเหตุสมผลและสอดคล้องกับความเป็นจริง จะเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการพิสูจน์ให้นักลงทุนเห็นว่าแผนธุรกิจของสตาร์ทอัพนั้นมีความเป็นไปได้ กล่าวคือหากสมมุติฐานข้อใดข้อหนึ่งเป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้ ธุรกิจของสตาร์ทอัพนั้นมีศักยภาพที่จะสามารถขยายตัวและสร้างการเติบโตที่อ้างอิงตามแบบจำลองทางการเงิน ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะเติบโตน้อยกว่าหรือมากกว่านั้น ดังนั้นเป้าหมายของแบบจำลองทางการเงิน จึงไม่ใช่การหาคำตอบที่ถูกหรือผิด แต่เป็นเพียงเครื่องมือการวิเคราะห์แบบหนึ่งที่ใช้ประเมินความเป็นไปได้ในการร่วมทุน นอกจากนี้ในกระบวนการพิจารณาการร่วมทุนนั้น ทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างต้องมีแบบจำลองทางการเงินที่ใช้ประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องสร้างแบบจำลองทางการเงินเพื่อเข้าใจภาพรวมธุรกิจและประเมินความต้องการในการใช้เงินทุน ในส่วนนักลงทุนก็จำเป็นต้องมีแบบจำลองทางการเงินเพื่อวิเคราะห์ความน่าสนใจและความเป็นไปได้ในการร่วมทุนนั้นๆ เพื่อใช้ประกอบกับการพิจารณาตามหลักเกณฑ์อื่นๆ ของกองทุน
เมื่อเข้าใจวัตถุประสงค์ของการสร้างแบบจำลองทางการเงินตามที่กล่าวมานี้แล้ว จึงเข้าสู่ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการสร้างแบบจำลองทางการเงิน ซึ่งนั่นก็คือการประมาณการรายได้ (Revenue Projection) ขั้นตอนนี้ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการประมาณการงบการเงินทั้งสามประเภทได้แก่ งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด เนื่องจากวิธีการประมาณการค่าในงบการเงินแต่ละประเภทนั้นต่างก็เชื่อมโยงกลับมาที่ประมาณการรายได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ประมาณการรายได้เป็นตัวเลขที่ใช้ในวิธีการประเมินมูลค่าธุรกิจทั้งสามวิธี อาทิการเปรียบเทียบขนาดธุรกิจตามแนวทางการประเมินมูลค่าด้วยวิธี Comparable ค่าตั้งต้นการคำนวณกำไรสุทธิที่นำมาใช้ในการคำนวณ Free Cash Flow ในวิธีการประเมินมูลค่าด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสด และใช้ประมาณการ Exit Value ด้วยวิธี VC
ดังนั้นการประมาณการรายได้นี้ จึงเป็นขั้นตอนที่ผู้ประกอบการควรใส่ใจในรายละเอียดทั้งการศึกษาข้อมูลสนับสนุนการตั้งสมมุติฐานต่างๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการประมาณการนั้นสมเหตุสมผล และมีความเป็นไปได้ (Realistic) โดยวิทยากรแนะนำวิธีประมาณการรายได้สองวิธี ได้แก่ วิธี Top Down และ วิธี Bottom up ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
วิธี Top Down
คือแนวคิดการประเมินรายได้จากความต้องการของผลิตภัณฑ์ (Demand) โดยเริ่มต้นจากค่าประมาณขนาดของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด (Total Addressable Market) หรือขนาดตลาดภาพใหญ่ที่สุดของผลิดภัณฑ์นั้น จากนั้นจึงประมาณขนาดตลาดเป้าหมายโดยประมาณสัดส่วนจากขนาดตลาดทั้งหมด ซึ่งมูลค่าที่ได้ถือเป็น Target Market เมื่อได้ Target Market แล้วจึงทำการกำหนด Target Segment หรือกลุ่มผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่สตาร์ทอัพต้องการเริ่มต้นธุรกิจ เมื่อกำหนดสัดส่วนตลาดที่สามารถช่วงชิงมาได้ จึงจะได้ค่าประมาณการส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) ที่จะใช้เป็นตัวเลขประมาณการรายได้ในปีแรก
ตัวอย่างการตั้งสมมุติฐานการประมาณการรายได้ธุรกิจ Plant-Based* โดยใช้วิธี Top Down เริ่มต้นจาก Total Addressable Market ซึ่งสามารถอ้างอิงได้จากขนาดตลาด Plant Based Meat ระดับโลก จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ขนาดตลาดระดับโลกมีมูลค่าประมาณ 7.4 หมื่นล้านเหรียญตอลลาร์สหรัฐ จากนั้นการกำหนด Target Segment ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ทางธุรกิจของสตาร์ทอัพ โดยในตัวอย่างนี้สตาร์ทอัพต้องการเจาะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสามารถประมาณการสัดส่วนมูลค่าตลาดเอเชียโดยประมาณที่ 1.7 ล้านเหรียญตอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.29 จากนั้นจึงกำหนด Target Segment สมมุติให้สตาร์ทอัพต้องการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อหมู (Plant Based Pork) ซึ่งไม่มีข้อมูลสัดส่วนตลาดของผลิตภัณฑ์ Plant Based Pork โดยตรง จากการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าปัจจุบันยอดขาย Plant-Based Beef มีสัดส่วนสูงที่สุด ตามมาด้วย Plant Based Pork และ Plant Based Chicken นอกจากนี้ปริมาณการบริโภคเนื้อหมูในภูมิภาคเอเชียสูงกว่าประเทศแถบยุโรปและอเมริกา จึงตั้งสมมุติฐานให้สัดส่วนของ Plant Based Pork คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของอุตสาหกรรม Plant Based ทั้งหมด จึงได้สัดส่วนประมาณการ Target Segment คิดเป็น 459 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขั้นตอนสุดท้ายสตาร์ทอัพจึงกำหนดสัดส่วนตลาดเพื่อกำหนด Market Share ที่คาดว่าจะสามารถแย่งชิงยอดขายได้ จากคู่แข่งที่ดำเนินการมาก่อนเช่น Omni Foods ที่มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อหมู โดยในปีแรกคาดว่าสามารถชิงสัดส่วนตลาดได้ในอัตราร้อยละ 0.0002 ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ 3.02 ล้านบาท (459 x 0.0002 x 33) ตัวเลขดังกล่าวจึงเป็นประมาณการรายได้ในปีแรก สำหรับการประมาณการในปีถัดไป จะต้องกำหนดอัตราการขยายตัวของขนาดตลาด กลุ่มตลาดเป้าหมาย และส่วนแบ่งตลาด เพื่อให้ได้ประมาณการรายได้รายปีตามระยะการประมาณการต่อไป
วิธี Bottom Up
วิธี Bottom Up คือการประมาณการรายได้จากฝั่งผู้ผลิต (Supply Side) โดยประมาณการรายได้จากกลยุทธ์การจำหน่ายผลิตภัณฑ์อิงตามรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ของสตาร์ทอัพ โดยการประมาณการรายได้ด้วยวิธี Bottom up จะเริ่มต้นจากการจัดประเภทรายได้ (Revenue Stream) ตามลักษณะหรือแผนการดำเนินธุรกิจ ตามภาพประกอบตัวอย่างการประมาณการรายได้ด้วยวิธี Bottom up เมื่อแบ่งกลุ่ม Revenue Stream เรียบร้อย ในขั้นตอนการประมาณตาม Revenue Stream เริ่มต้นจากการกำหนด ราคาต่อหน่วย (Price/ Unit) และ จำนวนผลิตภัณฑ์ (Number of Units) เพื่อประมาณการตัวเลขเริ่มด้น จากนั้นจึงใช้อัตราการขยายตัวของราคาต่อหน่วย และจำนวนผลิตภัณฑ์ เพื่อประมาณค่าในเดือนต่อไป โดยมีรายละเอียดตามภาพตัวอย่างตารางที่ใช้ในการประมาณการแบบ Bottom-up
ประมาณการแบบ Bottom up รายเดือน 12-24 เดือน
จากภาพประกอบวิธีการประมาณการทั้งสองวิธี จะสังเกตได้ว่าการประมาณการแบบ Bottom up นั้นจะต้องประมาณการ เป็นรายเดือนในช่วง 2 ปี แรก หรือ 12-24 เดือน หลังจากนั้นจึงประมาณการรายปี ในปี 3-5 ตามระยะเวลาการประมาณการ สาเหตุที่ผู้ประกอบการควรประมาณการเป็นรายเดือนเนื่องจากเป็นระยะเวลาที่คาดว่าสตาร์ทอัพจะใช้เงินทุนที่ระดมทุนมาในแต่ละรอบภายใน 12-24 เดือน (Use of Fund Expectation)
ตรวจสอบความสอดคล้องของประมาณการจากทั้งสองวิธี (Reality Check)
หลังจากเสร็จขั้นตอนการประมาณการทั้งสองวิธีแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการตรวจสอบความสอดคล้องและความเป็นไปได้ของการประมาณการจากทั้งสองวิธี (Reality Check) โดยในขั้นตอนนี้ผู้ประกอบการควรทบทวนผลลัพธ์ที่ได้จากการประมาณการและเปรียบเทียบกับข้อมูลอ้างอิงเพื่อประเมินความเป็นไปได้ของสมมุติฐานนั้น โดยในขั้นตอนนี้ผู้ประกอบการควรศึกษาข้อมูลประกอบเช่น ผลประกอบการในอตีตของสตาร์ทอัพที่อยู่ในระยะการเริ่มต้นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเดียวกัน หรือข้อมูลจากงานศึกษาวิจัยต่างๆ เพื่อนำมาเทียบเคียงกับสมมุติฐานที่ใช้กำหนดอัตราการขยายตัวของยอดขาย และค่าใช้จ่าย เป็นต้น ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญและมักจะเป็นขั้นตอนที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองข้ามไป จึงเป็นสาเหตุให้เกิดแบบจำลองทางการเงินที่มีสมมุติฐานไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ปรับสมมุติฐานจนกว่าประมาณการจากทั้งสองวิธีจะมีค่าเท่ากัน (Anchoring & Iteration)
นอกจากการทบทวนความสมเหตุสมผลของสมมุติฐานแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการปรับประมาณการรายได้จากทั้งสองวิธีให้เท่ากัน โดยมากผลลัพธ์ที่ได้จากการประมาณการรายได้ด้วยวิธี Top Down และ วิธี Bottom up ในครั้งแรกจะแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างระหว่างการประมาณการทั้งสองวิธีนี้เป็นเรื่องปกติของการสร้างแบบจำลองทางการเงิน ที่ต้องการให้ผู้ประกอบการเปรียบเทียบและตรวจสอบความเป็นไปได้ของสมมุติฐานแต่ละข้อในวิธีการประมาณการรายได้ทั้งสองวิธี ในขั้นนี้วิทยากรแนะนำเลือกวิธีการประมาณการรายได้วิธีหนึ่งที่ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในสมมุติฐานและผลลัพธ์การประมาณการ โดยมากผู้ประกอบการมักจะมั่นใจในตัวเลขการประมาณการจากวิธี Bottom-up มากกว่า จากนั้นจึงใช้รายละเอียดการประมาณการจากวิธีดังกล่าวเป็นหลัก (Anchoring) เพื่อทบทวนและปรับสมมุติฐานในอีกวิธีหนึ่ง ในขั้นตอนนี้ วิทยากรเรียกว่าเป็นการ Iteration ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องใช้เวลาทบทวนสมมุติฐานแต่ละข้อในรายละเอียดและปรับตัวเลขต่างๆ หลายครั้งจนกว่าประมาณการรายได้จากทั้งสองวิธีจะเท่ากัน
จากตัวอย่างการประมาณการรายได้ในการอบรมครั้งที่ 1 ของหลักสูตรการประเมินมูลค่าสตาร์ทอัพนี้ วิทยากรได้แสดงให้เห็นว่าการสร้างแบบจำลองทางการเงินนั้น นอกจากจะต้องถ่ายทอดแผนธุรกิจออกมาเป็นสมมุติฐานแต่ละข้อแล้วนั้น ยังต้องรวบรวมข้อมูลประกอบการตั้งสมมุติฐานต่างๆ ในส่วนการประมาณการรายได้ก็ต้องประมาณการจากทั้งวิธี Top Down และวิธี Bottom up และตรวจสอบว่าประมาณการรายได้จากทั้งสองวิธีสมเหตุสมผลและสอดคล้องกันหรือไม่ โดยใช้ Reality Check และ Iteration เพื่อปรับประมาณการจากทั้งสองวิธีให้เท่ากัน ขั้นตอนต่างๆ ที่วิทยากรได้นำเสนอมานี้ คือกระบวนการที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสร้างแบบจำลองทางการเงินที่มีคุณภาพสะท้อนแผนธุรกิจบนพื้นฐานของความเป็นไปได้ของสมมุติฐานประกอบต่างๆ ที่ผู้ประกอบการสามารถอธิบายและให้เหตุผลสนับสนุนได้ทุกๆ ข้อ เมื่อนักลงทุนเกิดข้อสงสัยหรือตั้งประเด็นโต้แย้งในสมมุติฐานข้อใดข้อหนึ่ง เมื่อประมาณการรายได้เสร็จเรียบร้อย ในขั้นตอนต่อไปคือการประมาณการค่าใช้จ่าย ที่จะนำเสนอรายละเอียดในบทความตอนที่ 3 ข้อควรพิจารณาในการประมาณการรายได้ และการประมาณการค่าใช้จ่าย โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดโดยการรรับชมหลักสูตรอบรม Startup Valuation Workshop Module 1 -4 ย้อนหลังผ่านทางห้องเรียนผู้ประกอบการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือลงทะเบียนเรียน e-Learning หลักสูตร Startup Valuation โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (ฟรี)
สรุปและเรียบเรียงเนื้อหาโดย : ธนรรภรณ์ เศรษฐ์จินดา (อ.แนน)
*หมายเหตุ เนื้อหาการประมาณการรายได้จาก Plant based meat ผู้เขียนได้สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพแนวทางการสืบค้นข้อมูลประกอบ เนื้อหาส่วนนี้แตกต่างจากตัวเลขที่วิทยากรยกตัวอย่างประกอบระหว่างการบรรยาย หากมีข้อผิดพลาดประการใดผู้เขียนกราบขออภัยมา ณ ที่นี้